นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี บมจ.การบินไทย (THAI). เปิดเผยว่า บริษัทยอมรับว่าขณะนี้กระแสเงินสดมีไม่เพียงพอที่จะทำธุรกิจได้ถึงปลายปี 64 จึงต้องเร่งจัดหาเม็ดเงินใหม่เข้ามา โดยอยู่ระหว่างการเจรจาสถาบันการเงินทั้งเอกชนและรัฐ จำนวน 2.5 หมื่นล้านบาทที่จะเข้ามาเป็นเงินทุนหมุนเวียน และนำมาจ่ายชดเชยพนักงานที่เข้าโครงการเกษียณจากงานก่อนกำหนด
"เรามีการพูดคุยกับสถาบันทั้งเอกชนและรัฐ เรายังไม่ได้เจาะลึกในรายละเอียด?เราอยากได้เร็วที่สุด เรามีจำกัด กระแสเงินสดเราอยู่ได้ไม่ถึงปลายปี 64" นายชาย กล่าว
สำหรับการขอเงินกู้จากสถาบันการเงินจำเป็นต้องมีสินทรัพย์ค้ำประกัน โดยทรัพย์สินที่บริษัทมองไว้ว่าจะนำไปใช้ ได้แก่ อาคารสำนักงานใหญ่ที่ถนนวิภาวดีรังสิต มูลค่าประมาณ 1 หมื่นล้านบาท และยังมึสำนักงานขายตั๋วโดยสารที่สีลม, หลานหลวง และ ดอนเมือง นอกจากนี้ยังมีสำนักงานขายในต่างประเทศ ซึ่งบริษัทจะพิจารณาขายไปในบางประเทศที่จะไม่ทำการบิน
รวมทั้งยังมีสินทรัพย์รอขายออกไป เพราะบริษัทยังไม่มีรายได้เข้ามา ทั้งนี้ เพื่อให้มีเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ
นายชาย กล่าวว่า ช่วงก่อนที่แผนฟื้นฟูกิจการจะได้รับความเห็นชอบจากศาลล้มละลาย บริษัทได้เจรจาปรับสัญญาเช่าเครื่องบินกับผู้ให้เช่า โดยในช่วงที่สถานการณ์ยังไม่กลับสู่สภวะปกติจะคิดค่าเช่าตามชั่วโมงบิน หรือระยะเวลา 2 ปี พร้อมทั้งจะปรับสัญญาณเช่าใหม่ที่จะลดลงจากฉบับเดิม
โดยตามแผนของบริษัทจะปรับลดเครื่องบินลงเหลือ 60 ลำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครื่องบินให้เช่าตามสัญญาเช่าจำนวน 54 ลำ และอีก 6 ลำการบินไทยเป็นเจ้าของเอง จากเดิมที่เคยมีจำนวน 102 ลำ (ณ เดือน มี.ค.63) อย่างไรก็ตาม บริษัทจะมีการจัดหาเครื่องบินเพิ่มตามภาวะธุรกิจการบินเป็น 80-90 ลำในปี 68
ด้านนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร THAI กล่าวว่า ตามแผนฟื้นฟูกิจการ การบินได้ต้องการเงินทุนใหม่จำนวน 5 หมื่นล้านบาทมา ซึ่งจะทยอยเข้ามาในช่วง 1-3 ปีนี้
ขณะที่ระยะเวลาที่บริษัทจะออกจากแผนฟื้นฟูฯ ตามกฎหมายกำหนดไว้ภายใน 5 ปี และสามารถต่ออายุครั้งละ 1 ปีได้ 2 ครั้ง รวมเป็น 7 ปี โดยระบุว่าบริษัทต้องมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ก่อนออกจากแผนฟื้นฟูฯ 2 ปีสุดท้ายเฉลี่ยปีละ 20,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทจะพยามยามออกจากแผนฟื้นฟูฯ ภายใน 5 ปีหรือเร็วที่สุด
นายชาญศิลป์ กล่าวว่า การบินไทยพร้อมที่จะกลับมาดำเนินธุรกิจและให้บริการ เพื่อกลับมาเป็นองค์กรที่แข่งขันในตลาดได้และมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยตระหนักถึงความสำคัญและความเร่งด่วนในการทำให้ธุรกิจของการบินไทยอยู่รอด โดยมีมาตรการในการหารายได้และได้เร่งดำเนินการอย่างสุดความสามารถและเต็มศักยภาพ เพื่อรักษาความสามารถในการทำกำไร เพิ่มการเชื่อมโยงเครือข่ายให้ครอบคลุมที่สุดทั้งขาเข้าและขาออกจากประเทศไทย
พร้อมทั้งวิเคราะห์เครือข่ายทั้งหมดเพื่อลดเส้นทางบินที่ซ้ำซ้อนและวางแผนเครือข่ายเส้นทางบินที่ครอบคลุมเส้นทางที่มีผลกำไรในปัจจุบัน เส้นทางบินที่กลับมาทำกำไรได้ด้วยการลดต้นทุนและการพัฒนาด้านการพาณิชย์ เส้นทางบินที่มีสัดส่วนการต่อเครื่องสูง เส้นทางบินที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ รวมทั้งประเมินเส้นทางบินใหม่ที่จะส่งเสริมเครือข่ายเส้นทางบิน โดยเฉพาะจากจังหวัดภูเก็ต
"จากนี้ไปเราเดินหน้าทำธุรกิจตามแผนต่อไป โดยเชื่อมั่นว่าในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 นี้ประเทศไทยจะสามารถกระจายการฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น และทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวและสายการบินกลับมาทำธุรกิจได้ดีขึ้น ตัวอย่าง ภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์ คงกระจายไปเมืองท่องเที่ยวต่างๆ รัฐบาลคิดว่าอยากกลับมารับนักท่องเที่ยว เราก็มีความมั่นใจว่าไตรมาส 3 ไตรมาส 4 ดีขึ้นเรื่อยถ้าไม่มีอะไร ปีหน้าน่าจะมีสัญญาณดีขึ้นเรื่อย" นายชาญศิลป์ กล่าว
นายนนท์ กลินทะ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์กลยุทธ์การหารายได้ THAI กล่าวเสริมถึงแผนการหารายได้ว่า นับตั้งแต่ไตรมาส 3 นี้เป็นต้นไปการบินไทยจะเพิ่มเที่ยวเชิงพาณิชย์มากขึ้นรับนโยบายรัฐบาลเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตามโมเดล "ภูเก็ตแชนด์บ็อกซ์" โดยโฟกัสเส้นทางในภูมิภาคยุโรปเป็นหลัก อาทิ แฟงก์เฟิร์ต, โคเปนเฮเก้น, ชูริก, ลอนดอน ปารีส จากนั้นจะทยอยเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ต่อไป เช่น สิงคโปร์, ฮ่องกง, โชล, และอีกหลายเมืองในจีน นิวเดลี บอมเบย์เป็นต้น
"ที่ผ่านมาการบินไทยให้บริการเที่ยวบินขนส่งสินค้า หรือคาร์โก้ และเที่ยวบินกึ่งพาณิชย์เป็นหลัก โดยมีเที่ยวบินพิเศษรับคนไทยกลับบ้านและเที่ยวบินขนส่งสินค้า ระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนธันวาคม 2563 จำนวน 2,042 เที่ยวบิน และตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2564 จำนวน 2,105 เที่ยวบิน แต่นับจากไตรมาส 3 นี้เป็นต้นไปการบินไทยจะกลับมาให้บริการเที่ยวบินเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบได้อีกครั้ง" นายนนท์กล่าว
บริษัทคาดว่าจะสามารถกลับมาทำการบินในช่วงไตรมาส 3/64 นี้ได้ประมาณ 30-35% เมื่อเทียบกับปี 62 และจะเพิ่มเป็นประมาณ 40% ในไตรมาส 2/65 จากนั้นน่าจะเพิ่มเป็นประมาณ 85% ในประมาณปี 68 โดยคาดว่าอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ในช่วงเริ่มต้นจะอยู่ที่ประมาณ 60-70%
"ยอดจองภูเก็ต-แฟรงเฟิร์ต มียอดจองค่อนข้างดีในเดือนกรกฎาคม มีผู้โดยสารหลักพันแล้ว"นายนนท์ กล่าว