นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือน มิ.ย.64 พบว่าดัชนีฯในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 106.05 ปรับตัวลดลง 16.1% จากเกณฑ์ร้อนแรงเดือนก่อนมาอยู่ในเกณฑ์ทรงตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน นักลงทุนคาดหวังแผนการฉีดวัคซีนเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ Covid-19 เป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือการไหลเข้าของเงินทุน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ
สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ระบาดของ Covid-19 ระลอกปัจจุบันที่ยืดเยื้อ รองลงมาคือความขัดแย้งระหว่างประเทศ และการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ
ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้
ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ก.ย. 64) อยู่ในเกณฑ์ "ทรงตัว" (ช่วงค่าดัชนี 80 -119) ปรับตัวลดลง 16.1% จากเดือนก่อนมาอยู่ที่ระดับ 106.05
ความเชื่อมั่นนักลงทุนเกือบทุกกลุ่มอยู่ในระดับ "ทรงตัว" ยกเว้นกลุ่มนักลงทุนสถาบันอยู่ในระดับ "ร้อนแรง"
หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด หมวดการแพทย์ (HEALTH)
หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดแฟชั่น (FASHION)
ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ แผนการฉีดวัคซีนเพื่อคลี่คลายสถานการณ์โควิด-19
ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ระลอกปัจจุบันที่ยืดเยื้อ
ผลสำรวจ ณ เดือน มิ.ย.64 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่าความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับตัวลดลง 12.3% อยู่ที่ระดับ 109.91 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับตัวลดลง 44.4% อยู่ที่ระดับ 83.33 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น 9.5% อยู่ที่ระดับ 130.00 และกลุ่มนักลงทุนต่างชาติปรับตัวลดลงอยู่ระดับ 100.00
ในช่วงสองสัปดาห์แรกของเดือน มิ.ย. 64 SET index ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากกระแสเงินลงทุนของกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศที่ทยอยไหลเข้าตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นกลุ่ม Emerging Markets จากปัจจัยหนุนที่ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลง โดยเป็นผลจากการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดี โจ ไบเดน และการปูพรมฉีดวัคซีนในประเทศตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. 64 ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลเชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทย
อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังดัชนีมีความผันผวนจากความไม่แน่นอนในการส่งมอบวัคซีนซึ่งส่งผลต่อแผนการฉีดวัคซีนในประเทศ จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตต่อวันเพิ่มขึ้นสูง การประกาศกึ่งล็อคดาวน์ในกรุงเทพ และจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด รวมถึงคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยลงมาอยู่ที่ 1.8% และ 3.9% ในปี 64 และ 65 ตามลำดับ ส่งผลให้ SET index ณ สิ้นเดือนมิ.ย. 64 ปิดที่ 1,587.79 จุด ปรับตัวลดลง 0.4% จากเดือนก่อนหน้า
ปัจจัยต่างประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ ความคืบหน้าการพิจารณาแผนกระตุ้นเศรษฐกิจและแผนปรับขึ้นภาษีของประธานาธิบดี โจ ไบเดน โดยในการประชุม G20 ในวันที่ 9-10 ก.ค. นี้ ที่จะมีการหารือเรื่องอัตราการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำที่ระดับ 15% ทั่วโลก การประกาศประมาณการ GDP ของ IMF สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศในหลายประเทศ และการเฝ้าระวังการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในเอเชียซึ่งอาจกระทบต่อการส่งออกของไทยได้
ในส่วนของปัจจัยในประเทศ ได้แก่ สถานการณ์การระบาดระลอกปัจจุบันที่ยืดเยื้อซึ่งจะส่งผลต่อภาวะวิกฤติด้านสาธารณสุข แผนการจัดหาและอัตราการเร่งฉีดวัคซีนในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงซึ่งจะกระทบต่อความมั่นใจแก่นักลงทุนต่างประเทศเกี่ยวกับแผนการเปิดประเทศภายใน 120 วันตามประกาศของนายกรัฐมนตรี ผลการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ "ภูเก็ตแซนต์บ๊อกซ์" ในเดือน ก.ค. นี้ และมาตรการภาครัฐในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างใกล้ชิด