นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือน พ.ค.64 พบว่า ดัชนีฯ ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 126.40 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.6% จากเดือนก่อน ยังคงอยู่ในเกณฑ์ "ร้อนแรง" อย่างต่อเนื่อง นักลงทุนคาดหวังแผนการฉีดวัคซีนเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ Covid-19 เป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และการไหลเข้าของเงินทุน
สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ระบาดของ Covid-19 ระลอกสามในไทย รองลงมาคือความขัดแย้งระหว่างประเทศ และผลการประชุมอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)
ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้
ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ส.ค. 64) อยู่ในเกณฑ์ "ร้อนแรง" (ช่วงค่าดัชนี 120 -159) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.6% จากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 126.40
ความเชื่อมั่นนักลงทุนเกือบทุกกลุ่มอยู่ในเกณฑ์ "ร้อนแรง" ยกเว้นความเชื่อมั่นนักลงทุนสถาบันในประเทศอยู่ในเกณฑ์ "ทรงตัว"
หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด หมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (ETRON)
หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดแฟชั่น (FASHION)
ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ แผนการกระจายวัคซีนเพื่อคลี่คลายสถานการณ์โควิด-19
ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ระลอกสาม
ผลสำรวจ ณ เดือน พ.ค. 64 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่า ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับตัวลดลง 3% อยู่ที่ระดับ 125.37 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 9% อยู่ที่ระดับ 150.00 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น 26% อยู่ที่ระดับ 118.75 และกลุ่มนักลงทุนต่างชาติคงตัวที่ระดับ 120.00
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ในช่วงเดือน พ.ค. 64 SET index ผันผวนอยู่ระหว่าง 1,548.13-1,593.59 โดยตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นในสัปดาห์แรก ตามแรงหนุนของตลาดหุ้นสหรัฐและตลาดหุ้นยุโรป และความคาดหวังที่จะได้จำนวนวัคซีนเพิ่มขึ้นจากการร่วมมือของภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงอย่างหนักในช่วงกลางเดือน เนื่องจากนักลงทุนกังวลอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐที่ปรับตัวเพิ่มสูงเกิดคาด ซึ่งอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ย รวมถึงอาจลดขนาดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เร็วกว่าที่คาดการไว้ ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวสูงขึ้น
อีกทั้งปัจจัยในประเทศซึ่งพบคลัสเตอร์การระบาดใหม่หลายแห่งในกรุงเทพ จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นกว่า 2 พันรายต่อวัน การพบไวรัสสายพันธุ์อินเดียในประเทศไทย และความล่าช้าของการกระจายวัคซีน โดยมีปัจจัยบวกคือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ของรัฐบาลมูลค่ารวม 2.5 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือน พ.ค. SET index ปิดที่ 1,593.59 จุด
นายไพบูลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวโน้มดัชนีตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ยังคงมีทิศทางที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายดัชนีที่ 1,600-1,650 จุด แต่การปรับตัวเพิ่มขึ้นคงไม่มากเหมือนกับในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา เนื่องจากตลาดฯ ยังคงติดตามการฉีดวัคซีนไวรัสโควิด-19 และการเปิดประเทศเพื่อที่จะรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศจะเป็นไปตามแผนที่วางไว้หรือไม่ ซึ่งหากภาพรวมมีความชัดเจนแล้ว จะกลับทบทวนเป้าหมายดัชนีปี 64 อีกครั้ง
ปัจจัยต่างประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ การทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จีน และยุโรป จากการทยอยเปิดประเทศหลังจากประชาชนจำนวนมากได้รับวัคซีนแล้ว ซึ่งจะทำให้ภาคการส่งออกไทยได้อานิสงส์ไปด้วย การประชุมธนาคารกลางในยุโรป สหรัฐ ญี่ปุ่นและอังกฤษ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และการเฝ้าระวังการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศเพื่อนบ้านที่อาจส่งผลกระทบต่อไทย อาทิ มาเลเซีย เวียตนาม
ในส่วนของปัจจัยในประเทศ ได้แก่ การสรรหาและแจกจ่ายวัคซีนในประเทศให้เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ 100 ล้านโดสภายในปีนี้ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่จะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นของประชาชนและจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศ ผลการพิจารณา พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพิ่มเติมวงเงิน 5 แสนล้านบาท และผลการประชุมอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.ในวันที่ 23 มิ.ย. นี้
"ดัชนีจะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้เห็นชัดๆคงเป็นปี 65 หลังจากที่การกระจายตัวของวัคซีนทำได้มาก และเกิดความชัดเจนในการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ส่วนในช่วงครึ่งปีหลังนี้ปรับขึ้นก็คงไม่มาก เพราะก่อนหน้านี้ขึ้นมาด้วยความหวัง แต่ครึ่งปีหลังนี้คือการลงมือทำก็ต้องมาคอยติดตามกันว่าจะเป็นไปตามแผนที่รัฐบาลวางไว้หรือไม่"นายไพบูลย์ กล่าว
นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือนมิ.ย. 64 ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม กนง.รอบเดือน ก.พ. นี้อยู่ที่ระดับ 47 ไม่เปลี่ยนแปลงจากครั้งที่แล้ว และยังอยู่ในเกณฑ์ "ไม่เปลี่ยนแปลง (Unchanged)"
สะท้อนมุมมองของตลาดที่คาดว่าการประชุม กนง. ในเดือน มิ.ย. กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.5 เนื่องจาก เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าลงจากการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 และ ธปท. ได้ทำการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจและ SME ต่างๆ ความจำเป็นในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจึงลดลง
ดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 ปีและ 10 ปี ณ สิ้นไตรมาส 2 ปรับตัวลดลงมาอยู่ในเกณฑ์ "ไม่เปลี่ยนแปลง (Unchanged)" โดยดัชนีปรับตัวลดลงจากครั้งก่อนจากการมีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมากขึ้นคาดการณ์ว่าอัตราผลตอบแทนจะไม่เปลี่ยนแปลง สะท้อนมุมมองของตลาดที่ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตร 5 ปี และ 10 ปี ณ สิ้นไตรมาส 2 น่าจะไม่แตกต่างไปจากวันที่ทำการสำรวจ (21 พ.ค. 64) ที่ระดับ 1.06% และ 1.86% ตามลำดับ โดยปัจจัยที่มีผลต่อการคาดการณ์ ได้แก่ อุปสงค์และอุปทานในตลาดตราสารหนี้ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลก รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก
ขณะที่ภาพตลาดตราสารหนี้ พบว่า มีเงินไหลเข้าในตลาดพันธบัตรรัฐบาล โดย ณ สิ้นเดือน พ.ค. อยู่ที่ 30,678 ล้านบาท และหากแยกตามอายุ เข้ามาในพันธบัตรที่มีอายุมากกว่า 1 ปี 49,831 ล้านบาท แต่ก็มีการขายทำกำไร และครบอายุ 7,999 ล้านบาท ดังนั้นสถานการณ์ยังคงเป็นการไหลเข้าสุทธิ
ขณะที่การออกหุ้นกู้เอกชนนั้น พบว่าในช่วง 5 เดือนแรก มีการออกหุ้นกู้ระยะยาว 380,779 ล้านบาท มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 138,166 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 57% และยังมีแนวโน้มออกเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังด้วย ดังนั้นเชื่อว่าในปีนี้การออกหุ้นกู้ใหม่ทั้งหมดจะไม่ต่ำกว่า 750,000 ล้านบาทแน่นอน