นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยถึงแนวทางพัฒนาและกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล การออกประกาศกำกับดูแลศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดยห้ามให้บริการโทเคนดิจิทัลพร้อมใช้ (Utility Token พร้อมใช้) และคริปโทเคอร์เรนซีที่มีลักษณะตามกำหนดว่า การออกประกาศดังกล่าว ก.ล.ต.ได้ให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองผู้ซื้อขายเป็นหลัก ทั้งผู้ซื้อขายรายเดิมและผู้ซื้อขายรายใหม่ ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของก.ล.ต. ที่ได้รับมอบหมายใน 2 ส่วน คือ การพัฒนา และการดูแลผู้ซื้อขาย อีกทั้งจะเห็นได้ว่าในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ราคาคริปโทเคอร์เรนซีมีความผันผวนค่อนข้างมาก ประกอบกับก.ล.ต.อื่นในต่างประเทศ ก็ได้อออกมาดูแลในการกำกับ ควบคุม ก.ล.ต.จึงได้เสนอต่อคณะกรรมการก.ล.ต. ให้มีการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว และได้มีการออกประกาศฉบับที่ 114/2564 ในวันที่ 11 มิ.ย.2564
ทั้งนี้ประกาศดังกล่าวถือเป็นประเด็นสำคัญเร่งด่วน จึงยกเว้นการประกาศทำประชาพิจารณ์ (Public Hearings) อย่างไรก็ตามได้มีการขออนุญาตกับคณะกรรมการก.ล.ต. แล้ว ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถดำเนินการได้ ส่วนระยะเวลาของการประกาศหลักเกณฑ์นั้น ก.ล.ต.ยืนยันว่าเป็นไปตามกรอบเวลาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยไม่ได้มีการกำหนดว่าเป็นเวลากลางคืนของวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยประธานกรรมการก.ล.ต. ได้มีการลงนามในประกาศฯ วันที่ 10 มิ.ย.64 จากนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้นำไปประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 มิ.ย.64 เป็นต้นไป และไม่มีผลย้อนหลัง
ด้านนางจารุพรรณ อินทรรุ่ง ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. (สายธุรกิจตัวกลางและตลาด) กล่าวว่า แนวทางการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล ตามประกาศคณะกรรมการก.ล.ต. มีอยู่ 2 ส่วนหลัก ได้แก่ การออกเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัล และการกำกับดูแลผู้ประกอบการธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดยห้ามนำเหรียญที่มี 4 ลักษณะมาซื้อขาย (Listed) ประกอบด้วย
1. Meme Token เหรียญที่ไม่มีสิ่งใดรองรับ ราคาขึ้นอยู่กับกระแสโลกโซเชียล เนื่องด้วยเห็นว่ามีการเก็งกำไรสูงทำให้เกิดความผันผวนของราคาได้ง่าย
2. Fan Token เหรียญที่เกิดจากระแสความชื่นชอบส่วนบุคคล เนื่องจากการให้ราคาของเหรียญจะขึ้นอยู่กับความชื่นชอบ ความรู้สึกที่มีต่อเหรียญนั้น ราคาจึงมีความผันผวนและมีการเก็งกำไรสูง รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหรียญโดยตรงก็อาจจะมีข้อมูลภายในที่มากกว่าคนอื่น อาจนำไปสู่การเอาข้อมูลตรงนั้นมาใช้ประโยชน์ในการซื้อขาย และเอาเปรียบผู้ซื้อขายคนอื่นได้
3. Non-Fungible Token (NFT) เหรียญที่แสดงสิทธิในสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง ซึ่งเหรียญจะมีตลาดเฉพาะอยู่แล้ว จึงมองว่าไม่เหมาะกับการนำมาลิสต์ในตลาดรอง
4. เหรียญที่ออกโดยศูนย์ซื้อขาย หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ประโยชน์สำหรับธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนบล็อกเชน อาจเกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เนื่องด้วยบุคคลที่เกี่ยวข้องจะเป็นผู้ที่กำหนดไวท์เปเปอร์ (White paper) การที่จะเปลี่ยนแปลงไวท์เปเปอร์ก็สามารถดำเนินการได้ตลอดเวลา หรือการให้ข่าวที่มีผลกระทบกับเหรียญ การใช้ข้อมูลภายในที่เอาเปรียบคนอื่น ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อตัวผู้ซื้อขายคนอื่นๆ ที่ไม่มีข้อมูล
"ก.ล.ต. พิจารณาแล้วว่า 4 เหรียญดังกล่าวนี้มีโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงสูง และกระทบกับผู้ลงทุน เราจึงมีความจำเป็นที่จะต้องออกเกณฑ์ดังกล่าวนี้มา เพื่อคุ้มครองผู้ลงทุน"นางจารุพรรณ กล่าว
อย่างไรก็ตามก.ล.ต.ยังอนุญาตให้ออกและเสนอขายได้ ในกรณีที่เหรียญเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น Meme Token ก็จะมีการพิจารณาจากไวท์เปเปอร์ (White paper) ของเหรียญ ว่ามีวัตถุประสงค์ หรือสาระชัดเจนหรือไม่ ส่วน Fan Token และ NFTแม้ว่าจะไม่อนุญาตให้นำมาซื้อขายบน Exchange แต่ก็มีเว็บไซต์อื่นที่รองรับการซื้อขายโดยเฉพาะ ผู้ลงทุนยังสามารถซื้อขายได้ รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจ ภายใต้การกำกับดูแลของก.ล.ต. เช่น นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Broker) และดีลเลอร์สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Dealer) สามารถช่วยในการซื้อขายได้ด้วย
นายธวัชชัย พิทยโสภณ ผู้ช่วยเลขธิการก.ล.ต.(สายกฎหมาย) กล่าวว่า ปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ประเภทนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Broker) และดีลเลอร์สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Dealer) ซึ่งได้รับใบอนุญาตจากก.ล.ต.แล้ว สามารถให้บริการทำธุรกรรมซื้อขายเหรียญที่ถูกห้ามดังกล่าวนอกตลาดได้ แต่หากมีผู้ที่ไม่ได้รับการอนุญาตมาดำเนินธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย ก็จะถือว่าผิดกฎหมาย
นอกจากนี้หากศูนย์ซื้อขายต้องการมาให้บริการในกลุ่มโบรกเกอร์ ดีลเลอร์ ก็สามารถทำได้ เนื่องจากอยู่นอกศูนย์ซื้อขาย ซึ่งประกาศของก.ล.ต.นั้นไม่ได้ห้ามการออก หรือซื้อขายนอกศูนย์ฯ ถ้ามีใบอนุญาตโบรกเกอร์ ดีลเลอร์ ก็สามารถดำเนินการได้เช่นกัน
ส่วนการห้ามเหรียญที่ออกโดย Exchange ไม่ให้ซื้อขายบน Exchange ตัวเอง ประกาศได้กำหนดไว้ว่าไม่มีผลย้อนหลัง ถือเป็นหลักการการออกกฎหมายโดยทั่วไป ซึ่งหากมีผลย้อนหลัง ก็อาจจะกระทบกับเหรียญที่ถูกลิสต์ในกระดานเทรดและผู้ลงทุน อย่างไรก็ตามหากมี Exchange ที่ไม่ปฎิบัติตามเกณฑ์ประกาศข้างต้น จะมีโทษปรับรายวัน จำนวน 310,000 บาท
นางรื่นวดี กล่าวเพิ่มเติมว่า ก.ล.ต.ยืนยันให้ความสำคัญกับความเป็นธรรม ยึดในประโยชน์ส่วนรวม โดยการออกเหรียญของ Exchange ที่ดำเนินการอยู่แล้ว หรือมีการซื้อขายอยู่แล้วจะไม่มีผลย้อนหลัง แต่ออกเหรียญใหม่ไม่ได้ และซื้อขายนอกตลาดได้ แต่ซื้อขายใน Exchange ของตัวเองไม่ได้
อย่างไรก็ตามการเข้ามาควบคุมดูแลของก.ล.ต. เป็นไปตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ในกฎหมาย พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ที่กำหนดไว้ 2 ส่วน คือ การพัฒนาและคุ้มครองผู้ลงทุน ซึ่งยืนยันว่าก.ล.ต.มีการพัฒนาอย่างมากในเรื่องของคริปโทเคอร์เรนซี เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เห็นได้จากปัจจุบันได้มีใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่หลากหลาย รวมถึงยังเป็นกฎหมายที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาหารือร่วมกัน
พร้อมกันนี้ในเรื่องของ Decentralize Finance (Defi) ก.ล.ต.ก็มีการหารือกับทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้วย เพื่อทำหน้าในการกำกับดูแลผู้ลงทุนอย่างต่อเนื่อง