หุ้น SMD ปิดเทรดวันแรกที่ 9.20 บาท เพิ่มขึ้น 2.00 บาท (+27.78%) จากราคาขาย IPO ที่ 7.20 บาท/หุ้น มูลค่าซื้อขาย 1,942.06 ล้านบาท โดยเปิดตลาดที่ 10.20 บาท ราคาขึ้นสูงสุด 10.60 บาท และราคาลงต่ำสุด 9.00 บาท
บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ฯว่า บมจ.เซนต์เมด (SMD) ยอดขายในไตรมาส 1/64 แม้จะลดลงกว่า 30% QoQ แต่เพิ่มขึ้นกว่า 38% YoY โดยหลักๆ มาจากกลุ่มด้านเวชบำบัดวิกฤตเริ่มฟื้นกลับสู่ระดับปกติ และมีการส่งมอบตามสัญญาคงค้างจากปีก่อน
สำหรับแนวโน้มไตรมาส 2/64 จึงมองว่าบริษัทจะมีการเติบโต QoQ และ YoY จากยอดขายในกลุ่มด้านเวชบำบัดวิกฤตที่เริ่มฟื้นตัวต่อเนื่อง และกลุ่มสินค้าด้านการช่วยหายใจยังคงได้รับประโยชน์จากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้มีความต้องการในเครื่องมือแพทย์ด้านการหายใจมากขึ้น รวมไปถึงจากลักษณะการใช้จ่ายของกลุ่มลูกค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาครัฐที่มีการใช้งบประมาณสูงในช่วงไตรมาส 2-3 และฐานต่ำในปีก่อน
สำหรับรายได้ในปี 64 จากการประมาณการเบื้องต้น ยอดขายของ SMD จะมีการเติบโตประมาณ 16% เนื่องจากรัฐต้องการให้มีที่ต้องขยายเพิ่มสัดส่วนห้องฉุกเฉิน และ ICU จาก 5% เป็น 10% ต่อโรงพยาบาล คาดจะใช้เวลาราว 10 ปี โดยคิดเป็นมูลค่าตลาด 3 พันล้านบาทต่อปี ทำให้สินค้ากลุ่มด้านเวชบำบัดวิกฤติยังคงมีพื้นที่สำหรับการเติบโตสูง และความต้องการในสินค้าของบริษัทที่เริ่มฟื้นตัวหลังจากการกระจายวัคซีนที่ช่วยให้กิจกรรมในโรงพยาบาลกลับมาดำเนินได้ปกติ
ดังนั้น มองว่าราคา IPO ของ SMD อยู่ในระดับที่เหมาะสม Forward P/E 7.3 เท่า และยังมีอัพไซด์เมื่อเทียบกับ P/E ปี 65 ที่ 9 เท่า หากบริษัทสามารถรักษาระดับ SG&A ได้เท่ากับปี 63 เนื่องจาก GPM ของบริษัทค่อนข้างทรงตัวที่เฉลี่ย 41% นอกจากนี้ จากแผนการใช้เงินทุนจากการ IPO ของบริษัท เป็นการลงทุนเพิ่มเติมในการให้เช่าอุปกรณ์การแพทย์ และบริการศูนย์ตรวจการนอนหลับ มองว่าจะเป็นส่วนช่วยเสริมรายได้ประจำมากขึ้น
สำหรับความเสี่ยงที่ต้องระวังสำหรับ SMD คือ SG&A ที่หากสูงกว่าคาดจะกดดันอัตราทำกำไรได้, การแข่งขันในอุตสาหกรรมสูงจากสินค้าที่สามารถทดแทนกันได้ และการเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่สามารถทำได้ง่าย
อนึ่ง SMD ดำเนินธุรกิจโดยการเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือแพทย์, อุปกรณ์ทางการแพทย์ และยังมีบริการให้เช่าอุปกรณ์การแพทย์ และบริการศูนย์ตรวจการนอนหลับ โดยแบ่งกลุ่มลูกค้าตามรายได้ไตรมาส 1/64 เป็น ภาครัฐ 69.90% และภาคเอกชน 30.10%
สำหรับสินค้าที่บริษัทจำหน่ายและให้บริการ สามารถแบ่งได้เป็นกลุ่มดังนี้ 1.กลุ่มสินค้าด้านเวชบำบัดวิกฤตซึ่งเป็นกลุ่มเครื่องมือแพทย์ที่ใช้สำหรับผู้ป่วยในหออภิบาลผู้ป่วยหนักและห้องฉุกเฉิน 2.กลุ่มสินค้าด้านการช่วยหายใจและเวชศาสตร์การนอนหลับซึ่งเป็นกลุ่มเครื่องมือแพทย์สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจและการนอนหลับ 3.กลุ่มสินค้าด้านหทัยวิทยา ซึ่งเป็นกลุ่มเครื่องมือแพทย์ที่ใช้สำหรับตรวจวินิจฉัย และรักษาความผิดปกติการทำงานของหัวใจ 4.กลุ่มเครื่องมือแพทย์สำหรับการใช้งานทั่วไป 5.กลุ่มสินค้าสมาร์ทฮอสพิทอล เป็นกลุ่มเครื่องมือแพทย์ที่ใช้อำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลในการปฏิบัติงานให้รวดเร็วยิ่งขึ้น 6.กลุ่มสินค้าอื่น ๆ ซึ่งเป็นกลุ่มอุปกรณ์ประกอบการใช้งานเครื่องมือแพทย์ใน 5 กลุ่มดังที่กล่าวมา
นอกจากนี้ บริษัทยังมีการให้บริการเช่าเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ในลักษณะสัญญาเช่าระยะยาว 3-5 ปี ซึ่งหลังการ IPO ตั้งเป้าจะจัดหาสัญญาเช่าใหม่จำนวน 200 ล้านบาท 300 ล้านบาท และ 400 ล้านบาท ระหว่าง ปี 64-66 และให้บริการตรวจการนอนหลับ โดยการให้บริการตรวจการนอนหลับของบริษัทนั้นจะเป็นลักษณะสัญญาความร่วมมือระหว่างบริษัทและโรงพยาบาล ซึ่งหลังการ IPO บริษัทมีการตั้งเป้าหมายจะดำเนินโครงการให้ได้อย่างน้อย 8 เตียงตรวจ ต่อโครงการ ต่อปี