หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจไทยปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวได้แค่ 1.8% และปี 65 อาจขยายตัวลดลงเหลือ 3.9% สะท้อนการฟื้นตัวที่ชะลอลง และยังคาดการณ์ปีนี้ไทยพลิกขาดดุลบัญชีเดินสะพัดราว 1.5 พันล้านดอลลาร์ จากเดิมคาดว่าจะเกินดุล 1.2 พันล้านดอลลาร์ อันเป็นผลจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในประเทศระลอก 3 ยังพบจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ด้วยปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้เงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่า
ในสถานการณ์เช่นนี้หุ้นกลุ่มหลักที่ได้รับประโยชน์จากแนวโน้มเงินบาทอ่อนค่าเป็นหุ้นกลุ่มส่งออก โดยบล.โนมูระ พัฒนสิน ประเมินหุ้นที่ได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทอ่อนค่า ทุก ๆ 1 บาท เป็นบวกต่อกลุ่มเกษตร-อาหาร กำไรสุทธิเพิ่ม 3-1% หุ้นเด่น ได้แก่ หุ้น บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU), บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF), บมจ. เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น (ASIAN), บมจ.นอร์ทอีส รับเบอร์ (NER), บมจ.เอ็กโซติค ฟู้ด (XO) และบมจ. เซ็ปเป้ (SAPPE)
ส่วนกลุ่มชื้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่ากำไรสุทธิเพิ่ม 3-2% ได้แก่ บมจ.เอสวีไอ (SVI), บมจ.ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส (HANA) และบมจ.เคซีอี อิเลคโทรนิคส์ (KCE)
ขณะที่ บล.กสิกรไทย แนะนำหุ้นที่จะได้ประโยชน์จากประเด็นเงินบาทอ่อนค่าต่อในช่วงสั้น และมีแนวโน้มการเติบโตของกำไรที่แข็งแกร่งได้แก่ TU, ASIAN, KCE และ บมจ.คาราบาวกรุ๊ป (CBG) ซึ่งมีรายได้จากการส่งออกประมาณ 45-50% ของยอดขาย
ส่วน บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุ ค่าเงินบาทอ่อนค่ามากสุดในรอบ 1 ปีมาอยู่ที่ 31.83 บาท/ดอลลลาร์ +1.8% W-W เป็นบวกต่อผู้ส่งออกอย่างอิเล็กทรอนิกส์และอาหาร โดยพบว่าค่าเงินบาทที่อ่อนค่าทุก 1 บาท จะเป็นบวกต่อกำไรของกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ราว 3-4% เนื่องจากสัดส่วนรายได้ส่งออกมาก ส่วนกลุ่มอาหารเป็นบวกราว 1% เนื่องจากสัดส่วนส่งออกน้อยกว่า และบางรายขายเป็นเงินบาท พร้อมแนะนำ "ซื้อ" TU, บมจ.จีเอฟพีที (GFPT), บมจ.ไทยฟู้ดส์ (TFG), SAPPE ส่วน KCE และ HANA แนะนำ"เก็งกำไร"
นายสุโชติ ถิรวรรณรัตน์ ผู้จัดการฝ่ายวิจัย บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) กล่าวว่า เงินบาทที่อ่อนค่าลงมาเป็นผลจากการคาดการณ์นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินบาทที่อ่อนค่าลง อีกทั้งล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับลดประมาณการ GDP ไทยปีนี้ลงหลือ 1.8% ก็แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวในทิศทางที่ชะลอลง ในทางทฤษฏีก็มีผลทำให้เงินบาทอ่อนค่าด้วย
อย่างไรก็ดี แนวโน้มเงินบาทที่อ่อนค่านี้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อหุ้นในกลุ่มส่งออก ซึ่งมองหุ้นที่น่าสนใจลงทุนเป็นหุ้น SAT, EPG, HANA, HFT, TU และ ASIAN
ส่วน บล.เคทีบีเอสที ประเมินเงินบาทที่อ่อนค่าต่อเนื่องเป็นผลดีต่อกลุ่มส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ โดยยังคงแนะนำ "เพิ่มน้ำหนักลงทุน" กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ จากแนวโน้มความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าจะเป็นอีกปัจจัยบวกต่ออัตราการทำกำไรของกลุ่ม โดยทุก ๆ 1% บาทอ่อนค่าจะเพิ่ม Gross margin ของ HANA +1% และ KCE +0.5% ตามลำดับ อยู่ระหว่างทบทวนราคาเป้าหมายจากปัจจุบัน KCE อยู่ที่ 70.00 บาท และ HANA อยู่ที่ 68.00 บาท
ประเมินคำแนะนำ 5 หุ้นในกลุ่มส่งออกที่น่าสนใจลงทุนในช่วงเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า
หุ้น ราคาปิด(บาท) ราคาปิด (บาท) ราคาเป้าหมายเฉลี่ย (24 มิ.ย.64) (4 ม.ค.64) (บาท) TU 19.20 13.70 19.28 CPF 26.50 28.50 40.35 ASIAN 15.40 6.60 18.13 HANA 69.50 40.50 61.52 KCE 71.25 42.50 71.91