นายธนะชัย บัณฑิตวรภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ (ACE) เปิดเผยว่า บริษัทยังคงเป้าเพิ่มกำลังผลิตแตะ 1,000 เมกะวัตต์ภายในปี 67 หลังจากได้ยื่นประมูลโรงไฟฟ้าขยะและโรงไฟฟ้าชุมชนมากกว่า 10 โครงการ แต่ยังคงรอการประกาศผลจากภาครัฐที่เลื่อนออกไปเป็นต้นเดือน ก.ค. จากเดิมกำหนดไว้ในวันที่ 21 พ.ค. เนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกสองและสาม
อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบในส่วนงานประมูลหรืองานที่ต้องเจรจาเท่านั้น แต่การเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าและการขายไฟฟ้ายังสามารถดำเนินการได้ตามปกติ เพราะโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่กระจายอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด ไม่ใช่พื้นที่เมืองที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ในวงกว้าง ประกอบกับในโรงไฟฟ้าใช้บุคลากรน้อย เพราะส่วนมากจะควบคุมด้วยเครื่องจักร ระบบ AI และระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งลดความเสี่ยงกระทบจากโควิด-19 ไปได้
สำหรับโครงการประมูลโรงไฟฟ้าขยะ 2 โครงการที่ทางบริษัทได้รับคัดเลือกใน จ.อุดรธานี และ จ.นครราชสีมา มีกำลังการผลิตติดตั้งแห่งละ 9.9 เมกะวัตต์ หากได้รับสัญญา PPA ตามที่คาดไว้คือ 5.78 บาท/หน่วย จะช่วยเพิ่มรายได้จากการขายไฟฟ้าให้กับบริษัทอีกปีละประมาณ 380 ล้านบาท/โครงการ ยังไม่รวมค่าจำกัดขยะจากท้องถิ่นอีกส่วนหนึ่ง โดยยังคงต้องรอสัญญา PPA จากนั้นจึงจะดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้ ซึ่งหากเทียบเคียงกับโรงไฟฟ้าขยะชุมชน จ.กระบี่ จะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 10 เดือน
ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล VSPP คลองขลุง จ.กำแพงเพชร ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 9.9 เมกะวัตต์ ปัจจุบันดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว 65% คาดว่าจะสามารถ COD ได้ภายในปีนี้
ด้านโรงไฟฟ้าชีวมวล จำนวน 3 โครงการ กำลังการผลิตรวม 26.9 เมกะวัตต์ ที่ได้ซื้อมาจาก บมจ.เอื้อวิทยา (UWC) นั้น แม้ในช่วงที่ผ่านมายังมีกำลังผลิตได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากมีการปิดและปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักร แต่จะสามารถดำเนินการผลิตแบบเต็มกำลังได้ในไตรมาส 3/64 นี้
ปัจจุบันบริษัทลดต้นทุนทางด้านเชื้อเพลิง โดยเลือกใช้เตาเผาที่สามารถเผาเชื้อเพลิงได้หลายชนิด (Mix fuel) ในทุกโรงไฟฟ้า ทำให้ไม่ต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงใดเป็นหลัก สามารถเลือกใช้เชื้อเพลิงได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเชื้อเพลิงที่มีความชื้นน้อย เช่น แกลบ ไปจนถึง เชื้อเพลิงที่มีความชื้นสูง เช่น เปลือกไม้ หรือทลายปาล์ม
นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าขยะชุมชน จ.กระบี่ ที่เคยซื้อน้ำประปาเข้ามาใช้ภายในโรงไฟฟ้า ปัจจุบันได้ดำเนินการผลิตน้ำใช้ในโรงไฟฟ้าเอง ซึ่งจะเป็นการช่วยลดต้นทุนอีกช่องทางหนึ่งอีกด้วย