บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) ที่ระดับ "A+" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่"
อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงพื้นฐานทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทซึ่งเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ อาทิ การเป็นผู้นำในธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อในประเทศไทย ลักษณะของธุรกิจค้าปลีกที่สร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน การมีเครือข่ายสาขาที่แข็งแกร่งและครอบคลุมทั่วประเทศ และการมีธุรกิจสนับสนุนที่เข้มแข็ง อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวยังมีข้อจำกัดจากภาระหนี้ของบริษัทที่เพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ส่งผลลดทอนกำลังซื้อของผู้บริโภคภายในประเทศรวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างเชื่องช้า
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
- รายได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากผลกระทบของโรคโควิด-19 ผลการดำเนินงานของบริษัทได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยการปิดเมือง (Lockdown) และการจำกัดการเดินทางในช่วงการระบาดระลอกแรกตลอดจนภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำได้ส่งผลให้ยอดขายและจำนวนลูกค้าของบริษัทลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
รายได้จากการดำเนินงานของบริษัทลดลง 4.3% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าโดยมาอยู่ที่ระดับ 5.5 แสนล้านบาทในปี 2563 และลดลงอีก 8.5% ในไตรมาสแรกของปี 2564 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 โดยมาอยู่ที่ระดับ 1.3 แสนล้านบาท ยอดขายจากสาขาเดิมของร้านสะดวกซื้อ "7-Eleven" หดตัวลงถึง 14.5% ในปี 2563 และ 17.1% ในไตรมาสแรกของปี 2564 ทั้งนี้ รายได้ของร้าน 7-Eleven ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการหายไปของนักท่องเที่ยวต่างชาติและจากการหดตัวของกำลังซื้อของผู้บริโภคภายในประเทศ ในขณะที่ห้าง "แม็คโคร" ในฐานะที่เป็นผู้จำหน่ายสินค้าอาหารนั้นกลับมีผลการดำเนินงานที่ดีกว่าร้านค้าสะดวกซื้อ กล่าวคือ แม้ว่ารายได้จากกลุ่มธุรกิจร้านอาหารจะลดลง แต่ห้างแม็คโครก็ได้รับอานิสงส์จากแนวโน้มความนิยมของประชาชนในการประกอบอาหารเองที่บ้านในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งส่งผลให้ยอดขายจากสาขาเดิมของห้างแม็คโครปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.9% ในปี 2563 และลดลงเพียงเล็กน้อยที่ระดับ 1.2% ในไตรมาสแรกของปี 2564
สำหรับช่วงเวลาที่เหลือของปี 2564 นี้ ทริสเรทติ้ง คาดว่าการดำเนินงานของบริษัทจะยังคงเผชิญกับความท้าทายในหลาย ๆ ด้านต่อไป ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ระลอกใหม่ซึ่งมีระดับความรุนแรงและควบคุมได้ยากกว่าการระบาดในระลอกแรกและระลอกที่สอง ตลอดจนการกระจายวัคซีนภายในประเทศที่ล่าช้ายังคงเป็นปัจจัยเหนี่ยวรั้งการฟื้นตัวในภาคการท่องเที่ยวและการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศต่อไป ทริสเรทติ้งคาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นในช่วงปลายปี 2564 และจะกลับเข้าสู่ภาวะใกล้เคียงภาวะปกติได้ภายในปี 2565 เมื่อมีการกระจายวัคซีนให้แก่ประชาชนอย่างกว้างขวางแล้วโดยที่มาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศมีการผ่อนคลายลงและกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งเชื่อว่ากลยุทธ์ของบริษัทที่มุ่งเน้นการจำหน่ายสินค้าในช่องทางที่หลากหลาย (Omni-channel) ประกอบกับการเสนอสินค้าและบริการใหม่ ๆ ที่เพิ่มขึ้นตลอดจนการผสานประโยชน์จากการซื้อกิจการในช่วงที่ผ่านมาน่าจะช่วยให้บริษัทมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งได้ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า
- อัตรากำไรอ่อนแอลงแต่คาดว่าจะค่อยๆปรับตัวดีขึ้น บริษัทมีกำไรจากการดำเนินงานที่ลดลงจากการลดลงอย่างมากของจำนวนลูกค้าและจากสัดส่วนรายได้ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายลดลง 7.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 4.9 หมื่นล้านบาทในปี 2563 และลดลง 17.7% มาอยู่ที่ระดับ 1.1 หมื่นล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2564 อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทอยู่ที่ระดับ 8.9% ในปี 2563 และระดับ 8.5% ในไตรมาสแรกของปี 2564 ลดลงจากระดับ 9.2%-9.5% ในระหว่างปี 2560-2562 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการใช้กลยุทธ์ด้านราคาและส่งเสริมการขายในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำรวมทั้งจากการลดลงของสัดส่วนรายได้จากร้าน 7-Eleven ซึ่งมีอัตรากำไรที่สูงกว่าห้างแม็คโคร นอกจากนี้ ยอดขายที่ลดลงยังทำให้บริษัทได้รับประโยชน์จากการประหยัดจากขนาด (Economy of Scale) ที่ลดลงอีกด้วย
นอกจากรายได้ของบริษัทจะลดลงแล้ว ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทยังได้รับผลกระทบจากภาระดอกเบี้ยเงินกู้ในการซื้อกิจการที่ผ่านมาอีกด้วยซึ่งส่งผลให้บริษัทมีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยและต้นทุนทางการเงินจำนวน 2.9 พันล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2564 โดยเพิ่มขึ้นประมาณ 1 พันล้านบาทเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่งผลให้กำไรสุทธิของบริษัทอยู่ที่ระดับ 2.6 พันล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2564 ซึ่งลดลง 54% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 9% ในปี 2564 จากกลยุทธ์กระตุ้นยอดขายของบริษัท ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับใกล้เคียงกับระดับก่อนเกิดโรคโควิด 19 ที่ 9.3%-9.5% ในช่วงปี 2565-2566 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าบริษัทจะมีส่วนแบ่งกำไรเพียงเล็กน้อยและบริษัทจะไม่มีเงินปันผลรับจากการซื้อกิจการห้าง "โลตัส" ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ เนื่องจากผลการดำเนินงานของห้างโลตัสที่อ่อนตัวลงจากผลกระทบของโรคโควิด 19 ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนแปลงร้านและการปรับปรุงแบรนด์ที่สูง รวมถึงภาระดอกเบี้ยจากการกู้เงินที่ใช้ในการซื้อกิจการอีกจำนวน 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ผ่านการดำเนินการของบริษัทลูกผู้ซื้อกิจการคือ บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด
- ภาระหนี้เพิ่มขึ้นอย่างมากจากการก่อหนี้เพื่อซื้อกิจการ ภาระหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการก่อหนี้เพื่อซื้อกิจการที่ผ่านมา โดยหนี้สินทางการเงินของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2.8 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 จากระดับ 1.8 แสนล้านบาทในปี 2562 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทก็เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 75% จากระดับ 67.5% ในปี 2562 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 6.2 เท่าในไตรมาสแรกของปี 2564 จากระดับ 3.5 เท่าในปี 2562
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1.8-2.1 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้าเพื่อใช้ในการขยายร้านค้า 7-Eleven จำนวน 700 แห่งและห้างแม็คโครอีกประมาณ 6-8 สาขาต่อปีทั้งในประเทศและต่างประเทศ แม้ว่าจะมีแผนการลงทุนจำนวนมาก แต่ทริสเรทติ้งก็คาดว่าหนี้สินทางการเงินของบริษัทจะค่อย ๆ ปรับตัวลดลง โดยทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 5 เท่าในปี 2566 และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 70% ในช่วงเวลาเดียวกัน
- สภาพคล่องอยู่ในระดับที่เพียงพอ ทริสเรทติ้งประเมินว่าสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทจะมีเพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 แหล่งเงินทุนของบริษัท ประกอบด้วยเงินสดในมือจำนวน 3.7 หมื่นล้านบาทและคาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทในปี 2564 จะอยู่ที่ระดับประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท ทริสเรทติ้งประเมินว่าเงินสดในมือและกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทมีเพียงพอสำหรับใช้ในการชำระหนี้ที่จะครบกำหนดจำนวนประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท รวมถึงใช้เป็นค่าใช้จ่ายตามแผนลงทุนประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท และจ่ายเงินปันผลอีกจำนวน 8 พันล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังมีเงินกู้ระยะสั้นชั่วคราว (Bridge Loan) คงเหลืออีกจำนวน 6.1 หมื่นล้านบาทที่จะครบกำหนดชำระในช่วงกลางปี 2565 อีกด้วย โดยบริษัทมีแผนจะนำเงินที่ได้จากการออกตราสารหนี้ชุดใหม่ในเดือนมิถุนายน 2564 ไปจ่ายชำระคืนหนี้เงินกู้ระยะสั้นชั่วคราวดังกล่าว
ตามข้อกำหนดทางการเงินของตราสารหนี้ที่ระบุให้บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อทุน (ไม่รวมหนี้สินตามสัญญาเช่า) ให้ต่ำกว่ำ 2 เท่านั้น ณ เดือนมีนาคม 2564 บริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 1.6 เท่าซึ่งทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทน่าจะสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดทางการเงินดังกล่าวได้ตลอดช่วงระยะเวลาประมาณการ
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
- รายได้จากการดำเนินงานของบริษัทจะเพิ่มขึ้น 1% ในปี 2564 และจะเติบโตที่ระดับ 7%-8% ต่อปีในช่วงปี 2565-2566
- อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จะอยู่ที่ระดับประมาณ 8.9%-9.5% ในระหว่างปี 2564-2566
- ค่าใช้จ่ายลงทุนจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.8-2.1 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2566
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะความเป็นผู้นำและความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนยังคงมีผลการดำเนินงานทางการเงินที่ดีต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าการมีเงินสดในระดับที่สูงและกระแสเงินสดที่มั่นคงจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งทางการเงินในการลงทุนในอนาคตตามแผนของบริษัทได้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากโครงสร้างเงินทุนและกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงกว่าที่คาด หรือบริษัทมีการก่อหนี้เพื่อขยายการลงทุนจำนวนมากจนส่งผลให้โครงสร้างเงินทุนและความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทคาดว่าจะอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ