นายพงษ์ศักดิ์ ศิริคุปต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เด็มโก้ (DEMCO) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาการขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยอาจจะร่วมลงทุนกับพันธมิตร เนื่องจากมีมูลค่าการลงทุนค่อนข้างสูง แต่อาจจะเป็นการทำธุรกิจสถานีชาร์จรถ EV เพื่อต่อยอดกับธุรกิจหลัก
ขณะที่แนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/64 คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาส 1/64 ที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน จากงานในมือ (Backlog) ที่ปัจจุบันมีอยู่กว่า 3,640 ล้านบาท คาดจะรับรู้รายได้ตั้งแต่ไตรมาส 2/64 จนถึงสิ้นปีนี้ที่ 1,600 ล้านบาท และที่เหลือจะทยอยรับรู้รายได้ไปจนถึงปี 66
ในช่วงที่เหลือของปีนี้ บริษัทยังคงมุ่งเน้นในงานด้านพลังงานทดแทน โดยเฉพาะการดำเนินการก่อสร้างโซลาร์รูฟท็อปแบบ Private PPA จะมีด้วยกัน 3 รูปแบบ คือ การรับก่อสร้างและติดตั้ง (EPC), การร่วมทุนกับพันธมิตร 50:50 และ DEMCO ลงทุนทั้ง 100% เพื่อขายไฟฟ้าให้กับลูกค้า โดยบริษัทวางเป้าหมายกำลังการผลิตไว้ที่ 20 เมกะวัตต์ในปี 65 ปัจจุบันได้มาแล้ว 1.76 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 10 โครงการ กำลังการผลิตรวม 5 เมกะวัตต์ รวมถึงอยู่ระหว่างการเจรจาและการเสนอราคาอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้บริษัทได้ร่วมกับพันธมิตรเข้าประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) ทางภาคใต้ กำลังการผลิต 3 เมกะวัตต์ โดยดำเนินการผ่านบริษัท เด็มโก้ เอ็นเนอร์จี แอนด์ ยูทิลิตี้ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ DEMCO ถือหุ้น 100% เข้าลงทุนในบริษัท สะบ้าย้อย กรีน จำกัด ในสัดส่วน 60% เพื่อประกอบธุรกิจการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า คาดว่าจะมีความชัดเจนในครึ่งหลังของปีนี้
สำหรับธุรกิจก่อสร้างสถานีไฟฟ้าและสายส่งไฟฟ้าแรงสูง บริษัทก็เตรียมเข้าประมูลงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) อย่างต่อเนื่อง ซึ่ง กฟผ.จะมีการเปิดประมูลงานในส่วนงานก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อย (Substation) เฉลี่ย 10,000 ล้านบาท/ปี ล่าสุดได้รับงานดังกล่าวมาแล้วมูลค่างานประมาณ 500 ล้านบาท และรอเข้าประมูลงานก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อยและสายส่งของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่จะมีการเปิดประมูลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ย 7,000 ล้านบาท/ปี
ส่วนงานของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ปัจจุบันได้เซ็นสัญญางานไฟฟ้าใต้ดิน มูลค่างานในส่วนของ DEMCO จะอยู่ราว 230 ล้านบาท โดยอยู่ระหว่างรอการส่งมอบพื้นที่ อีกทั้งบริษัทยังมีโอกาสได้รับงานก่อสร้างเพิ่มจากบริษัทเอกชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการโซลาร์ฟาร์ม จากหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งจะเป็นโครงการนำร่องเฟสแรก 300 เมกะวัตต์ โดยเปิดโอกาสให้หน่วยงานภาคเอกชนขอรับใบอนุญาต PPA ภายในปีนี้
"แม้จะเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ แต่เรายังคงคว้างานใหม่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง และเดินหน้าเข้าร่วมประมูลงานใหม่ ทำให้ Backlog เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ และแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าจะมีงานใหม่ ๆ เข้ามาจากการลงทุนของภาครัฐ และเอกชน เพื่อรองรับการกลับมาฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย"นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว