บริษัทคาดอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยทั้งปี 64 จะทำได้ใกล้เคียงช่วงไตรมาส 1/64 ที่ 12.82% สูงกว่าปี 63 ที่มีอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยทั้งปีที่ 10.56% โดยเป็นผลมาจากการที่บริษัทสามารถจำหน่ายยางได้ในราคาที่สูงขึ้น หลังจากที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงหนุนให้ความต้องการใช้ถุงมือยางอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง
พร้อมกันนี้ยังมีการสนับสนุนการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้ามีเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซพิษไอเสียรถยนต์สู่อากาศนั้น ทำให้ยอดขายรถยนต์พลังงานใหม่ (NEV) ซึ่งรวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าแบบใช้แบตเตอรี่ รถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด และรถยนต์พลังงานเซลส์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนทั่วโลกมียอดขายที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อุปสงค์ยางพารา (Demand) เพิ่มมากขึ้น แต่ในส่วนของอุปทานยางพารา (Supply) ไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม หนุนราคายางพาราจะอยู่ในทิศทางขาขึ้นอย่างน้อย 5 ปี
"เรามองว่าราคายางจะมีทิศทางปรับตัวขึ้นต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปี ซึ่ง Supply จะเพิ่มขึ้นได้อย่างเร็วคือ 7 ปี เพราะต้นยางใหม่ต้องใช้ระยะเวลาในการปลูก และการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ความต้องการถุงมือยางอยู่ในระดับสูงอยู่ ในขณะเดียวกันการกลับมาฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์เติบโตด้วย"นายชูวิทย์ กล่าว
นอกจากนี้ในปลายปี 2564 บริษัทมีแผนจะขยายโรงงานเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตอีก 50,000 ตัน จาก 460,000 ตัน เป็น 510,000 ตัน โดยจะลงทุนซื้อเครื่องจักรประมาณ 50 ล้านบาท เพื่อรองรับลูกค้าทั้งรายใหม่และรายเก่าที่ต้องการสั่งสินค้าเพิ่มขึ้น สำหรับสัดส่วนรายได้ปี 2564 ทางบริษัทยังวางนโยบายการจำหน่ายสินค้าในประเทศและต่างประเทศเป็น 60 : 40 ซึ่งในสัดส่วนลูกค้าต่างประเทศแบ่งเป็น จีน 70% , ญี่ปุ่น 20% และอื่นๆอีก 10% เช่นสิงคโปร์ อินเดีย บังคลาเทศ เป็นต้น โดยมองว่าเป็นอัตราส่วนที่เหมาะสมของลูกค้าในประเทศที่มีการเพิ่มกำลังการผลิตจากการย้ายฐานการผลิตจากประเทศจีนย้ายมาตั้งโรงงานอยู่ที่ประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น และลูกค้าต่างประเทศที่มีความต้องการใช้ยางธรรมชาติอยู่
ทั้งนี้ บริษัทขอแจ้งวันใช้สิทธิ NER W1 ครั้งที่ 2 วันที่ 15 มิ.ย.64 สำหรับอัตราและราคาการใช้สิทธินั้นใบสำคัญแสดงสิทธิ 1 หน่วย ซื้อหุ้นสามัญของบริษัทได้ 1 หุ้น ในราคาใช้สิทธิ 1.80 บาทต่อหุ้น ด้านระยะเวลาแจ้งความจำนงการใช้สิทธิ และขอรับใบแจ้งความจำนงการใช้สิทธิ ในวันที่ 8-11 มิ.ย.64 และวันที่ 14 มิ.ย.64