ทริสฯ จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ชุดใหม่ 1.3 หมื่นลบ.BTS ที่ A แนวโน้ม Negative

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday May 28, 2021 10:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ที่ระดับ "A" พร้อมแนวโน้มอันดับเครดิต "Negative" หรือ "ลบ" ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 1.3 หมื่นล้านบาทของบริษัทที่ระดับ "A" ด้วยเช่นกัน โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ใหม่ไปใช้ชำระคืนหนี้

ขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต "Negative" หรือ "ลบ" สะท้อนถึงความเป็นไปได้ที่ภาระหนี้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นอย่างมากจากโอกาสในการลงทุนในสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าใหม่ซึ่งดำเนินงานโดยบริษัทย่อยหลัก คือ บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC)

อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงความแข็งแกร่งทางธุรกิจของบริษัทซึ่งเป็นผลมาจากการมีรายได้ค่าบริการที่สม่ำเสมอจากการให้บริการเดินรถไฟฟ้าตลอดจนกระแสเงินสดรับจำนวนมากจากการลงทุนในสัดส่วน 33.33% ในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางรางบีทีเอสโกรท (BTSGIF) และการมีสถานะที่มั่นคงในธุรกิจสื่อโฆษณา อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดบางส่วนจากโอกาสที่ภาระหนี้ของบริษัทจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากเพื่อใช้ลงทุนในหลายโครงการ

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

  • รายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นและคาดการณ์ได้จากการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้และกระแสเงินสดจากการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M Contract)รถไฟฟ้าของบริษัทจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างมากจากการเปิดให้บริการ "รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว" ทั้ง 2 เส้นทาง ทั้งนี้ บริษัทให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าผ่านบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หลังจากที่เริ่มให้บริการ "รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวใต้" ในช่วงปลายปี 2561 บริษัทได้เปิดให้บริการ "ส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือ" ตลอดเส้นทางในช่วงปลายปี 2563

ดังนั้น รายได้จากการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าจึงเพิ่มขึ้นเป็น 3.8 พันล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปีบัญชี 2564 (1 เมษายน ? 31 ธันวาคม 2563) เมื่อเทียบกับประมาณ 2.6 พันล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีบัญชีที่ผ่านมา โดยรายได้จากการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้ายังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องและสามารถคาดการณ์ได้ในระดับสูงเนื่องจากมีการกำหนดอัตราค่าบริการแบบตายตัวไว้แล้ว ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.8 พันล้านบาทในปีบัญชี 2566

ปัจจุบันสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาและเห็นชอบจากรัฐบาล โดยตามงบการเงิน ณ เดือนธันวาคม 2563 นั้น บริษัทยังไม่ได้รับค่าจ้างในการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าประมาณ 9 พันล้านบาทและค่างานจัดหาและติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกลสำหรับโครงการรถไฟฟ้าอีกจำนวนประมาณ 1.88 หมื่นล้านบาท การชำระค่าจ้างและค่างานดังกล่าวขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของภาครัฐว่าจะให้สัญญาสัมปทานใหม่แก่บริษัทเพื่อแลกกับภาระหนี้ดังกล่าวหรือจะยังคงดำเนินไปตามสัญญาให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงฉบับปัจจุบันและจ่ายคืนภาระหนี้ดังกล่าวให้แก่บริษัทเช่นเดิม

  • รถไฟฟ้ารางเดี่ยว 2 โครงการจะเริ่มเปิดให้บริการในปี 2565 บริษัทมีสัดส่วนในการถือหุ้นส่วนใหญ่ในบริษัทร่วมทุน 2 แห่งกับผู้ร่วมทุน 2 รายในการลงทุนและให้บริการโครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว 2 โครงการภายใต้สัญญาสัมปทานรูปแบบเอกชนได้รับสิทธิ์ในการจัดเก็บรายได้ (PPP-Net Cost) ที่ลงนามในปี 2560 ซึ่งได้แก่ "โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู" และ "โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง" ทั้งนี้ ภายใต้สัญญาสัมปทานนั้น บริษัทร่วมทุนจะลงทุนในส่วนของงานจัดหาและติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกลสำหรับรถไฟฟ้ารางเดี่ยวเพื่อแลกกับรายได้จากผู้โดยสารรวมถึงรายได้จากสื่อโฆษณาและการพาณิชย์ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ โดยโครงการทั้งสองยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างและคาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการได้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีบัญชี 2565

โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มเปิดให้บริการบางส่วนได้ในเดือนมกราคม 2565 สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและในเดือนมีนาคม 2565 สำหรับรถไฟฟ้าสายสีชมพู ในการนี้ ทริสเรทติ้งประมาณการว่ารถไฟฟ้ารางเดี่ยวแต่ละสายจะมีรายได้ประมาณ 1.3-1.4 พันล้านบาทในช่วงปีบัญชี 2566

  • โรคโควิด 19 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อกระแสเงินสดของกองทุนรวม BTSGIF กระแสเงินสดจากกองทุนรวม BTSGIF ลดลงอย่างมากเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) โดยปกติแล้วบริษัทจะได้รับกระแสเงินสดจากกองทุนรวม BTSGIF ในรูปแบบของรายได้จากเงินปันผลและเงินคืนทุน ทั้งนี้ ในการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินในกรณีพื้นฐาน ทริสเรทติ้งจะรวมเฉพาะส่วนของรายได้จากเงินปันผลให้เป็นกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเท่านั้น

โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีบัญชี 2564 จำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าลดลงอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 หลังจากนั้นจำนวนผู้โดยสารก็เริ่มฟื้นตัวขึ้นหลังจากที่ภาครัฐสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ก่อนที่จะมีการระบาดใหม่ในระยะที่ 2 และ 3 ในช่วงปลายปี 2563 และตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 ระดับความรุนแรงของการระบาดครั้งล่าสุดทำให้ทริสเรทติ้งคาดว่าการแพร่ระบาดจะส่งผลทำให้จำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าลดลงอย่างมากอีกครั้งในช่วงครึ่งแรกของปีบัญชี 2565 (1 เมษายนถึง 30 กันยายน 2564) โดยทริสเรทติ้งคาดว่าจำนวนผู้โดยสารจะค่อย ๆ ฟื้นตัวกลับมาในช่วงครึ่งหลังของปีบัญชี 2565 โดยอยู่ภายใต้สมมติฐานที่ภาครัฐจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดและสามารถฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่ได้

ในช่วง 9 เดือนแรกของปีบัญชี 2564 บริษัทได้รับเฉพาะเงินคืนทุนจำนวน 509 ล้านบาทจากกองทุนรวม BTSGIF เท่านั้นหลังจากที่กองทุนได้ประกาศว่ากองทุนจะจ่ายเฉพาะในส่วนของเงินคืนทุนและจะงดการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยกองทุน ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่ากระแสเงินสดจากกองทุนรวม BTSGIF จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเป็น 1 พันล้านบาทในปีบัญชี 2566 ตามการฟื้นตัวของจำนวนผู้โดยสาร

  • จะต้องมีการลงทุนจำนวนมากหากโครงการใหม่ ๆ ได้รับความเห็นชอบ บริษัทจำเป็นจะต้องใช้เงินทุนจำนวนมากเพื่อใช้ลงทุนในหลายโครงการในช่วง 5 ปีข้างหน้าหากโครงการเหล่านี้เป็นรูปเป็นร่าง โดยโครงการสำคัญโครงการแรกที่มีโอกาสในการลงทุนคือสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวซึ่งต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ปัจจุบันบริษัทมีสัญญาให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้ากับกรุงเทพมหานครจำนวน 2 สัญญาเพื่อให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวและส่วนต่อขยาย อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานครมีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าไปเป็นสัญญาสัมปทานใหม่และบริษัทก็มีความตั้งใจที่จะลงทุนในสัญญาสัมปทานใหม่ด้วย ทั้งนี้ บริษัทได้มีการตกลงเงื่อนไขและข้อกำหนดกับกรุงเทพมหานครแล้วและขณะนี้อยู่ในระหว่างรอความเห็นชอบจากรัฐบาล

นอกจากนี้ บริษัทและผู้ร่วมทุนยังได้สัญญาสัมปทาน PPP-Net Cost อายุ 50 ปีสำหรับ "โครงสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา" ในปี 2563 อีกทั้งบริษัทและผู้ร่วมทุนยังอยู่ในระหว่างดำเนินการเพื่อลงนามในสัญญาดำเนินงานและซ่อมบำรุง อายุ 30 ปีสำหรับ "โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน ? นครราชสีมา" (M6) และ "สายบางใหญ่ ? กาญจนบุรี" (M81) อีกด้วย ซึ่งทริสเรทติ้งประมาณการว่าบริษัทจะต้องจัดหาเงินทุนจำนวนประมาณ 6.8 หมื่นล้านบาทสำหรับการลงทุนในโครงการเหล่านี้ในช่วง 5 ปีข้างหน้า

  • โรคโควิด 19 ยังคงกดดันผลการดำเนินงานของธุรกิจสื่อโฆษณาแต่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น ในช่วง 9 เดือนแรกของปีบัญชี 2564 รายได้จากธุรกิจสื่อโฆษณาของบริษัทลดลงอย่างมากถึงประมาณ 62% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาเนื่องจากไม่ได้มีการรวมผลการดำเนินงานของ บมจ. มาสเตอร์ แอด (MACO) เข้ามาด้วยและเนื่องจากอุปสงค์ที่ลดลงของผู้ต้องการโฆษณาซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากธุรกิจสื่อโฆษณาจะฟื้นตัวที่ระดับประมาณ 10% ในปีบัญชี 2565 และ 15% ในปีบัญชี 2566 โดยอยู่ภายใต้สมมติฐานที่อุตสาหกรรมโฆษณาจะค่อย ๆ ฟื้นตัวตามการคาดการณ์ว่าการแพร่ระบาดจะอยู่ภายใต้การควบคุมได้อย่างเต็มที่ภายในช่วงปลายครึ่งแรกของปีบัญชี 2565 และรัฐบาลสามารถฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่ได้ในช่วงครึ่งหลังของปีบัญชี 2565

นอกจากนี้ การเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวก็จะช่วยเพิ่มรายได้ของธุรกิจสื่อโฆษณาในขบวนรถไฟฟ้าให้มากขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้สูงที่บริษัทจะได้รับสิทธิในการบริหารพื้นที่โฆษณาและพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสถานีใหม่ ๆ ของโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอสส่วนต่อขยายสายสีเขียว รถไฟฟ้าสายสีชมพู และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง

บริษัทดำเนินธุรกิจสื่อโฆษณาผ่านบริษัทย่อยคือ บมจ. วี จี ไอ (VGI) ซึ่งมีความได้เปรียบในการแข่งขันสูงเนื่องจากเป็นผู้ให้บริการสื่อโฆษณาในขบวนรถไฟฟ้าบีทีเอสและพื้นที่เชิงพาณิชย์ในบริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสเพียงรายเดียว นอกจากนี้ บริษัทดังกล่าวยังขยายธุรกิจไปสู่สื่อโฆษณานอกบ้านในรูปแบบอื่น ๆ ผ่านการซื้อหุ้นในหลาย ๆ กิจการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสื่อโฆษณาอีกด้วย โดยในปี 2564 บริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 41.16% ในบริษัทมาสเตอร์ แอด รวมทั้งยังถือหุ้น 20.28% ใน บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด และ 18.59% ใน บมจ. แพลน บี มีเดีย (PLANB) การลงทุนดังกล่าวจะช่วยเพิ่มฐานรายได้และยังผสานประโยชน์ทั้งในด้านการจัดจำหน่ายร่วมกันและการรวมฐานข้อมูลของผู้บริโภค อีกทั้งบริษัท วี จี ไอ ยังเสนอบริการโฆษณาสื่อออนไลน์ให้แก่ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคโดยการใช้ข้อมูลที่บริษัทได้รวบรวมไว้เป็นจำนวนมากได้อีกด้วย

  • ภาระหนี้มีโอกาสที่จะเพิ่มสูงขึ้น ภาระหนี้ของบริษัทมีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในกรณีที่มีการเปลี่ยนสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าไปเป็นสัญญาสัมปทานใหม่ของรถไฟฟ้าสายสีเขียวตามที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น เนื่องจากสัญญาสัมปทานใหม่ยังคงรอความเห็นชอบจากรัฐบาล ดังนั้น สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งจึงไม่ได้รวมผลกระทบจากโอกาสในการลงทุนใหม่นี้เข้าไว้ด้วย

ในช่วง 9 เดือนแรกของปีบัญชี 2564 อัตราส่วนเงินกู้สุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทอ่อนตัวลงมาอยู่ที่ 8.2 เท่า (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลังแล้ว) จาก 7.9 เท่าในปีบัญชี 2563 ซึ่งสืบเนื่องมาจากภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นเพื่อใช้ลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นหลัก ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานกรณีพื้นฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้สุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทจะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 5-6 เท่าหากกรุงเทพมหานครชำระค่างานจัดหาและติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกลสำหรับโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวใต้และส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือรวมถึงค่าจ้างในการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มีการลงทุนสัญญาสัมปทานใหม่ของรถไฟฟ้าสายสีเขียว สถานะทางการเงินของบริษัทมีแนวโน้มที่จะอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญหากบริษัทใช้เงินกู้สำหรับการลงทุนใหม่นี้เป็นหลัก

บริษัทมีการกู้ยืมเงินจำนวนมากสำหรับลงทุนในโครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยวสายสีชมพูและสายสีเหลือง อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งไม่ได้รวมภาระหนี้ดังกล่าวให้เป็นหนี้ของบริษัทเนื่องจากค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการลงทุนงานโยธารวมถึงเงินกู้สำหรับงานโยธาจะได้รับชำระคืนทั้งหมดจากภาครัฐ ทั้งนี้ ภายใต้สัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองนั้น ภาครัฐจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดหาที่ดินและงานโยธา นอกจากนี้ เงินกู้ยืมสำหรับงานติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกลยังเป็นเงินกู้โครงการที่มีลักษณะไม่มีสิทธิไล่เบี้ยผู้สนับสนุนโครงการอีกด้วย

  • สถานะสภาพคล่องอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องที่เพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดย ณ เดือนธันวาคม 2563 บริษัทมีเงินสดในมือจำนวน 5 พันล้านบาทและมีเงินลงทุนระยะสั้นจำนวน 2.8 พันล้านบาท บริษัทยังมีวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้จากธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ อีกจำนวน 3.11 หมื่นล้านบาทด้วย ในขณะที่บริษัทมีภาระในการชำระหนี้ระยะยาวในช่วง 12 เดือนข้างหน้าประมาณ 3.6 พันล้านบาทและหนี้ระยะสั้นจำนวน 1.78 หมื่นล้านบาท

ในปีบัญชี 2565 บริษัทจะมีค่าใช้จ่ายลงทุนจำนวนประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเงินลงทุนส่วนใหญ่จะมาจากเงินกู้โครงการ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีบัญชี 2564 บริษัทมีเงินทุนจากการดำเนินงานจำนวน 3.4 พันล้านบาท โดยอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงิน (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) อยู่ที่ระดับ 5.3% และอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ที่ระดับ 3.6 เท่า

ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะยังคงสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดทางการเงินของหุ้นกู้ในระยะ 12 ถึง 18 เดือนข้างหน้าได้ โดยข้อกำหนดทางการเงินมีเงื่อนไขให้บริษัทจะต้องดำรงอัตราส่วนภาระหนี้ที่มีดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่ระดับต่ำกว่า 2.5 เท่า ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 บริษัทมีอัตราส่วนภาระหนี้ที่มีดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 0.2 เท่า

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

  • ในระหว่างปีบัญชี 2564-2566 ทริสเรทติ้งมีสมมติฐานสำหรับการดำเนินงานของบริษัทดังต่อไปนี้
  • รายได้จากการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.8 พันล้านบาทในปีบัญชี 2566 จากประมาณ 3.8 พันล้านบาทในปีบัญชี 2563
  • บริษัทจะเริ่มรับรู้รายได้จากโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองในปีบัญชี 2566 ที่ประมาณ 1.3-1.4 พันล้านบาทสำหรับแต่ละเส้นทาง
  • รายได้จากธุรกิจสื่อโฆษณาจะลดลง 60% ในปีบัญชี 2564 และจะเพิ่มขึ้นประมาณ 10% ในปีบัญชี 2565 และ 15% ในปีบัญชี 2566
  • บริษัทจะรับรู้รายได้ประมาณ 4.8 หมื่นล้านบาทจากงานติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ตลอดจนการจัดหาขบวนรถไฟฟ้า และรายได้จากการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง
  • อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทจะอยู่ระหว่าง 50%-90%
  • งบลงทุนรวมทั้งหมดของบริษัทจะอยู่ที่ราว ๆ 4.1 หมื่นล้านบาทในช่วงปีประมาณการ

แนวโน้มอันดับเครดิต "Negative" หรือ "ลบ" สะท้อนถึงความเป็นไปได้ที่ภาระหนี้ทางการเงินของบริษัทจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากโอกาสในการลงทุนใหม่ ๆ ซึ่งอาจส่งผลให้สถานะเครดิตของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมากจนอยู่ในระดับที่ไม่สอดคล้องกับอันดับเครดิตในปัจจุบันของบริษัท

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตในช่วง 2-3 ปีข้างหน้านั้นยังไม่น่าจะเกิดขึ้นเนื่องจากทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงมีภาระหนี้อยู่ในระดับสูง อันดับเครดิตอาจปรับลดลงได้หากอัตราส่วนเงินกู้สุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทอยู่ในระดับสูงเกินกว่า 5 เท่าเป็นระยะเวลานานซึ่งอาจเป็นผลมาจากการลงทุนที่ใช้เงินกู้จำนวนมากหรือผลการดำเนินงานที่ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ