นายชนะพันธุ์ พิริยะพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ที คิว อาร์ (TQR) เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์"ว่า ภาพรวมของธุรกิจช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะสดใสกว่าครึ่งปีแรก ตามภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่กลับมาพึ่งพาภาคการส่งออกได้อย่างต่อเนื่อง หลังจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ด้านสถานการณ์ในประเทศคาดว่าจะได้อานิสงส์จากงบประมาณลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนที่ทำให้คนมีความต้องการประกันภัยมากขึ้น แต่ยังคงต้องจับตาดูสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ที่เป็นปัจจัยหลักกดดันภาวะเศรษฐกิจ
"แม้การแพร่ระบาดระลอกสามจะมีความรุนแรงกว่าที่คาด ส่งผลให้การขยายตัวของรถยนต์ในเดือน มี.ค.-เม.ย.ชะลอตัวลงไปบ้าง แต่ยังคงได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของประเทศคู่ค้าหลัก เช่น สหรัฐฯ หรือ จีน ส่งผลให้การส่งออกภาคอุตสาหกรรมกลับเข้ามา ทำให้การขนส่งทางทะเลยังเติบโตได้ แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามเรื่องการกระจายวัคซีนภายในประเทศที่จะทำให้เศรษฐกิจสามารถกลับมาฟื้นตัว ซึ่งจะส่งผลให้เป้าหมายรายได้ปีนี้เติบโต 10% อย่างที่คาดหวังไว้" นายชนะพันธุ์ กล่าว
นายชนะพันธุ์ ยังกล่าวว่า จากข้อมูลของสำนักงานอัตราเบี้ยประกันวินาศภัยพบว่าปัจจุบันมีเบี้ยประกันภัย 88,000 ล้านบาท โดยในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย.64 เบี้ยประกันภัยเติบโต 4.1% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าจะสามารถเติบโตต่อไปได้อีกในอนาคต โดยยังคงได้รับปัจจัยหนุนจากธุรกิจหลักในกลุ่มประกันภัยอัคคีภัยและทรัพย์สิน (Property Insurance) กลุ่มประกันภัยทางทะเลและขนส่ง (Marine Insurance) และกลุ่มประกันภัยรถยนต์ (Motor Insurance)
สำหรับประกันภัยโควิด-19 ปีนี้คาดว่าจะมีเบี้ยประกันอยู่ที่ 2-3 พันล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่ทำปรากฎการณ์สูงถึง 4 พันล้านบาท หรือจำนวนราว 7 ล้านกรมธรรม์ แม้ว่าจะยังคงมีการต่ออายุมากกว่า 50% และมีการซื้อเพิ่มอยู่บ้าง แต่ทางด้านบริษัทประกันภัยหลายแห่งยุติการขายประกันโควิด-19 ไป เนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบันมีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ดูแลลูกค้าได้ลำบาก
ขณะเดียวกันสถานการณ์ของตลาดประกันภัยต่อในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 จะเห็นว่าบริษัทประกันภัยต่อรายใหญ่ ๆ เริ่มที่จะปรับราคาสูงขึ้นประมาณ 25-30% เนื่องจากอัตราผลตอบแทนการลงทุนยังอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับบริษัทประกันภัยมีภาระในการชดเชยค่าสินไหมทดแทนจำนวนมากในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้ในปัจจุบันบริษัทประกันภัยต่อมีความระมัดระวังในการทำธุรกิจมากขึ้น
นายชนะพันธุ์ กล่าวถึงการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ว่า บริษัทยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตามเทรนด์ที่เกิดขึ้นเพื่อให้สามารถตอบสนองผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็น กรมธรรม์ประกันภัยกัญชา ที่พัฒนาร่วมกับบริษัทประกันภัยชั้นนำอย่างกรุงเทพประกันภัยและทิพยประกันภัย ตอบสนองลูกค้ากลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) ตามเทรนด์การปลูกกัญชาในประเทศไทย ครอบคลุมการคุ้มครองทั้ง 3 ระยะไม่ว่าจะเป็น การเพาะปลูก การแปรรูป และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ปัจจุบันกรมธรรม์ดังกล่าวได้รับการอนุญาตจากสำนักงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และมีลูกค้าให้ความสนใจสอบถามเช้ามาแล้ว คาดว่าในอนาคตจะสามารถสร้างรายได้แตะร้อยล้านบาทได้ตามกระแสความนิยมปลูกกัญชา
นอกจากนี้ ยังมีกรมธรรม์ความรับผิดทางวิชาชีพ (Professional Indemnity) ที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดของเจ้าหน้าที่ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรในกรณีทำให้เกิดความเสียหายทางการเงิน อันเกิดจากการละเมิดหรือการกระทำผิดกฎหมาย เพื่อคุ้มครองผู้ถือหุ้นรายย่อยและพนักงานในองค์กรอีกด้วย
สำหรับการประกันภัยไซเบอร์ ทางบริษัทมีการเตรียมความพร้อมอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นการจ้าง IT Consultant ชั้นนำเพื่อมาให้คำปรึกษาด้านระบบการดำเนินงาน และการเตรียมความพร้อมพนักงานให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่อง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (PDPA) รวมไปถึงการจ้าง Cyber Security Operation Center เพื่อช่วยเฝ้าระวังระบบการดำเนินงานของบริษัทตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วย
ทั้งนี้การเลื่อนบังคับใช้กฎหมาย PDPA ออกไปเป็นปีหน้านั้น ทางบริษัทมองว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะมีเวลาเตรียมความพร้อมได้มากขึ้น และหากมีการบังคับใช้แล้วก็จะยิ่งส่งผลให้ประกันภัยไซเบอร์เป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้นอีกด้วย โดยทางบริษัทคาดว่ากลุ่มลูกค้าประกันภัยไซเบอร์จะมีความหลากหลายและมีจำนวนมาก เพราะการป้องกันภัยทางไซเบอร์มีความจำเป็นในทุกธุรกิจที่ต้องใช้ข้อมูลประเภท Sensitive Data ไม่ว่าจะเป็นลูกค้ากลุ่มธนาคาร โลจิสติกส์ การศึกษา โรงพยาบาล หน่วยงานราชการ และโรงงาน เป็นต้น
"TQR มีความสนใจและเตรียมพร้อมเรื่องประกันภัยไซเบอร์มาตลอดหลายปี เราลงทุนไปมูลค่าหลักล้าน เนื่องจากเราเห็นความสำคัญของประกันภัยไซเบอร์ที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เริ่มทำงานผ่านออนไลน์มากขึ้น ซึ่งเป็นการเปิดช่องให้อาชญากรไซเบอร์เข้ามาโจมตี โดยครึ่งแรกของปี 64 อัตราการโดนโจมตีทางไซเบอร์เพิ่มขึ้นมากกว่า 100% ดังนั้นประกันภัยไซเบอร์จึงมีความจำเป็นอย่างมากในการปกป้องข้อมูล รวมไปถึงเราต้องการสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า ว่าทุกข้อมูลจะมีการเฝ้าระวังอย่างมืออาชีพ" นายชนะพันธุ์ กล่าว
ด้านสัดส่วนของธุรกิจภายในปีนี้ ต้องการเพิ่มสัดส่วนธุรกิจนายหน้าประกันภัยต่อแบบพัฒนาช่องทางและผลิตภัณฑ์ใหม่ร่วมกัน (Alternative Business) ให้มากขึ้น โดยจะขยับเข้าไปในธุรกิจการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัย ซึ่งถือเป็นการกระจายความเสี่ยงและเข้ามาช่วยเพิ่มรายได้ของบริษัทอีกช่องทางหนึ่ง พร้อมทั้งต้องการตอบโจทย์ลูกค้าเรื่องความสะดวกและรวดเร็วในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไป โดยปัจจุบันยังคงมองหาพาร์ทเนอร์ที่มีศักยภาพเพื่อมาดำเนินงานร่วมกัน คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายในปีนี้