หุ้น BEC ราคาพุ่งขึ้น 6.77% มาอยู่ที่ 14.20 บาท เพิ่มขึ้น 0.90 บาท มูลค่าซื้อขาย 568.06 ล้านบาท เมื่อเวลา 14.39 น. โดยเปิดตลาดที่ 13.50 บาท ราคาปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 14.50 บาท และราคาปรับตัวลงต่ำสุดที่ 13.40 บาท
นายพิริยดิส ชูพึ่งอาตม์ รองกรรมการผู้อำนวยการ สำนักการเงินและการบัญชี บมจ.บีอีซีเวิลด์ (BEC) คาดปี 64 พลิกมีกำไรจากปีก่อนที่มีผลขาดทุน 214.3 ล้านบาท หลังจากเริ่มเห็นการเทิร์นอะราวด์ตั้งแต่ไตรมาส 3/63 และมีกำไรต่อเนื่องมาถึงไตรมาส 1/64
ทั้งนี้ รายได้จากการขายโฆษณา ซึ่งเป็นรายได้หลัก คาดว่าจะเติบโตมากกว่า 10% จากปีก่อนมีรายได้ 4,757.7 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้ารายได้ธุรกิจขายลิขสิทธิ์ละครไปต่างประเทศ (Global Content Licensing:GCL) ในปีนี้ที่ 500 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้มียอดขายแล้ว 60% จากปีก่อนมีรายได้ 408.5 ล้านบาท และรายได้จาก CH3 PLUS Digital Platform ปีนี้ที่ 500 ล้านบาท จากปีก่อน 429.1 ล้านบาท โดยรายได้ GCL และ CH3 PLUS ในปีนี้คาดว่าจะได้ 1,000 ล้านบาท และอนาคตจะปรับเพิ่มสัดส่วนเป็นกว่า 20% ของรายได้รวม
"ปีนี้เรามองเป็นบวกกว่าปีที่แล้วอย่างน้อยกว่า10% แต่ตรงนี้เป็นเป้าหมาย ยังมีสิ่งที่ต้องปรับตัวกับผลกระทบจากโควิด รอบที่ 3... เราค่อนข้างมั่นใจว่าปีนี้เป็นบวก ตั้งแต่ที่เราเทิร์นอะราวด์เราก็วิ่งไปข้างหน้าและก็เติบโตแข็งแรงขึ้น โดยในครึ่งปีหลังมีโอกาสที่จะขาย Content ไปต่างประเทศมากกว่าครึ่งปีแรก และหากมีการกระจายฉีดวัคซีนได้มากผลกระทบโควิดก็จะจำกัด และเชื่อว่าจะเติบโตต่อเนื่อง"นายพิริยดิส กล่าว
นายพิริยดิส กล่าวเพิ่มเติมว่า ทิศทางธุรกิจในปีนี้ BEC ยังเน้นเพิ่มรายได้จากช่วง Prime-Time โดยปีนี้จะมีละครใหม่ค่อนข้างมาก จากปีก่อนที่ส่วนใหญ่เป็นละครรีรัน และช่วง Non Prime-Time ก็เพิ่มขึ้นเช่นกันโดยเฉพาะช่วงรายการข่าว ซึ่งจะมีการปรับรูปแบบรายการ รวมถึงรายการที่มีนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา กลับมาเป็นผู้ดำเนินรายการข่าวเรื่องเล่าเช้านี้ด้วย ทำให้ยอดขายโฆษณาในรายการข่าวและจำนวนผู้ชมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ในปีนี้มีการปรับเปลี่ยนรายการข่าวเพื่อดึงฐานลูกค้า โดยรายการ"เรื่องเล่าเช้านี้"ได้ขยายเวลาอีก 25 นาที ส่วน"เรื่องเด่นเย็นนี้"ย้ายไปช่วง Early Prime-Time เพื่อเจาะกลุ่มฐานลูกค้าในช่วงเย็น ส่วนรายการเสาร์อาทิตย์ก็ได้มีการเปลี่ยนผังรายการให้มีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น
ในส่วนธุรกิจ GCL ในปีนี้จะมีการขยายตัวต่อเนื่องจากการนำลิขสิทธิ์ละครและรายการไปขายในประเทศที่มีกำลังซื้อมากขึ้น อาทิ อเมริกา ยุโรป แอฟริกาใต้ จากเดิมที่เน้นขายในเอเชีย โดยเฉพาะจีน และอินโดจีน หลังจากปีที่ผ่านมาได้ขยายตลาดไปที่เกาหลีและญี่ปุ่นที่มีกำลังซื้อสูง
ส่วน Platform Online หรือ CH 3+ มีฐานลูกค้าอีกกลุ่มที่มีอายุน้อยลงเป็นเจนเนอเรชั่นใหม่ที่ไม่ต้องการดูรายการทีวี ก็มีแผนขยายฐานเช่นเดียวกัน รวมถึงการเพิ่มจำนวนสมาชิก โดยปัจจุบันมียอดผู้เช้าชมต่อเดือน (Monthly Active User:MAU) เติบโตกว่า 200% ในปัจจุบัน เป็น 10 ล้านคนต่อเดือน จากเดือน มี.ค.63 ที่มียอดผู้ชม 3 ล้านคน/เดือน และมียอดสมาชิก 3 PLUS เป็น 1.8 ล้านคน จากช่วงเริ่มต้นในไตรมาส 1/63 อยู่ที่ 15,000 คน
CH3PLUS ยังเป็นช่องทางโปรโมทศิลปินดาราสังกัดช่อง 3 และในอนาคตจะมีสินค้าต่างๆ ที่เกี่ยวกับดาราของช่อง 3 ออกมาเสนอขายด้วยก็จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับบริษัทอีกทางหนึ่ง ขณะที่ช่อง 3 ได้มีการขายคอนเทนท์ให้กับ Platform เจ้าอื่นอีกหลายราย รวมถึง Netflix และเปิดโอกาสให้มีการผลิตร่วมกัน ส่วนการขายละครไปต่างประเทศปีละ 20-30 เรื่อง ส่วนใหญ่ช่อง 3 เป็นผู้ขายเอง
"ทั้งหมดนี้ เป็นการตอกย้ำกลยุทธ์ Single Content Multiple Platform โดยกลุ่มเป้าหมายบนทีวีเป็นกลุ่มอายุ 35 ปีขึ้นไปในกรุงเทพและหัวเมือง ส่วนที่ผ่าน Platform ต่างๆ อาทิ CH 3PLUS , Facebook,Youtube เป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี ขณะเดียวกันบริษัทมีแผนจับมือกับพันธมิตรต่างประเทศต่อเนื่อง ที่ผ่านมาเพิ่งได้แนะนำละครไทยของช่อง 3 ในตลาดญี่ปุ่น"นายพิริยดิส กล่าว
นายพิริยดิส กล่าวว่า ปัจจุบันฐานะการเงินของ BEC แข็งแรง หลังจากที่ได้ปรับลดต้นทุน มีการปรับโครงสร้างองค์กรเล็กลง และปลายปีที่แล้วขายบีอีซี-เทโร ออกไป ส่วนงบลงทุนปี 64 ยังไม่มากนัก แต่ปีข้างหน้า ต่อไปมีการขยายธุกิจก็จะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นและรายได้เพิ่มตามการลงทุน
สำหรับสถานการณ์โควิดในไตรมาส 2/64 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโฆษณาไม่มากนัก ขณะที่ BEC ก็ยังมีคอนเทนท์แข็งแรง บริษัทค่อนข้างมั่นใจน่าจะดึงเม็ดเงินโฆษณาจากช่องอื่นและการขายคอนเทนท์ไปต่างประเทศในครึ่งปีหลังน่าจะขายได้มากกว่าครึ่งปีแรก นอกจากนี้ หลังจากนายสรยุทธ์ กลับมาจัดรายการข่าว"เรื่องเล่าเช้านี้"เรตติ้งเพิ่มขึ้นมา 70-80% จากก่อนหน้ามีเรตติ้ง 30-40% รวมทั้งได้ขยายเวลาเพิ่ม 25 นาที ซึ่งน่าจะรอดู 1-2 เดือนก่อนจะเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น