นายธาริต เพ็งประดิษฐ์ รองอธิบดี กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เปิดเผยว่า บริษัทในไทยมีแนวโน้มทุจริตมากขึ้นโดยมีลักษณะแยบยลและซับซ้อนกว่าเดิม ขณะที่ระบบตรวจสอบยังไร้ประสิทธิภาพ และที่ผ่านมาในช่วง 3 ปี ที่มีการก่อตั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษมามีคดีที่ทำความผิดเกี่ยวกับเศรษฐกิจจำนวนกว่า 300 บริษัท และมีการส่งสำนวนให้กับอัยการกว่า 200 คดี มีคดีคงค้างในระหว่างการสอบสวนอีกประมาณ 100 คดี
"การทุจริตของประเทศไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคดีทางเศรษฐกิจ เพิ่มปีละ 200% ซึ่งแสดงถึงธรรมาภิบาลของผู้บริหาร รวมถึงกระบวนการทุจริตมีหลากหลาย มีความแยบยลมากขึ้น ดังนั้นก็เป็นหน้าที่ของ DSI ที่จะเข้าไปตรวจสอบ แนวโน้มก็ยังมองจะยังมีการทุจริตเพิ่มขึ้น เพราะว่าเป็นไปการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และระบบตรวจสอบขององค์กรในประเทศไทยยังไม่ประสิทธิภาพ" นายธาริต กล่าวในงานสัมนา"การทุจริตในองค์กร:บริษัทไทยจะป้องกันได้อย่างไร"
ทั้งนี้ ในจำนวนกว่า 200 บริษัทที่มีการทุจริต อัยการส่งฟ้องศาลกว่า 90% ซึ่งถือว่าเป็นการพิสูจน์การทำงานของ DSI ว่าเดินมาถูกทาง
จากการตรวจสอบการทุจริตของบริษัทไทยพบว่า ส่วนใหญ่จะมีการทุจริตสำคัญ 7 ประการ ประกอบด้วย ผู้บริหารถ่ายเทเงินของบริษัท, ถ่ายเทกำไร, ทุจริตภาษี , ใช้ข้อมูลภายในของบริษัท , การให้กู้ยืมเงินของบริษัทแก่ผู้อื่น , แสดงทรัพย์สินที่เป็นเท็จ และ ตกแต่งบัญชี
สำหรับการที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)จะส่งเรื่องให้ DSI หลัง ก.ล.ต. ร้องทุกข์กล่าวโทษนั้น ทาง DSI ก็จะดำเนินการต่อไป ซึ่งขณะนี้ดำเนินการอยู่หลายคดี แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่ามีจำนวนเท่าใด
*ผลสำรวจพบ 71% มองปัญหาทุจริตเป็นปัญหาหลักธุรกิจ
ผลสำรวจบริษัทของไทยของ บริษัท เคพีเอ็มจี ภูมิไชย ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจ ร่วมกับสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (ไอโอดี) และตลาดหลักทรัพย์ สำรวจความคิดเห็นของบริษัทไทยถึงการทุจริตในองค์กร ซึ่งได้รับความร่วมมือจากบริษัทจดทะเบียนจำนวนประมาณ 200 บริษัท หรือคิดเป็น คิดเป็น 44% ของจำนวนบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด ซึ่งมีการสำรวจทุก 2 ปี
สรุปผลการสำรวจล่าสุด พบว่า 71% ของผู้ตอบแบบสำรวจ เห็นว่าปัญหาทุจริตเป็นปัญหาหลักของการทำธุรกิจ และบริษัท 44% เห็นว่าในอีก 2 ปีข้างหน้า ปัญหาการทุจริตในองค์กรจะเพิ่มขึ้น ส่วนที่มองว่าลดลงมีเพียง 17%
ทั้งนี้ จากการสำรวจบริษัททั้งหมดแบ่งเป็น กลุ่มสถาบันการเงิน และกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ พบว่ากลุ่มสถาบันการเงิน การทุจริตด้านการรายงานการเงินเป็นประเภทของการทุจริตที่เกิดขึ้นมากสุด ส่วนในอุตสาหกรรมอื่นๆ พบการทุจริตเกิดมากที่สุดในกรณีการนำทรัพย์สินของบริษัทไปใช้ โดยสาเหตุที่เป็นแรงจูงใจในการกระทำผิดอันดับแรกคือ ปัญหาทางการเงิน และ ความโลภ
นอกจากนี้ เคพีเอ็มจีได้รายงานถึงผลสำรวจของปัจจัยที่ก่อให้เกิดการทุจริตในองค์กร 3 อันดับแรก คือ การทุจริตร่วมกันระหว่างพนักงานบริษัทกับบุคคลภายนอก ไม่มีระบบความคุมภายในอย่างเพียงพอ และ ไม่มีระบบความคุมในเรื่องจริยธรรมทางธุรกิจ
แต่ประเด็นที่น่าสนใจพบว่า เมื่อเกิดการทุจริตในองค์กร ส่วนใหญ่ 78% จะทำการสอบสวนเองภายใน มีเพียง 28% เท่านั้นที่มีการแจ้งกับทางการเพื่อดำเนินการกับผู้กระทำผิด ซึ่งเหตุผลหลักที่รายงานให้ทางการทราบน้อย คือ ไม่มีหลักฐานเพียงพอ เกรงว่าจะกระทบกับชื่อเสียงองค์กร
อย่างไรก็ตาม แนวทางการป้องกันการทุจริตในองค์กร ที่บริษัทต่างๆตอบแบบสอบถาม มีความเห็นว่า 81% ให้ทบทวนระบบควบคุมภายใน 80% และจัดให้มีคู่มือการดำเนินงาน หรือ คู่มือทางจริยธรรมธุรกิจ นอกจากนี้ 78% ให้ปรับปรุงระบบความคุมความปลอดภัย รวมทั้ง 76% กำหนดนโยบายในการควบคุมทุจริต และ 70% ให้ผู้บริหารระดับสูง ให้ความสนใจเรื่องการป้องกันการทุจริตมากขึ้น
ขณะเดียวกันยังได้มีการเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย พบว่าปัญหาการทุจริตเกิดขึ้นกับทุกประเทศทั่วโลก โดยจากบริษัทที่ร่วมตอบแบบสอบถามในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ 47% พบว่าสามารถตรวจพบการทุจริตจากระบบควบคุมภายใน 38% ของบริษัทที่ร่วมตอบแบบสอบถาม
ขณะที่ในประเทศไทยพบเพียงเพียง 16% ของบริษัทที่ตอบแบบสอบถาม เนื่องจากระบบการควบคุมภายในของไทยยังล้าหลังและไม่พัฒนาเท่าที่ควรจึงจำเป้นต้องมีการพัฒนาระบบควบคุมภายในเพื่อลดการทุจริตในองค์กร
--อินโฟเควสท์ โดย สารภี สายะเวส/เสาวลักษณ์/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--