KSL เล็งตั้งโรงไฟฟ้า SPP 20-30 MW ที่กัมพูชาปี 54/ขยายส่งออกเอทานอล

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday October 25, 2007 10:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          KSL เล็งสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็กในกัมพูชาขนาด 20-30 เมกะวัตต์ เชื่อแนวโน้มกำไรดีจากการขายไฟฟ้า พร้อมเร่งส่งออกเอทานอลปี 51 ปรับสัดส่วนเพิ่มเป็น 60% ตามออเดอร์ที่เข้ามาต่อเนื่อง คาดปี 52 เดินเครื่องโรงผลิตเอทานอลแห่งที่ 2 รองรับการเติบโตของธุรกิจ พร้อมประมาณการรายได้ปีนี้ 8.5-9 พันล้านบาท
นายชลัช ชินธรรมมิตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจ บมจ.น้ำตาลขอนแก่น(KSL)เปิดเผยว่า มีความเป็นไปได้สำหรับแผนลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็กในประเทศกัมพูชา หากปริมาณผลผลิตอ้อยมีมากเพียงพอ
"มีโอกาสสูงมากที่เราจะไปสร้างโรงไฟฟ้าในเขมร ถ้าหากผลผลิตอ้อยมีมากพอเพื่อให้มีกากอ้อยเพียงพอที่จะมาทำโรงไฟฟ้าได้ แต่อาจจะต้องรอให้ผลผลิตอ้อยมีมากก่อน น่าจะเป็น 2 ปีหลังจากที่โรงน้ำตาลในกัมพูชาเปิดหีบอ้อยได้" นายชลัช กล่าวกับ "อินโฟเควสท์"
ตามแผนงานของ KSL คาดว่าโรงงานน้ำตาลเกาะกง ชูการ์ ในกัมพูชาที่มีกำลังการผลิต 5 พันตัน/วัน หรือเป้าหมาย 1 ล้านตัน/ปีจะเริ่มเปิดหีบอ้อยได้ราวต้นปี 52 ซึ่งหลังจากนั้นอีก 2 ปี หรือประมาณปี 54 จึงจะมีแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าว โดยเบื้องต้นคาดว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก(SPP) มีกำลังการผลิตประมาณ 20-30 เมกะวัตต์
นายชลัช กล่าวว่า โอกาสที่ KSL มองเห็นและทำให้มีแผนที่จะลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าในประเทศกัมพูชา เนื่องจากค่าไฟฟ้าที่กัมพูชามีราคาสูงกว่าการขายในประเทศไทย 3-4 เท่า แต่ KSL คงจะไม่มีแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าในลาว เพราะประเทศลาวค่าไฟถูกมาก อีกทั้งลาวมีพลังงานไฟฟ้าอย่างเพียงพอแล้ว
"ที่ลาวคงไม่ทำ ค่าไฟที่ลาวถูก ลงทุนไม่คุ้ม ลาวมีพลังงานไฟฟ้าเพียงพอแล้ว แต่ที่กัมพูชาค่าไฟฟ้าแพงกว่าเมืองไทยตั้ง 3-4 เท่า ลงทุนเท่ากันแต่ขายได้แพงกว่าจะไม่ทำเหรอ แต่ทั้งนี้ก็ต้องให้ปริมาณอ้อยมีเยอะก่อน" นายชลัช กล่าว
สำหรับการขายคาร์บอนเครดิตของโรงงานน้ำตาลขอนแก่นตามโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด(ซีดีเอ็ม)นั้น คาดว่าจะทำให้ KSL มีรายได้เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 30 ล้านบาท เป็นระยะเวลาติดต่อกัน 8 ปี โดยจะเริ่มรับรู้รายได้ตั้งแต่รอบบัญชีปีหน้าเป็นต้นไป
ส่วนกรณีที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้โรงงานน้ำตาลในเครือของ KSL อีก 2 แห่ง คือ โรงงานน้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี และโรงงานน้ำตาลนิวกรุงไทย ย้ายโรงงานและขยายกำลังการผลิตได้นั้น จะทำให้กำลังการผลิตน้ำตาลของ KSL เพิ่มขึ้นประมาณ 40%
ทั้งนี้ การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 ต.ค.50 ได้อนุมัติให้โรงงานน้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี ย้ายโรงงานจาก จ.ชลบุรี ไปอยู่ที่ จ.สระแก้ว และขยายกำลังการผลิตจาก 6,479 ตัน/วัน เป็น 20,400 ตัน/วัน รวมถึงอนุมัติให้โรงงานน้ำตาลนิวกรุงไทย ย้ายจาก อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี ไปอยู่ที่ อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี และขยายกำลังการผลิตจาก 8,385 ตัน/วัน เป็น 20,400 ตัน/วัน
นายชลัช ยังกล่าวถึงแนวโน้มการส่งออกเอทานอลของ KSL ว่า จากเดิมที่ประเมินไว้ว่าสัดส่วนการส่งออกเอทานอลของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 50:50 จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนเพียง 20:80 นั้น อาจจะมีการปรับสัดส่วนการส่งออกเอทานอลใหม่ในปี 51 ให้เพิ่มขึ้นเป็น 60:40 เนื่องจากปัจจุบัน KSL มีคำสั่งซื้อเอทานอลจากต่างประเทศเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และในช่วงปลายเดือนต.ค.นี้ มีสัญญาส่งออกเอทานอลล็อตใหญ่ถึงประมาณ 2 ล้านลิตร
"ส่งออกได้มากกว่า 50% แน่นอน เรารับออเดอร์มาแล้ว อาจจะเป็น 60:40 ปีนี้เราผลิตได้ประมาณ 21 ล้านลิตร ปีหน้าเดินเครื่องเต็มที่คงได้ 45 ล้านลิตร อาจจะขายเมืองไทยแค่ 20 ล้านลิตร ที่เหลือ 25 ล้านลิตรก็ส่งออก" นายชลัช กล่าว
นายชลัช กล่าวว่า ราคาส่งออกเอทานอลในปี 51 อยู่ที่ประมาณ 400-450 ดอลลาร์/พันลิตร โดยผู้นำเข้าสำคัญส่วนใหญ่เป็นประเทศในแถบเอเชีย เช่น จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลี และฟิลิปปินส์ เป็นต้น
ส่วนการขยายกำลังการผลิตเอทานอลเพื่อรองรับการส่งออกที่เพิ่มขึ้นนั้น KSL มีแผนจะสร้างโรงงานผลิตเอทานอลแห่งที่ 2 ที่ จ.ชลบุรี โดยมีกำลังการผลิตประมาณ 1.5-2 แสนลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากกำลังการผลิตของโรงงานขอนแก่นแอลกอฮอล์ในปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 1.5 แสนลิตร/วัน โดยโรงงานแห่งใหม่คาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องได้ราวต้นปี 52
นายชลัช คาดว่า ในปีนี้(พ.ย.49-ต.ค.50) KSL จะมีรายได้ประมาณ 8.5-9 พันล้านบาท โดย 90% ของรายได้หรือประมาณ 6-7 พันล้านบาทจะมาจากธุรกิจน้ำตาล และที่เหลือ 10% จะมาจากธุรกิจโรงไฟฟ้าและเอทานอล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ