บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกัน (LOXL08NA) ของ บมจ. ล็อกซเล่ย์ (LOXLEY) ที่ระดับ “BBB+" ด้วยแนวโน้ม “Negative" หรือ “ลบ"
โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงการมีธุรกิจที่หลากหลาย ความมีชื่อเสียง และการมีฝ่ายบริหารที่มีความสามารถและประสบการณ์ยาวนานซึ่งทำให้บริษัทมีบทบาทที่แข็งแกร่งในธุรกิจหลายประเภททั้งด้านเทคโนโลยีและการค้า อย่างไรก็ตาม จุดเด่นดังกล่าวถูกลดทอนลงบางส่วนจากอัตราส่วนผลกำไรที่ค่อนข้างต่ำโดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจการค้า และความผันผวนของรายได้ที่มาจากงานโครงการต่างๆ
สำหรับแนวโน้มอันดับเครดิต “Negative" หรือ “ลบ" นั้น ทริสเรทติ้งจะติดตามความต่อเนื่องของผลประกอบการของบริษัทล็อกซเล่ย์ ซึ่งดีขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2550 รวมถึงกระแสรายได้อย่างใกล้ชิดต่อไปเนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่ของบริษัทมาจากโครงการซึ่งมักจะมีความผันผวน ทั้งนี้ หากไม่มีผลกระทบด้านลบอื่นๆ ผลประกอบการที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจะเป็นผลบวกต่อแนวโน้มหรืออันดับเครดิตของบริษัท แต่ถ้าหากผลประกอบการของบริษัทในช่วงครึ่งหลังของปี 2550 ถดถอยลง ก็จะเกิดผลกระทบในทางลบแก่อันดับเครดิตของบริษัททันที
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทล็อกซเล่ย์เป็นผู้ประกอบธุรกิจโฮลดิ้งซึ่งในช่วงกลางปี 2550 ได้มีการปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจหลักใหม่เป็น 5 กลุ่ม คือ กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีและสารสนเทศ กลุ่มธุรกิจการค้า กลุ่มธุรกิจโครงการ กลุ่มธุรกิจบริการ และกลุ่มธุรกิจค้าร่วม โดยกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีและสารสนเทศแบ่งออกเป็น 3 สายธุรกิจ ได้แก่ เทคโนโลยีสารสนเทศ โทรคมนาคม และสินค้าอุปโภคบริโภคอิเล็กทรอนิกส์
ในขณะที่กลุ่มธุรกิจการค้าหลักประกอบด้วย สินค้าอุปโภคและบริโภค เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ในขณะที่กลุ่มธุรกิจโครงการนั้นมีงานโครงการจ้างเหมาระบบสาธารณูปโภคของภาครัฐเป็นหลัก
ส่วนกลุ่มธุรกิจค้าร่วมนั้นมีการลงทุนร่วมกับบริษัทชั้นนำระดับโลก เช่น บริษัท บีพี จำกัด (มหาชน) บริษัท บลูสโคปสตีล จำกัด (ประเทศออสเตรเลีย) และกลุ่มบริษัทฟูรุกาวา เป็นต้น ส่วนกลุ่มธุรกิจบริการนั้นจะมีธุรกิจหลักคือสลากออนไลน์และงานบริการรักษาความปลอดภัย ซึ่งในแต่ละกลุ่มธุรกิจจะมีผู้บริหารระดับสูงที่มีประสบการณ์กับบริษัทเป็นเวลานาน การปรับโครงสร้างธุรกิจในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์แก่บริษัทโดยจะเพิ่มความแข็งแกร่งในการผสานธุรกิจและใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างกลุ่มธุรกิจ
ด้วยประสบการณ์ที่ยาวนานกว่า 60 ปี บริษัทได้วางรากฐานและรักษาสัมพันธภาพที่ดีทั้งกับลูกค้าและตัวแทนจำหน่าย จุดแข็งที่สำคัญของบริษัทคือความชำนาญและประสบการณ์ของคณะผู้บริหารและพนักงาน โดยบริษัทมีพนักงานทั้งในด้านเทคนิคและวิศวกรรมที่มีความสามารถซึ่งได้รับการฝึกอบรมจนเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางซึ่งช่วยให้บริษัทสามารถเสนอสินค้าและบริการที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับหุ้นส่วนธุรกิจซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายและตัวแทนจำหน่ายซึ่งช่วยเสริมความสามารถในการแข่งขันให้แก่บริษัทในการประมูลงานโครงการต่างๆ
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทล็อกซเล่ย์ ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐและบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ โดยลักษณะงานส่วนใหญ่ของกลุ่มลูกค้าภาครัฐเป็นงานประมูล ดังนั้น กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทบางส่วนจึงขึ้นอยู่กับผลสำเร็จของการประมูลงานและความสามารถในการบริหารโครงการของบริษัท
ส่วนรายได้จากการขายสินค้าและบริการซึ่งส่วนใหญ่มาจากกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค เคมีภัณฑ์ และเครื่องอุปโภคบริโภคอิเล็กทรอนิกส์อยู่ระหว่าง 5,600-6,300 ล้านบาทในปี 2546-2549 และ 3,465 ล้านบาทสำหรับ 6 เดือนแรกของปี 2550 โดยสัดส่วนของรายได้จากการขายสินค้าและบริการอยู่ที่ 57%-65% ระหว่างปี 2546-2549 และ 71% สำหรับ 6 เดือนแรกของปี 2550 เนื่องจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากงานบริการรักษาความปลอดภัยในสนามบินซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2549 อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทก่อนรวมรายได้จากเงินปันผลเพิ่มขึ้นจากระดับ -3.79% ในปี 2548 เป็น 1.24% ในปี 2549 และ 6.70% สำหรับ 6 เดือนแรกของปี 2550 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการปรับโครงสร้างใน 2 ธุรกิจหลักคือสินค้าอุปโภคบริโภคอิเล็กทรอนิกส์และกลุ่มบริษัทล็อกซบิท นอกจากนี้ ผลประกอบการของธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคและเทคโนโลยีสารสนเทศยังปรับตัวจาก 0.06 % และ -4.8 % ในปี 2549 เป็น 1.66% และ 8.7% สำหรับ 6 เดือนแรกของปี 2550 ตามลำดับ
นอกเหนือจากธุรกิจหลักของบริษัทเองแล้ว กระแสเงินสดส่วนใหญ่ของบริษัทยังมาจากรายได้ค่าธรรมเนียมและรายได้อื่น ตลอดจนเงินสดรับจากเงินปันผลที่บริษัทได้ลงทุนไว้ในบริษัทหลายแห่ง เช่น บริษัท แอสแพค ออยล์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท บลูสโคป สตีล ไลสาจท์ (ไทยแลนด์) จำกัด และ บริษัท บลูสโคป สตีล (ไทยแลนด์) จำกัด (กลุ่มบริษัทบลูสโคป) บริษัท ล็อกซเล่ย์ ไวร์เลส จำกัด บริษัท น้ำหวานลาว จำกัด บริษัท ล็อกซเล่ย์ เทรดดิ้ง จำกัด และ บริษัท ไทยไฟเบอร์ออพติคส์ จำกัด เป็นต้น
บริษัทหลักที่จ่ายเงินปันผลให้แก่บริษัทในช่วง 3 ปีหลังคือ บริษัท แอสแพค ออยล์ (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่นยี่ห้อ “คาสตรอล" และ “บีพี" เงินปันผลที่ได้รับลดลงเรื่อยๆ จาก 180.3 ล้านบาทในปี 2547 เป็น 117.6 ล้านบาทในปี 2548 62 ล้านบาทในปี 2549 และ 37.6 ล้านบาทสำหรับ 6 เดือนแรกของปี 2550 ด้วยสาเหตุจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจากการแข่งขันที่รุนแรง และการควบคุมราคาน้ำมันหล่อลื่นโดยภาครัฐ อย่างไรก็ตาม บริษัทคาดว่าจะได้รับเงินปันผลเต็มปีสำหรับปี 2550 ที่มากกว่าปี 2549 เนื่องจากบริษัทแอสแพค ออยล์ (ประเทศไทย) มีกำไรสุทธิสำหรับครึ่งแรกของปี 2550 ถึง 172 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าในช่วงเดียวกันของปี 2549 ที่มีกำไรสุทธิเพียง 57 ล้านบาท ในขณะที่กลุ่มบริษัทบลูสโคปยัง ไม่มีการจ่ายเงินปันผลตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมาเนื่องจากมีการลงทุนกำลังการผลิต 90,000 ตันเพื่อรองรับการผลิตเหล็กเคลือบสีและเหล็กเคลือบโลหะผสม
หนี้สินของบริษัทลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (รวมส่วนค้ำประกัน 35% ของภาระหนี้ทั้งหมดของ บริษัท
ล็อกซเล่ย์ จีเทค เทคโนโลยี จำกัด) ลดลงจาก 45.73% ในปี 2548 เป็น 39.52% ในปี 2549 เนื่องจากบริษัทมีผลกำไรจำนวน 750 ล้านบาทจากการขายหุ้นในบริษัทล็อกซเล่ย์ จีเทค เทคโนโลยี ซึ่งทำให้บริษัทมีภาระหนี้ลดลงจากการที่ไม่ได้นำเอางบการเงินของบริษัทล็อกซเล่ย์ จีเทค เทคโนโลยี เข้ามาคำนวณในงบการเงินรวม ปัจจุบันบริษัทถือหุ้น 35% ในบริษัทดังกล่าวและมีภาระค้ำประกันหนี้เงินกู้ในบริษัทแห่งนี้ร่วมกับผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ ตามสัดส่วนการถือหุ้น โดยภาระค้ำประกันของบริษัท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2550 อยู่ที่ประมาณ 422 ล้านบาท (35% จากยอดเงินกู้ 1,205 ล้านบาท) โดยที่ภาระดังกล่าวจะหมดลงเมื่อเริ่มดำเนินโครงการ นอกจากนี้ อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (รวมส่วนค้ำประกัน 35% ของภาระหนี้ทั้งหมดของบริษัทล็อกซเล่ย์ จีเทค เทคโนโลยี) ได้ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 40.95% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2550 เนื่องจากภาระหนี้ระยะสั้นที่เพิ่มขึ้นในช่วงเริ่มดำเนินธุรกิจให้บริการรักษาความปลอดภัย ทริสเรทติ้งกล่าว
--อินโฟเควสท์ โดย สารภี สายะเวส/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--