นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู (BANPU) เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีแผนนำเงินที่จะได้จากการเพิ่มทุนประมาณ 3.17 หมื่นล้านบาท ไปรองรับการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาด ตามกลยุทธ์ Greener & Smarter ในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ ในประเทศออสเตรเลีย สหรัฐฯ จีน เวียดนาม และญี่ปุ่น
โดยมีเป้าหมายผลักดันสัดส่วนรายได้ธุรกิจพลังงานสะอาดเติบโตมากกว่า 50% และมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 6,100 เมกะวัตต์ ในปี 2568 ซึ่งจะมาจากโรงไฟฟ้าจากพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไป กำลังการผลิต 4,500 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน กำลังการผลิต 1,600 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์, โรงไฟฟ้าพลังงานลม, แบตเตอรี่, Pumped Hydro Energy Storage, โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ และการพัฒนาโซลูชันด้านพลังงาน (Energy Solutions) เป็นต้น
สำหรับการลงทุนเพื่อเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด (Greener Portfolio) ในประเทศออสเตรเลีย กลุ่มบ้านปูได้จัดตั้ง บริษัท Banpu Energy Australia เพื่อดำเนินงานโดยจะมุ่งเน้นใน 3 ด้าน คือ โครงการพัฒนาธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Decarbonization Projects) การพัฒนาโซลูชันด้านพลังงาน (Energy Solutions) และการบริหารจัดการพอร์ตฟอลิโอเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด (Portfolio Optimization)
ล่าสุด ได้ลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว 2 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เบอริล (Beryl หรือ BSF) กำลังการผลิต 110.9 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มานิลดรา (Manildra หรือ MSF) กำลังการผลิต 55.9 เมกะวัตต์ ในรัฐนิวเซาท์เวลส์
นอกจากนี้ โครงการปั๊ม ไฮโดร เอ็นเนอจี สตอเรจ (Pump Hydro Energy Storage Project) ก็เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีและการวิจัยชั้นนำของโลกที่ทางบริษัทฯ ได้รับเงินสนับสนุนจำนวนหนึ่งจากสำนักงานพลังงานทดแทนแห่งออสเตรเลีย (ARENA) และรัฐบาลของรัฐนิวเซาท์เวลส์ในการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการพลังงานน้ำที่สามารถกักเก็บไว้ที่เหมืองใต้ดินในบริเวณที่ทำเหมืองเสร็จสิ้นแล้ว เพื่อสร้างพลังงานหมุนเวียนที่มีต้นทุนต่ำ จ่ายให้กับระบบโครงข่ายไฟฟ้าหลัก ซึ่งคาดว่าจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าขนาด 600 เมกะวัตต์ การจัดหาพลังงานหมุนเวียนผ่านนวัตกรรมในโครงการนี้ ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะต่อยอดระบบนิเวศด้านพลังงานของบ้านปู ให้ก้าวสู่เป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 6,100 เมกะวัตต์ภายในปี 2568
บ้านปูยังสนใจศึกษาธุรกิจเหมืองแร่นิคเกิล ที่ตอบโจทย์กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน (Tech Minerals) ที่สามารถนำมาต่อยอดในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากบริษัทฯ มีฐานการผลิตเหมืองถ่านหินอยู่แล้ว และออสเตรเลียก็ถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสินแร่แห่งอนาคตอยู่มากเช่นเดียวกัน
"บ้านปูยังคงมุ่งมั่นเดินตามกลยุทธ์แผน 5 ปี ต่อยอด Greener & Smarter ขยายพอร์ตพลังงานสะอาด ด้วยแนวทางที่ปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับวิถีธุรกิจแบบ Never Normal ในปัจจุบัน และสอดรับกับเทรนด์พลังงานโลก เดินหน้าเปลี่ยนผ่านองค์กรในทุกประเทศที่บ้านปูดำเนินธุรกิจ นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยเสริมความแข็งแกร่ง สร้างระบบนิเวศทางธุรกิจพลังงาน (Banpu Ecosystem) เพื่อส่งมอบอนาคตพลังงานเพื่อความยั่งยืนภายใต้จุดยืน อนาคตพลังงานเพื่อความยั่งยืน หรือ Smarter Energy for Sustainability ต่อไป" นางสมฤดีกล่าว
ขณะที่บริษัทฯ ก็มองโอกาสเพิ่มการลงทุนพลังงานสะอาดในประเทศไทยด้วย ซึ่งหากมีโอกาส BANPU มีความพร้อมอย่างมาก
ด้านแผนการดำเนินงานของธุรกิจถ่านหินของบ้านปูจากนี้ บริษัทฯ จะไม่มีการลงทุนเพิ่มเติม โดยคาดสัดส่วนรายได้จากธุรกิจดังกล่าวจะปรับตัวลดลงน้อยกว่า 50% ในปี 2568
นางสมฤดี กล่าวว่า สำหรับการเพิ่มทุนดังกล่าวข้างต้น บริษัทกำหนดให้วันที่ 17 ส.ค.64 เป็นวันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิในการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน (Record Date) โดยกำหนดระยะเวลาการจองซื้อและการชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนเพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนระหว่างวันที่ 6-17 ก.ย.64 บริษัทฯ เชื่อมั่นว่าจะได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุน ให้บ้านปูสามารถเติบโตตามแผนกลยุทธ์ Greener & Smarter ที่จะมุ่งไปสู่พลังงานสะอาดมากขึ้น
พร้อมกันนี้บริษัทฯ มีแผนออกและเสนอขายหุ้นกู้จำนวน 3 ชุด แบ่งเป็นอายุ 3,5,10 ปี วงเงินรวม 7,000-10,000 ล้านบาท ในเดือนส.ค.นี้ เพื่อชำระคืนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดอายุ (รไฟแนนซ์) และรองรับการลงทุนเพิ่มเติมในธุรกิจพลังงานสะอาด