นายสุวัฒน์ เหลืองวิริยะ กรรมการผู้จัดการ บมจ. เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน (BWG)เปิดเผยว่า บริษัทฯจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 80 ล้านหุ้น คาดว่าจะได้ผลสรุปราคาที่จะเสนอขาย, วันที่เสนอขาย และวันที่จะเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ ได้เย็นวันนี้(12 ต.ค.)ภายหลังจากที่ได้มีการหารือกับทางที่ปรึกษาทางการเงินคือ บล.เคทีบี เรียบร้อยแล้ว ซึ่งก็คาดว่าจะประกาศเป็นทางการในต้นสัปดาห์หน้า
"ตอนนี้มีบริษัทฯมีปัญหาว่าจำนวนที่ขาย IPO มีแค่ 80 ล้านหุ้น แต่มีนักลงทุนที่ต้องการจะซื้อล้นมาก ทำให้มีการจัดสรรได้ไม่ลงตัว แต่ในใจแล้วไม่อยากจะเพิ่มจำนวนขาย IPO อยากจะให้คงไว้ที่ 80 ล้านหุ้น ในเรื่องนี้ก็คงจะต้องคุยกับ FA เย็นนี้ด้วย"นายสุวัฒน์ กล่าว
ในเบื้องต้นคาดว่าจะระดมทุนไม่เกิน 250 ล้านบาท โดยยังคงกำหนดช่วงราคาเสนอขายไว้ที่ 2.9-3.1 บาท/หุ้น คิดเป็นค่า P/E ไม่เกิน 10 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่า P/E ของตลาดฯในปัจจุบันที่มีประมาณ 13 เท่า
"ราคาขายหุ้น IPO ของบริษัทฯแม้จะสูงกว่าราคาหุ้นตัวอื่นในกลุ่มขยะ อย่าง GENCO และ PRO ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ แต่อยากให้ผู้ลงทุนพิจารณาดูที่ผลประกอบการของบริษัทฯ จะเห็นได้ว่าผลประกอบการของบางรายยังขาดทุนอยู่ และบางรายผลประกอบการก็ดูเหมือนจะมีกำไรน้อยกว่าบริษัทฯ"กรรมการผู้จัดการ BWG กล่าว
ส่วนเม็ดเงินที่ได้จากการระดมทุนด้วยการขาย IPO จะนำไปใช้ชำระหนี้เงินกู้ที่ปัจจุบันนี้บริษัทฯมีหนี้กับสถาบันการเงินกว่า 100 ล้านบาท คาดว่าจะใช้เงิน 45% ของเม็ดเงินที่ได้จากขาย IPO ซึ่งภายหลังชำระหนี้เงินกู้แล้วบริษัทฯก็จะมีหนี้เหลือยู่น้อยมาก ซึ่งปัจจุบันที่บริษัทมีอัตราหนี้สินต่อทุน(D/E)แค่ 0.53 เท่า
นอกจากนี้ บริษัทฯยังจะนำเงินไปลงทุนซื้อรถและอุปกรณ์เกี่ยวกับการขนส่งในสัดส่วน 30% ของเม็ดเงินที่ได้จากขาย IPO เนื่องจากบริษัท เบตเตอร์ ทรานสปอร์ตเตชั่น บริษัทลูกที่ดูแลในเรื่องการขนส่ง ส่วนใหญ่ยังเป็นการเช่ารถจากภายนอก หากนำเงินจาก IPO มาใช้ส่วนนี้ก็จะทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายไปได้ประมาณ 25% ส่วนที่เหลือจะใช้เป็นเงินทุนเวียนของบริษัทฯ
*ตั้งเป้าปี 50 รายได้เติบโต 20% จาก 470 ลบ.ในปี 49
กรรมการผู้จัดการ BWG กล่าวว่า รายได้ของบริษัทฯในปีนี้คาดว่าจะเติบโตประมาณ 20% จากปี 2549 ที่มีรายได้ 470 ล้านบาท ซึ่งในครึ่งปีแรกบริษัทฯสามารถทำรายได้แล้ว 300 ล้านบาท จากที่สร้างฐานลูกค้าได้มากขึ้นในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศที่มีกว่า 60,000 โรงงาน โดยขณะนี้มีลูกค้าอยู่ 2,000 โรงงาน และคิดว่าจะได้ลูกค้ากลุ่มนี้เพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากมีกฎหมายบังคับให้ทุกโรงงานจะต้องเข้าระบบการกำจัดขยะให้ถูกวิธี
ปัจจุบันบริษัทฯมีสัดส่วนรายได้จากการกำจัดขยะอันตราย 60% และรายได้จากขยะไม่อันตราย 40% หรือคิดเป็น 2 ต่อ 1
นอกจากนี้ ขณะนี้บริษัทฯได้เริ่มดำเนินการในส่วนของโรงงานรีไซเคิลแล้ว โดยนำขยะมาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงทดแทน แบ่งเป็น 2 เฟสตามลักษณของขยะ คือ เฟสแรกเป็นของเหลว ซึ่งเริ่มดำเนินการแล้วในไตรมาส 4/50 และรับรู้รายได้ทันที
ส่วนเฟสที่ 2 จะเป็นขยะของแข็ง คาดว่าจะเริ่มดำเนินการช่วงต้นปี 51 ซึ่งธุรกิจรีไซเคิลคาดว่าจะให้รายได้แก่บริษัทฯประมาณ 20% ของรายได้รวมในปี 51 และจะมีมาร์จินประมาณ 20%
นายสุวัฒน์ กล่าวอีกว่า รายได้รวมของบริษัทฯในปี 51 คาดว่าจะมีการเติบโตสูงกว่าปีนี้ เนื่องจากในปีหน้าบริษัทฯจะได้รับรู้รายได้โรงงานรีไซเคิลเต็มปี และยังอาจจะรับรู้รายได้จากธุรกิจเตาเผาขยะอุตสาหกรรมที่นิคมอุตสาหกรรมบางปูด้วย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประมูล บริษัทฯคาดว่าจะเซ็นสัญญากับกรมโรงงานซึ่งเป็นเจ้าของงานนี้ได้ภายในสิ้นปีนี้ และรับรู้รายได้ในปี 51
"งานเตาเผาขยะอุตสาหกรรมที่บางปูนี้ เป็นเตาเผาขยะอันตรายแห่งแรกของประเทศไทย มีมูลค่าโครงการ 1,500 ล้านบาท ตอนนี้เราได้รับคัดเลือกมาเป็นอันดับ 1 ในการประมูลครั้งนี้ หากได้งานนี้มาจริงก็คิดว่าจะดำเนินการจัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมา เป็นบริษัทร่วมทุนกับทางพันธมิตรญี่ปุ่นของบริษัทฯ คือ YAMAZEN เพราะตอนนี้เราเข้าร่วมประมูลในนามของกิจการร่วมค้า BYSC"นายสุวัฒน์ กล่าว
นายสุวัฒน์ กล่าวต่อว่า การที่บริษัทฯได้เป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ทำให้บริษัทฯได้รับการถ่ายทอดทางด้านเทคโนโลยี อีกทั้งเมื่อมี project เกิดขึ้นก็พร้อมที่จะร่วมเป็น joint venture กัน
--อินโฟเควสท์ โดย พรเพ็ญ ดวงเฉลิมวงศ์/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--