นางปรีญาภรณ์ ตั้งเผ่าศักดิ์ กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.เอแอลที เทเลคอม (ALT) เปิดเผยว่า บริษัทวางกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของ ALT Group จะเน้นการให้บริการที่จะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจของลูกค้าทั้งภาครัฐและเอกชนให้มีความคล่องตัว ยกระดับการให้บริการด้วยระบบดิจิทัล ช่วยลดต้นทุน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ผ่านเทรนด์ธุรกิจด้านโทรคมนาคม ได้แก่ เทรนด์ด้านพลังงานอัจฉริยะ, เมืองอัจฉริยะ, แพลตฟอร์มอัจฉริยะ และโครงข่ายครบวงจร
สำหรับเทรนด์ที่ 1 ด้านพลังงานอัจฉริยะ เป็นการประยุกต์ใช้พลังงานสีเขียว และนำเทคโนโลยีมาบริหารจัดการพลังงาน พลังงานทดแทนและบริหารการใช้สินทรัพย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดรวมไปถึงการอำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยแก่ประชาชน โดยใช้เทคโนโลยีด้านพลังงานใหม่ เช่น Smart Grid ซึ่งเป็นโครงข่ายไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาบริหารจัดการ ควบคุมการผลิต ส่ง และจ่ายพลังงานไฟฟ้า รวมทั้งให้บริการกับผู้เชื่อมต่อกับโครงข่ายผ่านมิเตอร์อัจฉริยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Smart Meter หรือมิเตอร์อัจฉริยะมิเตอร์ เครื่องวัดพลังงานไฟฟ้าชนิดใหม่ที่ถูกพัฒนามาเพื่อแทนที่มิเตอร์แบบเดิมที่มีอยู่ (แบบจานหมุน) เพื่ออำนวยความสะดวก โดยไม่จำเป็นต้องส่งพนักงานมาอ่านค่าหน่วยไฟฟ้าและผู้ใช้ไฟฟ้าก็สามารถอ่านหรือคำนวณค่าใช้จ่ายของการใช้พลังงานได้เอง และประโยชน์ที่เด่นชัดคือ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมิเตอร์อัจฉริยะจะสามารถแจ้งเหตุ ไปยังส่วนกลางทันที ดังนั้นจึงตรวจสอบหาจุดที่เป็นต้นเหตุ ที่ทำให้ระบบทำงานผิดพลาดได้ไวกว่าเดิม ลดการเกิดความเสียหายและสร้างความปลอดภัยให้แก่ประชาชน
พลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Rooftop) เปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้าแหล่งผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กที่กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ โดยกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จาก Solar Cell นั้น จะเป็นไฟฟ้ากระแสตรง ผ่านตัวแปลงซึ่งเราสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทันที อนาคตสามารถเก็บพลังงานไว้ในแบตเตอรี่เพื่อใช้งานภายหลัง เป็นแหล่งพลังงานสะอาดและไม่สร้างมลภาวะแก่สิ่งแวดล้อมและไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Co2) เหมือนกับแหล่งพลังงานอื่นๆ
สถานีชาร์จไฟฟ้า ทำหน้าที่เป็นตัวชาร์จพลังงานไฟฟ้าให้กับแบตเตอรี่รถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า โดยสามารถแบ่งการชาร์จออกเป็น 2 ประเภท คือ Normal Charge และ Quick Charge
เทรนด์ที่ 2 เมืองอัจฉริยะ เป็นการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ในการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลอัตโนมัติ เพื่อแก้ปัญหาในด้านต่างๆ ของเมือง รวมทั้งมีความแม่นยำสูง เช่น การเดินทางและการขนส่งอัจฉริยะ การใช้ชีวิตอย่างชาญฉลาด มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่หลากหลาย และสิ่งแวดล้อมที่จะสร้างความปลอดภัย ให้แก่ประชาชนในชีวิตประจำวัน
เทรนด์ที่ 3 แพลตฟอร์มอัจฉริยะ การสร้างแพลตฟอร์มในด้านต่างๆ ที่สามารถรองรับและอำนวยความสะดวกแก่ผู้รับบริการ ให้มีความยืดหยุ่นและหลากหลายเข้ากับสถานการณ์ สามารถปรับเปลี่ยนโซลูชั่นได้ตามความต้องการ ซึ่งจะผลักดันระบบต่างๆให้เป็นดิจิทัลสามารถใช้ในทุกๆ อุตสาหกรรม เช่น การคมนาคมขนส่ง การประกันภัย และอื่นๆเป็นต้น
เทรนด์ที่ 4 โครงข่ายแบบครบวงจร พัฒนาและขยายธุรกิจครอบคลุมด้านเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าโดยนำโครงสร้างพื้นฐานที่ ALT มีในปัจจุบัน มาพัฒนาและต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุดครอบคลุม ในทุกพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะบริเวณ EEC ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ตามนโยบายรัฐบาล เพื่อรองรับการเชื่อมต่อกับ Operators ต่างๆ และยังเป็นการลดความซ้ำซ้อนในการลงทุน
"เทรนด์ธุรกิจทั้ง 4 กลุ่มที่อยู่ภายใต้การดำเนินการของ ALT Group มีส่วนช่วยให้องค์กรทั้งรัฐและภาคเอกชน สามารถยกระดับการให้บริการ และแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดตามความต้องการของผู้รับบริการ เพราะในอนาคตเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทในทุกๆ อุตสาหกรรม ทุกโครงการของ ALT จะมีบทบาทช่วยอำนวยความสะดวก ลดขั้นตอนการทำงาน และเพิ่มประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย" นางปรีญาภรณ์ กล่าว