นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล. เอเซีย พลัส (ASPS) เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยมีสัญญาณเชิงบวกจากคาดกำไรต่อหุ้น (EPS) ปี 64 จะสามารถเติบโตได้ 34% และมีโอกาสที่จะปรับประมาณการเพิ่มขึ้นอีกหลังจากที่ไตรมาส 1/64 ที่ผ่านมากำไรรวมของบริษัทจดทะเบียนอยู่ที่ 2.62 แสนล้านบาท สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึง 37% โดยได้รับแรงหนุนหลักจากกลุ่มผู้ประกอบการสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) และธนาคาร ที่เข้ามาหนุนการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนของไทย พร้อมกันนี้ในเดือน มิ.ย. ภาครัฐเตรียมกระจายวัคซีนและเร่งฉีดวัคซีนให้มากขึ้น ในขณะเดียวกันคาดว่าจะเริ่มมีวัคซีนทางเลือกเข้ามาเพิ่มขึ้นด้วย โดยคาดว่าจำนวนผู้รับการฉีดวัคซีนจะเพิ่มขึ้นใน 2-3 เดือนอย่างรวดเร็ว ช่วยหนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะกลับมา ในขณะเดียวกันยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นไปที่กำลังซื้อของประชาชนเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นโครงการเราชนะ เรารักกัน หรือคนละครึ่ง เป็นต้น เม็ดเงินหลักที่จะนำมาใช้ในครั้งนี้คือ เงินที่เหลือจาก พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่ทำไปช่วงก่อนหน้านี้ ส่วนของ พ.ร.ก. กู้เงินฉบับใหม่ มูลค่า 5 แสนล้านบาท จะเข้ารองรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปี 65 นอกจากนี้คาดว่าประเทศไทยจะใช้นโยบายผ่อนคลายมาตรการทางเงินต่อเนื่อง และคาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% อย่างน้อยถึงปลายปีนี้ หลังจากที่ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาให้ความเห็นว่า GDP ของประเทศไทยจะกลับมาเท่ากับช่วงปี 62 ได้อย่างเร็วคือปี 66 จากเดิมคาดว่าจะสามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้ในช่วงครึ่งปีหลัง ปี 65 "ทิศทางของดัชนีตลาดหุ้นไทยยังมีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นต่อ โดยคาดว่าจะมีแรงหนุนจากเงินทุนในประเทศเป็นหลัก เนื่องจากปัจจุบันสภาพคล่องส่วนเกินยังมีอยู่ค่อนข้างมาก และปัจจุบันเงินลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในสินทรัพย์ปลอดภัย ด้วยปัจจัยดังกล่าวเชื่อว่าจะหนุนให้มีการย้ายเงินลงทุนไปยังสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้นด้วยความเสี่ยงด้านผลประกอบการที่ลดลงด้วย"นายเทิดศักดิ์ กล่าว ส่วนเงินทุนต่างชาติ ยังคงไม่ไหลเข้ามายังประเทศไทย เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกสามค่อนข้างรุนแรง และกระทบต่อกิจกรรมทางเศรฐกิจในประเทศ ส่งผลให้อาจจะต้องปรับประมาณการ GDP ปีนี้ลงเหลือ 1.5-1.7% จากเดิมที่ได้ปรับลด GDP ไทยลงมาเหลือ 1.7% เมื่อเทียบช่วงปลายปีที่มีประมาณการ GDP ไว้ที่ 2.6% ในขณะที่ภาพรวม GDP โลกได้มีการปรับประมาณการเพิ่มขึ้นเป็น 5.8% จากเดิมที่ 5.6% นอกจากนี้ประเทศต่างๆในสหภาพยุโรป ประเทศอังกฤษ ประเทศสหรัฐ และประเทศในตะวันออกกลาง มีการกระจายตัวของวัคซีนค่อนข้างมาก และตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง "เงินทุนต่างชาติจะเข้ามายังประเทศไทย ค่อนข้างยากเพราะปัจจุบันเรามีผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกสามอยู่ และเศรษฐกิจเราสวนทางกับเศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางการเติบโตเพิ่ม แต่เรากลับต้องปรับประมาณการลง แต่อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยหนุนจากเงินทุนในประเทศที่จะย้ายมาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น หลังทิศทางดอกเบี้ยยังต่ำต่อเนื่อง ความเสี่ยงของผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนลดลงด้วย"นายเทิดศักดิ์ กล่าว