ธนาคารกรุงเทพ (BBL) จับมือสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ปล่อยกู้ต่อลมหายใจให้ผู้ประกอบการ สูงสุดไม่เกิน 15 ล้านบาทต่อสถานประกอบการ ช่วยเพิ่มสภาพคล่อง หวังให้มีการจ้างงานผู้ประกันตนต่อเนื่อง ลดต้นทุนการเงิน คิดดอกเบี้ยต่ำ คงที่ตลอด 3 ปี แค่ 2.75% ต่อปี กรณีมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือ 4.75% ต่อปี กรณีไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือค้ำประกันโดยบุคคล หรือบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) วงเงินรวมทั้งโครงการ 3 หมื่นล้านบาท
นายสุวรรณ แทนสถิตย์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ BBL เปิดเผยว่า โครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน ระยะที่ 2 (พ.ศ.2563 ? 2564) จะช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกับ สปส.ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งจะช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจ เพื่อเพิ่มผลผลิตแรงงาน รักษาระดับการจ้างงานลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตน โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่ธุรกิจอาจได้รับผลกระทบจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นวิกฤติในครั้งนี้
โครงการดังกล่าวมีวงเงินสินเชื่อรวมทั้งโครงการ 30,000 ล้านบาท ระยะเวลาสินเชื่อตามโครงการ 3 ปี ผู้ประกอบการที่สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้ จะต้องเป็นสถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม โดยต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน และได้รับการรับรองสถานะความเป็นสถานประกอบการจาก สปส. ทั้งนี้ เมื่อได้รับการอนุมัติสินเชื่อแล้ว ผู้ประกอบการจะต้องรักษาจำนวนผู้ประกันตนในสถานประกอบการให้อยู่ในระดับไม่น้อยกว่า 80% ของจำนวนผู้ประกันตนในสถานประกอบการ ณ วันที่ธนาคารส่งแบบรายงานผลการอนุมัติสินเชื่อให้ประกันสังคม ไว้ตลอดอายุสินเชื่อ
นายสุวรรณ กล่าวอีกว่า โครงการนี้นับเป็นอีกหนึ่งรูปแบบการช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจ รวมถึงการคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ และคงที่ตลอด 3 ปี เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการ โดยมีเงื่อนไขให้ยังคงรักษาระดับการจ้างงานเอาไว้ เพื่อช่วยให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนยังคงมีรายได้ต่อเนื่อง และบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมได้อีกทางหนึ่งเช่นกัน
"ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ธุรกิจส่วนใหญ่กำลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ธนาคารกรุงเทพเข้าใจและห่วงใยผู้ประกอบการทุกระดับ และพร้อมที่จะเป็นอีกหนึ่งกลไกในการส่งมอบความช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการเข้าถึงบริการทางการเงินต่าง ๆ รวมถึงสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง ผ่านหลากหลายแนวทาง ทั้งมาตรการให้ความช่วยเหลือโดยตรงของธนาคาร และมาตรการที่ธนาคารดำเนินการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูของธนาคารแห่งประเทศไทย และสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานกับประกันสังคมในครั้งนี้ ซึ่งในฐานะ "เพื่อนคู่คิด" ธนาคารก็พร้อมให้คำปรึกษาและนำเสนอความช่วยเหลือให้แก่ลูกค้าอย่างเต็มที่ในทุกสถานการณ์" นายสุวรรณ กล่าว