นายถนอมศักดิ์ สหรัตน์ชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายวิจัย บล.กรุงไทย ซีมิโก้ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะแกว่ง Sideway up แม้ตลาดหุ้นเอเชียเช้านี้จะเคลื่อนไหวทั้งแดนบวก-ลบ หลังจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือน พ.ค.ของสหรัฐและยุโรปต่างทำนิวไฮ และผลการประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตร (โอเปกพลัส) มีมติเพิ่มกำลังการผลิตอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยราคาน้ำมันยังเป็นขาขึ้นจากอุปสงค์โลกเพิ่มขึ้น น่าจะช่วยหนุนหุ้นในกลุ่มพลังงานในวันนี้
ส่วนบ้านเรา จับตาการฉีดวัคซีนต้านโควิดหลังนายกรัฐมนตรียืนยัน 7 มิ.ย.มีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าแน่นอน น่าจะช่วยหนุนตลาดฯให้เป็นบวกได้ แม้ว่าแนวโน้มตลาดฯมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อ แต่ทางเทคนิคเข้าเขต Overbought แล้ว ขณะที่นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อก็ยังไม่มาก ส่วนกองทุนก็เลือกลงทุนเฉพาะกลุ่ม ดังนั้น ควรเลือกเล่นหุ้นเฉพาะกลุ่มเฉพาะตัว มองหุ้นน่าสนใจเป็นกลุ่มส่งออก, อิเล็กทรอนิกส์ และ สินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity)
พร้อมให้แนวรับ 1,607-1,600 จุด ส่วนแนวต้าน 1,625-1,640 จุด โดยมองว่าตลาดหุ้นไทยยัง Laggard ตลาดอื่นที่ได้ปรับตัวขึ้นกันไปหมดแล้ว
ประเด็นพิจารณาการลงทุน
- ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (1 มิ.ย.) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,575.31 จุด เพิ่มขึ้น 45.86 จุด (+0.13%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,202.04 จุด ลดลง 2.07 จุด (-0.05%), ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,736.48 จุด ลดลง 12.26 จุด (-0.09%)
- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน เพิ่มขึ้น 1.62 จุด, ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ลดลง 83.53 จุด และดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง ลดลง 53.36 จุด
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (1 มิ.ย.) 1,618.59 จุด เพิ่มขึ้น 25.00 จุด (+1.57%)
- นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 1,574.79 ล้านบาท เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.64
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ก.ค.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (1 มิ.ย.) ปิด 67.72 ดอลลาร์/บาร์เรล พุ่งขึ้น 1.40 ดอลลาร์ หรือ 2.1%
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (1 มิ.ย.) อยู่ที่ 1.37 ดอลลาร์/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 31.16 อ่อนค่าจากวานนี้เล็กน้อย ตลาดยังรอปัจจัยใหม่-จับตาทิศทาง Flow
- ครม.ทุ่ม 1.4 แสนล้านบาท ไฟเขียว 4 โครงการลดค่าครองชีพ-ฟื้นฟูเศรษฐกิจจากพิษโควิด ครอบคลุม 51 ล้านคน ดีเดย์ใช้จ่าย 1 ก.ค.นี้ หวังดันเม็ดเงินเข้าระบบ 4.73 แสนล้าน กระทุ้งจีดีพีโตเพิ่มอีก 1% "คนละครึ่งเฟส 3" เปิดลงทะเบียน 14 มิ.ย. ส่วน "ยิ่งใช้ยิ่งได้" 21 มิ.ย.
- ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจล่าสุดที่ประกาศปรับลดประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจปี 2564 ลงมา จากการคาดการณ์เดิมที่ขยายตัว 2.0% มาที่ 1.9% แม้จะลดลงเพียงเล็กน้อย แต่เป็นการปรับลดลงเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 1 เดือน เมื่อย้อนไปวันที่ 7 พ.ค.2564 อีไอซี ปรับลดจีดีพีปีนี้ ครั้งแรกจาก 2.6% เป็น 2.0% ขณะที่สำนักวิจัยแห่งอื่นส่วนใหญ่ยังปรับลดแค่ครั้งเดียว
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินตลาดที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วงครึ่งหลังของปี 64 อาจจะฟื้นตัวในระดับต่ำ หลังจากที่คาดว่าจะหดตัวลึกในช่วงครึ่งปีแรก โดยมีหลายปัจจัยที่ต้องติดตาม และขึ้นอยู่กับความคืบหน้าของสถานการณ์โควิด-19 และวัคซีน โดยหากสามารถควบคุมการระบาดของโควิดได้ในช่วงเดือนก.ค.และการฉีดวัคซีนเป็นไปตามแผน รวมถึงการออกแผนกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า จะสามารถสร้างปัจจัยบวกต่อภาพรวมของเศรษฐกิจและเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในประเทศ
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หารือกับสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย ซึ่งมีผู้ประกอบธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์บางรายที่อยู่นอกการกำกับของ ธปท.แต่เป็นสมาชิกสมาคมฯ ขอความร่วมมือช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากโควิด-19 โดยผู้ประกอบธุรกิจนอนแบงก์รายใหญ่ยินดีช่วยเหลือและมีมาตรการคล้ายกับของ ธปท.รวมทั้งนำแนวทาง ธปท.ไปให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ตัวเองด้วย ส่วนผู้ประกอบธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์รายใดที่อยู่ภายใต้กำกับ ธปท.จะต้องทำตามมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ทุกแห่ง
- สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) มองแนวโน้มการส่งออกของไทยปีนี้มีโอกาสขยายตัวได้ถึง 10-15% ภายใต้เงื่อนไขไทยต้องมีตู้คอนเทเนอร์เปล่าเฉลี่ยประมาณ 2.01-2.25 ล้านตู้ต่อปี หรือเฉลี่ยเดือนละ 1.76-2.07 ตู้ รวมทั้งมีการจัดสรรพื้นที่และค่าระวางอยู่ในอัตราที่เหมาะสม เพื่อให้เพียงพอและรองรับต่อการเติบโตของภาคการส่งออก เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจคู่ค้าของไทย เช่น สหรัฐอเมริกา มีการนำเข้าพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง หลังจากผู้ผลิตในประเทศไม่สามารถผลิตสินค้าให้ทันกับความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น
*หุ้นเด่นวันนี้
- PTTEP (กรุงศรี) "ซื้อ"เป้า 160 บาท ได้ Sentiment บวกจากราคาน้ำมันดิบบวกแรง และคาดกำไรสุทธิใน Q2/64 จะเติบโตแข็งแกร่งที่สุดในกลุ่ม ปตท. เพราะไม่มีปัญหาเรื่อง Stock gain/loss ให้กังวลเหมือนกลุ่มโรงกลั่นและปิโตรฯ
- TU (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อ"เป้า 22 บาท ตั้งบริษัทย่อย Japan Pet Nutrition โดยถือหุ้น 90% ส่วนอีก 10% เป็น Partnet ชาวญี่ปุ่นที่เป็นผู้บริหารบริษัท Pet Food และเป็นหนึ่งในลูกค้า OEM ของ TU มองบวกต่อธุรกรรมนี้เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นตลาดใหญ่อันดับ 3 และ TU มีสัดส่วนรายได้จากญี่ปุ่นราว 5% เป็นตลาดที่มีการเติบโตดีสอดคล้องกับกลยุทธ์ที่ต้องการเน้นขยายตลาด Pet Care และมีแผน Spin-Off ในอนาคต โดยยังคงคาดกำไรปี 2564 +4% Y-Y
- KBANK (เคทีบีเอสที) เป้าเชิงกลยุทธ์ 126 บาท Top Pick จากกลุ่มธนาคารที่ควรมีเมื่อตลาดยืนเหนือระดับ 1600 จุด หนุนด้วย Outlook กำไร Q2/64 ที่มีโอกาสโต YoY จากการลดการตั้งสำรอง ด้านราคาหุ้น Laggard และ Underperform SET ในช่วงที่ผ่านมาด้าน Valuation ปัจจุบันเทรดที่ PBV เพียง 0.64X ค่อนข้างต่ำ จึงมีความน่าสนใจหากตลาดกำลังจะเปลี่ยนเป็นขาขึ้น พร้อมประเมินกำไรปี 64-65 เฉลี่ยที่ 3.44 หมื่นลบ., 3.7 หมื่นลบ. เติบโต +17%YoY และ +7%YoY ตามลำดับ