AOT ชี้เปิดประเทศรอด-ไม่รอดขึ้นกับภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์,ห่วงสายการบินฟื้นช้ากระทบรายได้

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 21, 2021 11:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) เปิดเผยว่า การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในภูเก็ต ตามโครงการ Phuket Sandbox ที่เริ่มในวันที่ 1 ก.ค.64 นี้ ข้อมูลจนถึงขณะนี้คาดว่าจะมีเที่ยวบินจากต่างประเทศเข้ามาในไทยเฉลี่ย 18 เที่ยวบิน/วัน หรือคิดเป็น 5%ของจำนวนเที่ยวบินก่อนเกิดการแพร่ะระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีจำนวน 380 เที่ยวบิน/วัน

อย่างไรก็ตาม ในระยะแรกของการเปิดประเทศ บริษัทไม่ได้คาดหวังปริมาณนักท่องเที่ยวจะมีเข้ามามากนัก เนื่องจากปกติช่วงเวลานี้ไม่ใช่ฤดูการท่องเที่ยว (High Seson) แต่จะเริ่มเข้าสู่ฤดูการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติอย่างจริงจังในช่วงปลายเดือน ต.ค.64

สำหรับการเตรียมพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามานั้น ในส่วนของสนามบิน AOT เตรียมความพร้อมไว้ตลอดเวลา แต่ในส่วนของสายการบินต่าง ๆ และผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยวยังไม่แน่ใจว่าจะพร้อมหรือไม่ เพราะอย่างกรณีของ บมจ.การบินไทย ก็ยังอยู่ในช่วงฟื้นฟูกิจการ ขณะที่บริการภาคพื้นดิน ,คาร์โก้ รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวนอกสนามบิน อาทิ ร้านค้าต่างๆ หลายแห่งก็ปิดดำเนินการ

ทั้งนี้ AOT ยังไม่ได้ประเมินว่าภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์จะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน แต่หากเปิดภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์แล้วเกิดกรณีการระบาดของโควิด ก็อาจจะส่งผลต่อการท่องเที่ยวในระยะต่อไป หรือถึงขั้นกระทบฤดูท่องเที่ยวในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวในเดือน ต.ค.64-ม.ค.65

"มองธุรกิจซบยาว อาจ recover 50% โดยดีมานด์ดีดขึ้นเร็ว แต่มีข้อจำกัดด้านซัพพลาย ถ้าเปิดน่านฟ้าแล้วคาดว่าดีดตัวขึ้นตามที่ดีมานด์ที่อั้นอยู่ เด้งรับแต่ติดซัพพลาย Supply Chain Damage อย่างการบินไทย (THAI) สายการบินแอร์เอเชีย (AAV) ซึ่งไม่รู้ความเสียหายแค่ไหน และสามารถฟื้นฟูธุรกิจไม่เหมือนกัน"นาบนิตินัย กล่าว

นายนิตินัย คาดว่า ธุรกิจการบินในประเทศไทยน่าจะใช้เวลาราว 2 ปีกว่าจะกลับไปที่เดิมก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 หรืออย่างเร็วสุดไม่เกิน 1 ปีครึ่ง เพราะสายการบินต้องจัดเตรียมซื้อน้ำมันล่วงหน้า เช่าเครื่องบิน ไว้ล่วงหน้าอย่างน้อย 1 ปี ดังนั้น AOT จึงรับผลกระทบไปด้วย อย่างน้อยก็คือค่าธรรมเนียมสนามบิน (PSC) ก็ไม่สามารถเก็บได้ตามปกติ โดยเฉพาะกับการบินไทย ซึ่งมี slot ที่สนามบินสุวรรณภูมิเกินกว่า 50% ดังนั้น บริษัทจึงยังต้องประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ในงวดปี 65 (ต.ค.64-ก.ย.65) หากในช่วง 4 เดือนแรก ธุรกิจท่องเที่ยวเกิดสะดุด ก็อาจทำให้งวดปี 65 สุ่มเสี่ยงประสบผลขาดทุน ขณะเดียวกันบริษัทเลื่อนเปิดใช้อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1 : SAT-1) โดยจะนำเครื่องบินที่จอดทิ้งไว้กว่า 60 กว่าลำย้ายมาจอดบริเวณ SAT-1

ส่วนสภาพคล่องของบริษัทปัจจุบันมีอยู่ 2.2 หมื่นล้านบาท และคาดว่าในงวดปี 65 จะกู้เงินที่ขอวงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาทจากคณะกรรมการบริษัทไว้แล้ว โดยอาจเป็นหุ้นกู้หรือเงินกู้ยืม ซึ่งจะทำเรทติ้งและประเมินว่าจะเป็นการกู้ในระยะสั้นหรือระยะยาว ขึ้นกับการฟื้นตัวของธุรกิจว่าจะช้าหรือเร็ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ