นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) เปิดเผยว่า จากนโยบายในปี 64 บริษัทมีแผนเดินหน้าขยายการลงทุนธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) อย่างเต็มที่ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมผ่านการพัฒนาพลังงานสะอาด ซึ่งเป็นเป้าหมายของ บี.กริม ในการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด เพื่อร่วมกันลดภาวะโลกร้อนและดูแลสิ่งแวดล้อมด้วยกันอย่างยั่งยืน
ล่าสุด บริษัทได้ดำเนินการก่อสร้างและบริหารจัดการงานเดินระบบและซ่อมบำรุงอุปกรณ์ในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อป รวม 6 เมกะวัตต์ ให้แก่ Alaska Milk Corporation ซึ่งเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์นมรายใหญ่ที่สุดของประเทศฟิลิปปินส์ในเครือ Royal Friesland Campina N.V. บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก หนึ่งในผู้นำธุรกิจผลิตภัณฑ์นมที่ดำเนินธุรกิจมาอย่างยาวนานกว่า 140 ปี
โครงการในเฟส 1 มีกำลังผลิตไฟฟ้า 3 เมกะวัตต์ ได้เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วตั้งแต่เดือนก.พ.64 และเฟส 2 กำลังผลิต 3 เมกะวัตต์ ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างคาดว่าจะแล้วเสร็จและ COD ได้ภายในเดือน ธ.ค.64 นี้
นอกจากนี้ เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา บี.กริม เพาเวอร์ ยังได้เริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อป โดยมีกำลังการผลิตติดตั้งจำนวน 5.67 เมกะวัตต์ ให้กับบริษัทต่างๆ ในเครือของ Republic Biscuit Corporation (REBISCO) ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อาหารชั้นนำระดับนานาชาติของประเทศฟิลิปปินส์ที่มีประวัติการดำเนินธุรกิจมายาวนานกว่า 58 ปี อีกด้วย
อนึ่ง บี.กริม เพาเวอร์ ยังได้ลงนามความร่วมมือในบันทึกข้อตกลง และสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โรงไฟฟ้าโซลาร์ รูฟท็อป กำลังการผลิตติดตั้งขนาด 30 เมกะวัตต์ ให้กับ Al Madina Group ยักษ์ใหญ่ด้านอสังหาริมทรัพย์ รัฐสุลต่านโอมาน ซึ่งจะเป็นการรุกเข้าไปพัฒนาและบริหารจัดการโรงไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อป ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางที่มีโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญอีกด้วย
สำหรับโรงไฟฟ้าโซลาร์ รูฟท็อป ในประเทศไทย ปัจจุบัน บริษัทได้เข้าไปบริหารจัดการโรงไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อป ให้กับหลายองค์กร อาทิ ไอคอนสยาม, เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป, มูลนิธิทันตนวัตกรรมในพระบรมราชูปถัมภ์, เอไอเอ กรุ๊ป, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, บริษัท อมตะ วอเตอร์ จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี และระยอง และสวนอุตสากรรมบางกะดี ปทุมธานี เป็นต้น
"การติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อป ซึ่งเป็นระบบที่ต้องมีการบำรุงรักษาระยะยาว สัญญาส่วนใหญ่ที่ทำกับลูกค้าจึงเป็นสัญญา 15-25 ปี ซึ่งเป็นการสร้างพันธมิตรระยะยาว ระหว่าง บี.กริม เพาเวอร์ กับลูกค้าในการร่วมสร้างพลังงานสะอาดไปพร้อมกัน" นายฮาราลด์ ลิงค์ กล่าว
ด้านนายพีรเดช พัฒนจันทร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ฝ่ายกฎหมายและพัฒนาธุรกิจ บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ กล่าวว่า ด้วยรูปแบบความต้องการใช้พลังงานที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้องค์กรต่างๆ โดยเฉพาะองค์กรระหว่างประเทศ มีนโยบายลดการสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระยะยาว และหันมาใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น
"การรุกเข้าสู่ธุรกิจโซลาร์ รูฟท็อป ซึ่งถือเป็นพลังงานทดแทนที่มีการเติบโตสูง เมื่อบวกกับโครงการพลังงานในรูปแบบต่างๆ ที่บริษัทดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ทำให้ บี.กริม เพาเวอร์ สามารถเสนอรูปแบบการจำหน่าย ดูแล และบำรุงรักษา ระบบไฟฟ้าให้กับลูกค้าได้อย่างครบวงจร และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งยังสามารถตอบโจทย์ทางด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างครบถ้วนมากขึ้น"นายพีรเดช กล่าว