นายจักรพงส์ สุเมธโชติเมธา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สากล เอนเนอยี (SKE) เปิดเผยว่า บริษัทฯ คาดแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/64 น่าจะทำได้ใกล้เคียงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/64 หลังมีการปรับพอร์ตธุรกิจใหม่ โดยมีทั้งการขายหุ้นสามัญของ บริษัท อาร์อี ไบโอฟูเอลส์ จำกัด (RBF) ซึ่งประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG) ซึ่งขายให้กับ บริษัท อาร์อี พาวเวอร์ กรุ๊ป จำกัด มูลค่าทั้งสิ้น 21.40 ล้านบาท เมื่อวันที่ 9 เม.ย.64 เนื่องจากภายหลังการเข้าซื้อหุ้น RBF พบว่า RBF มีแนวโน้มสร้างผลตอบแทนให้กับบริษัทไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ โดยมีปัจจัยจากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้คู่ค้าเลือกใช้เชื้อเพลิงที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำที่สุด จึงทำให้ RBF ได้รับการตอบรับจากคู่ค้าประเภทอุตสาหกรรมลดลงอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตามการขาย RBF ไม่ได้มีผลกระทบต่อการดำเนินงานของ SKE อย่างมีนัยสำคัญ แม้ขายไปในมูลค่า 21.40 ล้านบาท ต่ำกว่าราคาที่ซื้อมาประมาณ 28 ล้านบาท
ขณะเดียวกันบริษัทฯ ก็ได้มีการลงนามเข้าซื้อกิจการ บริษัท เอ็น15 เทคโนโลยี จำกัด (N15) ประกอบธุรกิจบริหารจัดการของเสียหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นอันตราย โดยการคัดแยกและแปรรูปขยะ เป็นเชื้อเพลิงทดแทน (Refuse Derived Fuel: RDF) เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.64 โดย SKE ซื้อและรับโอนกิจการทั้งหมดจากบริษัท อัลไพน์ เทคโนโลยี จำกัด และบริษัท แคปปิตอล กรีนเทค จำกัด รวมทั้งทรัพย์สิน หนี้สิน สิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบทั้งหมด
ทั้งนี้บริษัทจะรับรู้รายได้เข้ามาทันที แต่เนื่องด้วยเป็นการซื้อเมื่อต้นเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ทำให้ไตรมาส 2/64 จะรับรู้รายได้เพียงเดือนมิ.ย.64 เท่านั้น
นายจักรพงส์ กล่าวว่า หลังจากการเข้าซื้อ N15 บริษัทฯ ยังคงมองหาโอกาสเข้าลงทุน หรือซื้อกิจการ (M&A) ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับขยะ เพื่อต่อยอดกับธุรกิจของ N15 รองรับกับความต้องการใช้เชื้อเพลิงทดแทนที่จะเพิ่มสูงขึ้น
สำหรับผลการดำเนินงานในปีนี้ บริษัทฯ ยังคงเป้าหมายรายได้เติบโตแตะ 700 ล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 533.66 ล้านบาท โดยมองแผนเปิดประเทศใน 120 วันของนายกรัฐมนตรี น่าจะส่งผลบวกกับทุกธุรกิจ รวมถึง SKE ก็น่าจะได้รับผลบวกจากการใช้เชื้อเพลิง NGV มากขึ้น ในภาวะที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น
ด้านงบลงทุนในช่วงที่เหลือของปี บริษัทฯ วางงบลงทุนไว้ราว 200-300 ล้านบาท เพื่อดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งในรูปแบบโซลาร์รูฟท็อป และโซลาร์ฟาร์ม กำลังการผลิตรวม 20 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ภาคกลางและภาคใต้ อีกทั้งยังวางงบลงทุนอีก 30 ล้านบาท เพื่อใช้ในการปรับปรุงไลน์การผลิต