ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) ร่วมกับธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิก) ปล่อยกู้เอสเอ็มอีและผู้ประกอบการที่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจไทย-ญี่ปุ่นวงเงินกู้รวม 7,000 ล้านบาท โดยกู้ได้สูงสุดรายละ 525 ล้านบาท ผ่อนนานสุดถึง 14 ปี
นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KBANK เปิดเผยว่า ธนาคารได้ร่วมกับเจบิก ให้การสนับสนุนสินเชื่อเพื่อธุรกิจที่มีความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นกสิกรไทย (K-J Related Credit) แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในประเทศไทย วงเงินกู้รวม 7,000 ล้านบาท หรือ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นระยะเวลานาน 14 ปี ซึ่งเป็นข้อเสนอด้านสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการที่พิเศษกว่าที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มโอกาสทางการลงทุนสำหรับลูกค้าเอสเอ็มอีให้ยั่งยืนขึ้น
เงินกู้ดังกล่าวทางเจบิกได้ร่วมกับธนาคารของญี่ปุ่น 8 แห่งปล่อยกู้ให้แก่ KBANK เพื่อนำไปปล่อยกู้ต่อให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในประเทศไทยที่มียอดขายระหว่าง 50 ล้านบาทถึง 5,000 ล้านบาท วงเงินกู้สูงสุดรายละ 525 ล้านบาท หรือ 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สามารถเลือกกู้เป็นสกุลเงินบาท ดอลลาร์สหรัฐ หรือเป็นเงินเยนได้ โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยน (SWAP) มีระยะเวลาการผ่อนชำระตั้งแต่ 1-7 ปี และสามารถขยายเวลาผ่อนชำระได้สูงสุดถึง 14 ปี
รวมทั้งผู้กู้สามารถเลือกประเภทอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ได้ทั้งแบบคงที่และลอยตัวได้ซึ่งอัตราดอกเบี้ยจะพิจารณาจากสถานะของลูกค้าแต่ละรายสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่จะกู้เงินในโครงการดังกล่าวต้องเป็นบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยหรือบริษัทของไทยที่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับญี่ปุ่นทั้งการค้าขายโดยตรงหรือทางอ้อมกับบริษัทญี่ปุ่นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาหรือเป็นบริษัทไทยที่มีแผนการทำธุรกิจกับบริษัทญี่ปุ่นในช่วง 2 ปีข้างหน้า หรือเป็นกิจการร่วมค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในประเทศไทย
ทั้งนี้ธุรกิจที่ดำเนินการต้องไม่เกี่ยวข้องกับการผลิตหรือค้าอาวุธสงคราม หรือก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
"สินเชื่อเพื่อธุรกิจที่มีความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นกสิกรไทยจะเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ประกอบการไทยและบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยที่ต้องการเงินทุนในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะได้ประโยชน์จากเงินกู้ดังกล่าวมาก เนื่องจากสามารถเลือกสกุลเงินกู้ให้
สอดคล้องกับรายรับของบริษัทได้ถึง 3 สกุล ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต" นายบัณฑูร กล่าว
การให้วงเงินกู้สูงถึง 525 ล้านบาทต่อรายจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีแหล่งเงินในการดำเนินธุรกิจหรือขยายธุรกิจได้อย่างเพียงพอในขณะที่ระยะเวลาการกู้ยืมนานสูงสุดถึง 14 ปีจะช่วยให้เอสเอ็มอีมีแหล่งเงินทุนระยะยาวไว้ดำเนินธุรกิจที่แน่นอน ลดภาระในการผ่อนชำระคืนในแต่ละปี ทำให้สามารถวางแผนธุรกิจและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในระยะยาวได้อย่างเต็มที่
--อินโฟเควสท์ โดย จริญยา ดำสมาน/เสาวลักษณ์/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--