นายชวลิต ถนอมถิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง (RT) เปิดเผยว่า บริษัทคงเป้ารายได้ปีนี้เติบโต 20% จากปีก่อนที่มีรายได้ 2,861 ล้านบาท เนื่องจากปัจจุบันมีงานในมือ (Backlog) แล้ว 3,213 ล้านบาทที่จะทยอยรับรู้รายได้ไปจนถึงปี 66 และมีโอกาสที่สิ้นปีนี้ Backlog จะเพิ่มขึ้นแตะ 7,000 ล้านบาท
ปัจจุบันบริษัทอยู่งานใหม่อีก 1,200 ล้านบาท แบ่งเป็น งานที่ประมูลได้แล้วและอยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญาในไตรมาส 2/64 จำนวน 3 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 581 ล้านบาท และมีงานประมูลที่อยู่ระหว่างรอผลจำนวน 2 งาน มูลค่ารวมประมาณ 619 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของที่อยู่ระหว่างเสนอราคางานอุโมงค์ ซึ่งบริษัทคาดหวังจะได้งานอย่างน้อย 50% ของมูลค่าโครงการ หรือคิดเป็นวงเงินราว 7,500 ล้านบาท
ส่วนแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 2/64 คาดจะฟื้นตัวหลังประสบปัญหาค่าใช้จ่ายในโครงการถนน หมายเลข 22 ตอน หนองขาม-หนองหาน ทำให้กำไรขั้นต้นในไตรมาส 1/64 ปรับตัวลดลง 15.5% จากปีก่อนที่ 113 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันโครงการดังกล่าวได้ดำเนินการส่งมอบเรียบร้อยแล้ว
ประกอบกับ บริษัทจะเริ่มทยอยรับรู้รายได้ตามแผนการดำเนินงานที่วางไว้อย่างต่อเนื่องในไตรมาส 1/64 จากโครงการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่แตง-แม่งัด จ.เชียงใหม่ มีความคืบหน้าแล้ว 71% , งานก่อสร้างอุโมงค์ในโครงการรถไฟทางคู่สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางจิระ สัญญาที่ 3 จ.สระบุรี ถึง จ.นครราชสีมา ความคืบหน้า 91%, งานก่อสร้างประตูระบายน้ำศรีสองรัก กรมชลประทาน จ.เลย ความคืบหน้า 17% และ โครงการก่องสร้างบ่อพักและท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินร่วมกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ความคืบหน้า 52%
ด้านการรุกขยายการรับงานไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะใน CLMV คาดว่าในประเทศลาวจะมีโครงการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ใกล้เคียงไซยะบุรีที่จะรู้ผลในช่วงปลายปี 65 ส่วนประเทศเมียนมา บริษัทเตรียมแผนลงทุนสำหรับโครงการขนาดเล็ก โดยจะเริ่มกลับไปติดตามงานต่อในช่วงปีหน้าหลังสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 คลี่ลคาย
นายชวลิต กล่าวว่า ประเด็นปัญหาขาดแคลนแรงงานระยะสั้น ทางบริษัทคาดว่าภายหลังครึ่งปีหลังนี้ที่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย การใช้แรงงานต่างชาติจะกลับมามากขึ้น และทางบริษัทก็ได้เจาะตลาดแรงงานในต่างจังหวัดเพื่อมาเสริมในส่วนแรงงานที่ขาดไป รวมถึงปัญหาราคาเหล็กที่เพิ่มสูงขึ้นก็ส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากต้นทุนเหล็กคิดเป็น 3-4% จากต้นทุนทั้งหมด โดยโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำศรีสองรัก จ.เลย ก็ได้มีการล็อคราคาเหล็กล่วงหน้าเรียบร้อยแล้ว ทำให้ควบคุมต้นทุนดังกล่าวได้