นางสาวจิรยง อนุมานราชธน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจย์ แคปปิตอล แอดไวเซอรี จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บมจ. สยามเทคนิคคอนกรีต (STECH) คาดว่า STECH จะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในไตรมาส 3/64 จำนวน 203,500,000 หุ้น คิดเป็น 28.07% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ โดยบริษัทเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรงภายใต้เครื่องหมายการค้า "STEC" ได้แก่ เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง เสาไฟฟ้าคอนกรีตอัดแรง และผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรงต่างๆ ให้แก่ภาครัฐบาลและเอกชน รวมไปถึงการให้บริการขนส่งผลิตภัณฑ์และบริการตอกเสาเข็ม นอกจากนี้ยังให้บริการรับเหมาก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักของบริษัท ได้แก่ งานติดตั้งระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 115 kV และงานออกแบบจัดหาพร้อมติดตั้งเคเบิลใยแก้วนำแสง ด้านนายวัฒน์ชัย มงคลศรีสวัสดิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร STECH เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 64 จะสามารถเติบโตได้ 20-25% โดยได้รับปัจจัยหนุนจากโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐบาลที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่นโครงการทางด่วน โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการรถไฟฟ้า และโครงการไฟรางคู่ เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมามีงานออกมามูลค่ามากกว่า 5 แสนล้านบาท และผู้รับเหมารายใหญ่ที่ชนะการประมูลโครงการส่วนใหญ่เป็นพันธมิตรของบริษัทอยู่แล้วจึงมีโอกาสที่จะได้รับงานเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้เพื่อการก่อสร้างโรงงานสาขา 2 ของจังหวัดชลบุรี ด้วยงบลงทุน 58 ล้านบาทที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการและคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงไตรมาส 4/64 นี้ ส่งผลให้บริษัทมีโรงงานรวมเพิ่มเป็น 10 แห่ง และการปรับไลน์การผลิตในโรงงานจังหวัดสระบุรี ด้วยงบลงุทุน 45 ล้านบาท จะแล้วเสร็จในปี 65 ซึ่งจะช่วยเพิ่มกำลังการผลิตอีก 30% หรือเพิ่มเป็น 430,000 คิวต่อปี จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตอยู่ 381,000 คิวต่อปี ด้วยโรงงาน 9 แห่ง กระจายอยู่ในหลายภูมิภาค ได้แก่ สระบุรี ชลบุรี สุโขทัย ลำพูน บุรีรัมย์ ขอนแก่น อุบลราชธานี และนครราชสีมา และมีโรงงานเสาเข็มสปัน ตั้งอยู่ที่สระบุรี นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาการขยายโรงงานเพิ่มในจังหวัดมุกดาหารเพิ่มเติม คาดใช้งบลงทุนราว 80 ล้านบาท จะเห็นความชัดเจนในปี 66 พร้อมกันนี้ยังเตรียมลงทุนซื้อรถขนส่งผลิตภัณฑ์คอนกรีต มูลค่า 50 ล้านบาท เครื่องกดกันสั่นสะเทือน มูลค่า 65 ล้านบาท และโครงการพัฒนาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตมูลค่า 10 ล้านบาท ภายในปี 64 ส่วนที่เหลือจะนำไปชำระคืนเงินกู้สถาบันการเงินประเภทตั๋วสัญญาใช้เงิน 250-300 ล้านบาท และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานของบริษัท "การขยายโรงงานแห่งใหม่เพิ่มในจังหวัดชลบุรี เพื่อเป็นการรองรับการลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ การลงทุนในโครงการ EEC และการขยายตัวของงานเอกชน โดยบริษัทถือว่ามีความแข้งแกร่งด้านความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากเรามีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ให้บริการที่มีคุณภาพ มีการกระจายที่ตั้งของโรงงานไปในหลากหลายพื้นที่ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคตะวันออก และภาคกลาง ช่วยให้ลดต้นทุนการขนส่ง ลดระยะเวลาการขนส่ง และเรายังคงเน้นการบริหารจัดการต้นทุนด้านอื่นๆด้วย ทำให้ผู้รับเหมาเลือกที่จะใช้เรา"นายวัฒน์ชัย กล่าว