ราคาหุ้น BCPG ปรับขึ้น 3.57% หรือ 0.50 บาท มาที่ 14.50 บาท มูลค่าการซื้อขาย 143.47 ล้านบาท เมื่อเวลา 10.06 น. โดยรคาเปิดที่ 14.20 บาท ราคาขึ้นไปสูงสุดที่ 14.50 บาท ราคาต่ำสุด 14.10 บาท นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บีซีพีจี (BCPG) เปิดเผยว่า บริษัทประกาศลงทุนธุรกิจผลิตและจำหน่ายระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ (Utility-Scale Energy Storage System) ประเภทวานาเดียมรีดอกซ์โฟลว์ (Vanadium Redox Flow) วงเงิน 24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในบริษัท วีอาร์บี เอนเนอร์ยี่ (VRB Energy) เพื่อเร่งขยายกำลังการผลิตให้กับโรงงานผลิต VRB-ESS รองรับดีมานด์การเติบโตอย่างรวดเร็วของตลาดแบตเตอรี่ในประเทศจีน ประเทศไทย และประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
บริษัทมองว่าปัจจุบันแนวโน้มธุรกิจพลังงานทดแทนของโลกเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากนโยบายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนของภาครัฐ และจากต้นทุนการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งยังมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ด้วยข้อจำกัดในด้านความผันผวนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน อย่างเช่นพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม ทำให้โรงไฟฟ้าจำเป็นต้องพึ่งพาระบบกักเก็บพลังงานเพื่อการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพ สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องและสร้างเสถียรภาพให้กับระบบสายส่ง
นอกจากนั้น ระบบกักเก็บพลังงานขนาดใหญ่ยังสามารถช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการสร้างโรงไฟฟ้าสำรองขนาดใหญ่เพื่อรองรับช่วงเวลาที่มีความต้องการการใช้ไฟฟ้าสูงของภาครัฐ (Peak Shifting) ดังนั้นระบบ Utility-Scale Energy Storage System คือหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้พลังงานทดแทนสามารถเป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าหลักของประเทศได้อย่างมั่นคง
บริษัทจึงได้รุกเข้าลงทุนในธุรกิจแบตเตอรี่กับกลุ่ม VRB Energy ผู้คิดค้นนวัตกรรมสีเขียวชั้นนำของโลกที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจวิจัย ผลิตและติดตั้งแบตเตอรี่ประเภทวานาเดียมรีดอกซ์โฟลว์ รวมถึงยังมีสิทธิบัตรและทรัพย์สินทางปัญญาหลายประการที่เกี่ยวข้องกับส่วนประกอบ และระบบของแบตเตอรี่ประเภทวานาเดียมรีดอกซ์โฟลว์ ในประเทศจีน อเมริกา และบางประเทศในเอเชีย
สำหรับแบตเตอรี่รีดอกซ์โฟลว์ (Redox Flow) ของ VRB Energy ได้รับความสนใจมากที่สุดในปัจจุบัน เพราะเป็นแบตเตอรี่ที่มีความเสถียรมีต้นทุนต่อหน่วยต่ำ และมีอายุการใช้งานยาวนานที่สุด สามารถเก็บสำรองไฟฟ้าได้เป็นเวลานาน มีความปลอดภัย และมีความสม่ำเสมอในการจ่ายไฟฟ้าได้ดี นอกจากนั้นส่วนประกอบส่วนใหญ่ของแบตเตอรี่ยังสามารถนำไปรีไซเคิลได้ ตอบโจทย์การพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปอย่างยั่งยืน
อีกทั้งเป็นแบตเตอรี่ที่เหมาะสมกับการใช้งานในระดับระบบกักเก็บขนาดใหญ่หรือ Utility Scale เพื่อเชื่อมต่อกับระบบสายส่ง เพื่อรองรับระบบเครือข่ายการผลิตพลังงานไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Generation) หรือโรงไฟฟ้าเสมือนจริง (Virtual Power Plant) ซึ่งเป็นแนวทางการประกอบธุรกิจพลังงานทดแทนในอนาคต ตอบโจทย์ธุรกิจการลงทุนของบริษัทในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าทั้งภายในและต่างประเทศ เป็นการสร้าง Synergy ทำให้บริษัทเข้าถึงเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานไฟฟ้า และสามารถนำมาประยุกต์ร่วมกับการพัฒนาโครงการลงทุนอื่นๆ ในอนาคตได้