BTS นัดถก กทม.หาทางออกหนี้สัปดาห์หน้า,เล็งหั่นเป้าผู้โดยสารเซ่นพิษโควิด

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday June 8, 2021 13:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) และ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส บริษัทในกลุ่ม บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า กรณีปัญหาการต่ออายุสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว แลกกับการรับภาระหนี้แทนกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยให้เก็บค่าโดยสารไม่เกิน 65 บาท ว่า เรื่องการต่ออายุสัมปทานเป็นการตัดสินใจของรัฐบาล

บริษัทยืนยันว่าไม่ต้องการนำเรื่องการต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวมาต่อรอง เพราะอายุสัมปทานของบีทีเอสยังเหลืออยู่ 8 ปี แต่บริษัทต้องการทวงถามหนี้ที่ กทม.ค้างค่าจ้างเดินรถตั้งแต่เดือน พ.ค.62 ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลมีแนวทางจะให้ต่ออายุสัญญาสัมปทานและได้มีการเจรจากัน ทำให้กทม.หยุดการจ่ายค่าจ้างให้บริษัท และเรื่องก็ยังยืดเยื้อขณะที่กทม.ก็ไม่ได้ตั้งงบเบิกจ่ายเพื่อชำระหนี้รองรับเอาไว้

"สัมปทานสายสีเขียว เราไม่สนใจแล้ว ก็แล้วแต่รัฐบาล...จะหาว่าเอาสัมปทานเป็นข้อต่อรอง เรารอได้ สัมปทานยังเหลืออยู่ 8 ปี ไม่ใช่ปัญหาเรา ส่วนเงินค่าจ้างเดินรถที่กทม.ติดหนี้บริษัทอยู่กว่า 3 หมื่นล้านบาท รวมดอกเบี้ย ติดมา 3 ปีกว่าแล้ว"นายสุรพงษ์ กล่าว

ทั้งนี้ BTS จะร่วมประชุมกับ กทม.และบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้ดังกล่าวในสัปดาห์หน้า โดยมองว่าหาก กทม.จัดเก็บค่าโดยสารตามสัญญาสัปมทาน ราคาไม่เกิน 104 บาท/เที่ยว ก็จะมีเงินเพียงพอจ่ายค่าจ้างเดินรถได้

นายสุรพงษ์ ยังกล่าวว่า ในส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ ? มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่าโครงการ 1.27 แสนล้านบาท ที่บริษัทได้ยื่นฟ้องผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 36 ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง โดยศาลฯได้รับคำฟ้องแล้วเมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา และศาลฯนัดไต่สวนครั้งแรก ในวันที่ 29 ก.ค.64

นอกจากนี้ ยังได้ตั้งข้อสังเกตุว่า รฟม.ยังไม่เปิดการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มรอบใหม่ หลังจากที่ได้เปิดให้เอกชนร่วมแสดงความเห็นเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมานั้น อาจเป็นเพราะเรื่องคดีฟ้องร้องยังอยู่ในชั้นศาลอาญาฯ และศาลปกครองที่บริษัทยื่นขอให้เพิกถอนและคุ้มครองชั่วกรณี รฟม.และ คณะกรรมการมาตรา 36 มีคำสั่งล้มประมูลเมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา จึงอาจต้องการความชัดเจนก่อน

*ล็งหั่นเป้าผู้โดยสารงวดปี 64/65 รับพิษโควิด แต่เชื่อครึ่งหลังดีขึ้น

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า บริษัทประมาณการจำนวนผู้โดยสาร (Ridership)ในงวดปี 64/65 (สิ้นสุด มี.ค.65) ก่อนเกิดการระบาดโควิด-19 รอบ 3 จะเติบโต 10% หรือมีจำนวน 138 ล้านเที่ยว/ปี จากปีก่อนมีจำนวน 125 ล้านเที่ยว/ปี แต่สิ้นเดือน มิ.ย.จะมีการปรับลดประมาณการลงจากที่รับผลกระทบการระบาดโควิด-19 รอบ 3 (ตั้งแต่เม.ย.64)

"ถ้าเปิดประเทศได้ในเดือน ต.ค.64 นี้ผลกระทบก็คาดว่าจะไม่เยอะ จะประเมินกันอีกครั้งหลังจบสิ้น มิ.ย.ซึ่งก็จะจบไตรมาส 1 ของเรา (เม.ย.-มิ.ย.) น่าจะเห็นทิศทางเรื่องโควิด ...คิดว่าปีนี้ มีผลกระทบโควิดไม่มากเท่าปีที่แล้ว ที่รับผลกระทบเต็มปี (เม.ย.63-มี.ค.64 เม.ย.ก็ปิดเมือง ธ.ค.ก็มีรอบ 2 ถ้าวัคซีนมาเร็ว เปิดประเทศได้ก็ทำให้ไม่แย่มาก"นายสุรพงษ์ กล่าว

ในส่วนรายได้จากธุรกิจระบบขนส่งมวลชน (MOVE) คาดว่าในงวดปี 64/65 รายได้จากงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลือง จะอยู่ที่ 14,000 ล้านบาท จากงวดปีก่อนมี 1.94 หมื่นล้านบาท เนื่องจากงานก่อสร้างใกล้เสร็จสิ้น , รายได้จากการติดตั้งระบบและจัดหารถไฟฟ้าขบวนใหม่สำหรับส่วนต่อขยายสายสีเขียว คาดมีรายได้ 1,000 ล้านบาท จากงวดปีก่อน 6,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการติดตั้งใกล้เสร็จสิ้นเช่นกัน ส่วนรายได้จากการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง ที่รับจ้างเดินรถส่วนต่อขยายสายสีเขียวกับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด คาดรายได้ 6,300 ล้านบาท จากงวดปีก่อน 5,300 ล้านบาท

ส่วนธุรกิจ MIX ที่มาจากบมจ.วีจีไอ (VGI) บมจ.เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) (KEX) และธุรกิจบัตรแรบบิท คาดว่าในปีนี้จะมีรายได้ประมาณ 3,500-4,000 ล้านบาท สูงขึ้นจากงวดปีก่อนที่มีรายได้ 2,614 ล้านบาท

"ธุรกิจปีนี้ (เม.ย.64-มี.ค.65) มีแนวโน้มดีขึ้น ถึงแม้ตอนนี้จะมีการระบาดอยู่ แต่ก็มีการฉีดวัคซีน"

นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทเตรียมเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ในปลายเดือน ธ.ค.64 หรือ ม.ค.65 เลื่อนจากแผนเดิมที่กำหนดเดินในเดือน ต.ค.64 เพราะมีการส่งมอบพื้นที่ล่าช้า โดยจะเก็บค่าโดยสารในช่วง 15-42 บาท/เที่ยว บวกส่วนเพิ่มอัตราเงินเฟ้อ (CPI) นับจากวันลงนามสัญญา โดยประเมินว่าจะมีจำนวนผู้โดยสาร 2 แสนคน/วัน หรือมีรายได้ประมาณ 1,800 ล้านบาท/ปี

ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี คาดว่าจะเปิดเดินรถบางส่วนในเดือน มี.ค.หรือ เม.ย.65 เพราะขณะนี้งานก่อสร้างได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 รอบ 3 ทำให้แคมป์คนงานของบมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น (STEC) ต้องปิดไป 2 สัปดาห์ ทั้งนี้ ประเมินว่าจำนวนผู้โดยสารของสายนี้จะอยู่ที่ราว 2 แสนคน/วันเช่นกัน แต่มีจำนวน 30 สถานีระยะทางยาวกว่าสายสีเหลืองที่มี 23 สถานี

อนึ่ง บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ซึ่งเป็นบริษัทที่กิจการร่วมค้า BSR Joint Venture (BTS, บมจ. ราช กรุ๊ป (RATCH) และบมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น (STEC) เป็นผู้บริหารรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ส่วนบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) เป็นบริษัทที่กิจการร่วมค้า BSR Joint Venture ผู้บริหารรถไฟฟ้าสายสีชมพู นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ขณะนี้ในกลุ่ม BSR ยังไม่ตัดสินใจว่าจะนำรายได้จากการเดินรถ 2 สายนี้มาขายเข้ากองทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพราะต้องรอให้มีรายได้ 6 เดือนเสียก่อน

ส่วนโครงการติดตั้งและบริหารระบบเก็บเงิน (O&M) ในโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 2 เส้นทาง ได้แก่ ทางหลวงพิเศษสาย M6 (บางปะอิน-นครรำชสีมา) และสาย M81 (บางใหญ่-กาญจนบุรี)ของกรมทางหลวง ซึ่งกลุ่มกิจการร่วมค้าบีจีเอสอาร์ (BTS,บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF),STEC,RATCH ) เป็นผู้ดำเนินการติดตั้งและบริหารงาน O&M มอเตอร์เวย์ 2 เส้นทาง คาดว่าภายในเดือนมิ.ย.จะเซ็นสัญญากับกรมทางหลวง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ