นายอิทธิพันธ์ เจียกเจิม ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย Investment Products ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผยว่า ในขณะนี้ภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทยมีลักษณะเป็น sideway มีการแกว่งตัวในกรอบแคบๆ ทำให้นักลงทุนทำกำไรจากส่วนต่างของราคาหุ้นได้ไม่มากนัก ในโอกาสนี้ จึงเป็นจังหวะที่ดี บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS) ออกผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ประเภทหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงที่เรียกว่า KIKO ( Knock ? in Knock - out ) เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุน กลุ่ม High Net Worth ของธนาคารในการจัดพอร์ตการลงทุน (Asset Allocation) เพื่อกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ให้มีความหลากหลาย
ทั้งนี้ หุ้นกู้ เป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่ควรจะมีในพอร์ตการลงทุน เพื่อลดความผันผวนของพอร์ตและเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงและผลตอบแทนอยู่ในระดับต่ำ การถือครองมีระยะเวลาหลายปี แต่สำหรับหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงประเภท KIKO เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อน ( Complex product ) สามารถสร้างผลตอบแทนได้มากกว่าหุ้นกู้ทั่วไป แต่ก็มีความเสี่ยงสูงกว่าหุ้นกู้ทั่วไปด้วย เป็นการลงทุนแบบ Knock -in Knock- out ที่มีผลตอบแทนอ้างอิงกับหุ้นสามัญที่อยู่ใน SET 50 โดยจะคัดสรร เลือกเฉพาะหุ้นที่ผ่านการพิจารณาจากผู้เชี่ยวชาญทีม Research ของ SCBS และสอดคล้องกับมุมมองด้านการลงทุนของ CIO office ของ SCB เท่านั้น
การลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง KIKO นักลงทุนสามารถซื้อคูปองได้ด้วยเงินลงทุนขั้นต่ำเพียง 1 ล้านบาทต่อสัญญา ใช้ระยะเวลาในการถือครองประมาณ 6 เดือน ได้รับอัตราผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยประมาณ 10% ต่อปี เฉลี่ยจ่ายเป็นรายเดือนตลอดอายุการถือครอง ซึ่งผลตอบแทนมากกว่าการลงทุนในหุ้นกู้ปกติ และใช้ระยะเวลาในการถือครองน้อยกว่า
ลูกค้าที่สนใจซื้อคูปองการลงทุนใน KIKO จะได้รับคำแนะนำจากทีมที่ปรึกษาด้านการลงทุน ( Relationship Manager ) ในการเลือกหุ้นที่จะมาใช้อ้างอิงในการจ่ายผลตอบแทน ตามระดับผลตอบแทนที่คาดหวัง และสอดคล้องกับระดับความเสี่ยงของผู้ลงทุน โดยหุ้นที่ธนาคารคัดสรรมาลงทุนจะเป็นหุ้นบริษัทขนาดใหญ่ มีปัจจัยพื้นฐานดีจับคู่กัน 2 ตัว จากนั้นธนาคารจะนำเงินไปทำสัญญาอนุพันธ์บนหุ้นที่ลูกค้าเลือกเป็นหุ้นอ้างอิง โดยมีการทำสัญญาอนุพันธ์ตกลงเป็นกรอบกำหนดราคาหุ้นอ้างอิงไว้ ซึ่งลูกค้าจะได้รับใบหุ้นไว้เป็นหลักฐานในการลงทุน เช่น ทำสัญญาหุ้น PTT กับ AOT ไว้ที่ราคา 50 กับ 70 บาท เป็นราคาตั้งต้นที่ 100% ราคากรอบบนที่ 110 % เรียกว่า Knock-out price และราคาลงกรอบล่าง 85% เรียกว่า Knock-in price
โดยผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทน ตามเงื่อนไขการลงทุน ดังนี้
เงื่อนไขที่ 1 สัญญาถูกถอนก่อนครบกำหนดอายุ หากในเดือนใดราคาปิดของหุ้นทั้งสองตัวสูงกว่า หรือเท่ากับ Knock-out price ลูกค้าจะได้รับดอกเบี้ยพร้อมเงินต้นคืนทั้งจำนวนก่อนครบอายุ และถือว่าหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง KIKO ถูกถอนก่อนกำหนด
เงื่อนไขที่ 2 อยู่จนครบอายุสัญญา จะได้รับเงินต้นคืนพร้อมดอกเบี้ยทุกเดือน
เงื่อนไขที่ 3 ลูกค้าได้ดอกเบี้ยทุกเดือน แต่ได้เงินต้นคืนเป็นหุ้น ที่มีราคาต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับราคาตั้งต้น ในกรณีที่ในแต่ละวันราคาปิดของหุ้นอ้างอิงตัวใดตัวหนึ่งต่ำกว่าหรือเท่ากับ Knock-in price และเมื่อครบอายุสัญญา มีหุ้นอ้างอิงตัวใดตัวหนึ่งมีราคาปิดต่ำกว่าราคาตั้งต้น ซึ่งในกรณีนี้ หากลูกค้าถือหุ้นนั้นต่อไป แล้วหุ้นนั้นขึ้นก็ยังมีโอกาสได้รับเงินต้นคืน
ทั้งนี้ การลงทุนใน KIKO ถือเป็นการลงทุนในหุ้นกู้ประเภทหนึ่ง จึงไม่มีค่าธรรมเนียมการซื้อ หากผู้ลงทุนซื้อ KIKO 1 ล้านบาท จะมีมูลค่าหน้าตั๋ว 1 ล้านบาท โดยดอกเบี้ยที่ผู้ลงทุนจะได้รับจะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายตามปกติ
การลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง KIKO เหมาะสำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาหุ้นที่ธนาคารเลือกมาอ้างอิงได้ ต้องการรับผลตอบแทนที่มากกว่าการลงทุนในหุ้นกู้ปกติ และต้องการกระแสเงินสดมาหมุนเวียนจากดอกเบี้ยทุกๆ เดือน เป็นลูกค้ากลุ่ม High net worth (HNW) ตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต ) กรณีเป็นบุคคลธรรมดาต้องมีสินทรัพย์สุทธิตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป หรือมีรายได้ต่อปีตั้งแต่ 4 ล้านบาทขึ้นไป หรือมีเงินลงทุนในหลักทรัพย์ตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป สามารถพิจารณารวมกับคู่สมรสได้
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการลงทุนในหุ้นกู้อนุพันธ์แฝง KIKO ได้แก่ ความเสี่ยงด้านราคา (Price Risk) ความเสี่ยงจากการที่ราคาหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงเปลี่ยนแปลงไป โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น ราคา / ระดับของหลักทรัพย์ / ดัชนีอ้างอิง รวมถึงความผันผวนของหลักทรัพย์ / ดัชนีอ้างอิง อายุคงเหลือของหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง อัตราดอกเบี้ย เป็นต้น โดยราคา / ระดับของหลักทรัพย์ / ดัชนีอ้างอิงจะมีผลกระทบสูงสุด ดังนั้น ผู้ถือหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงจะต้องติดตามข่าวสารข้อมูลของหลักทรัพย์ / ดัชนีอ้างอิงอย่างใกล้ชิดจากเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์อ้างอิง
ความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk) ความเสี่ยงที่บริษัทในฐานะผู้ออกหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงจะไม่สามารถทำการชำระคืนเงินต้น พร้อมทั้งอัตราดอกเบี้ยได้เต็มจำนวนและ/หรือ ได้ตรงตามกำหนดเวลา หรือไม่สามารถส่งมอบปัจจัยอ้างอิงได้ในจำนวนที่ได้ตกลงกัน หรือไม่สามารถปฏิบัติได้ตามข้อกำหนดสิทธิ และ/หรือ ข้อกำหนดเพิ่มเติมเกี่ยวกับราคาของหุ้นกู้ที่ที่มีอนุพันธ์แฝงที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม หากผู้ออกหุ้นกู้ที่อนุพันธ์แฝงหยุดจ่ายเงินต้นหรือผลตอบแทนจะถือว่าเป็นการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งหากผู้ออกหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงประกาศล้มละลายหรือผิดนัดชำระหนี้ ผู้ถือหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงจะมีสิทธิเช่นเดียวกับเจ้าหนี้อื่นของผู้ออกหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง และความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (Liquidity Risk) ผู้ถือหุ้นกู้อนุพันธ์แฝงอาจไม่สามารถขายหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง เนื่องจากมีการจดข้อจำกัดการโอน และการไม่มีตลาดรองสำหรับซื้อขายหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง เป็นต้น