BT เผยขาดทุนกว่า 2.79 พันลบ.จากตั้งสำรอง CDO ซับไพร์ม-หนี้ NPL

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday October 22, 2007 09:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ธนาคารไทยธนาคาร (BT)ระบุว่า ในงวด ม.ค.- ก.ย.2550 ธนาคารมีผลดำเนินงานขาดทุนสุทธิรวม 2,786 ล้านบาท เปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีผลขาดทุนจำนวน 703 ล้านบาท
สำหรับงบการเงินเฉพาะธนาคาร ในงวด ม.ค.- ก.ย.2550 มีกำไรก่อนรายการพิเศษ จำนวน 2,073 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 229 จากงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีกำไรก่อนรายการพิเศษจำนวน 631 ล้านบาท เนื่องจากมีดอกเบี้ยและเงินปันผล เพิ่มขึ้น 1,418 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 15 ขณะที่ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 452 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 8 มีผลทำให้รายได้ดอกเบี้ย และเงินปันผลสุทธิ (Net Interest Income) เพิ่มสูงขึ้น 966 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 27
สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย (ไม่รวมรายการพิเศษเรื่องการด้อยค่าเงินลงทุน) เพิ่มขึ้น 1,024 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 127 นอกจากนี้รายจ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 247 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 7 จากการขยายสาขาและศูนย์ธุรกิจ
แต่จากผลประกอบการกำไรก่อนรายการพิเศษของธนาคารเพิ่มขึ้นสูงกว่าปีก่อน ตามที่กล่าวข้างต้น แต่ถูกผลกระทบจากรายการพิเศษ ทำให้ต้องตั้งสำรองจำนวน 5,124 ล้านบาท มีผลทำให้ธนาคารมีผลขาดทุนสุทธิในงวด 9 เดือนนี้เป็นจำนวน 3,051 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีผลขาดทุนจำนวน 1,235 ล้านบาท
สำหรับรายการพิเศษที่มีผลกระทบต่องบการเงินของธนาคาร ประกอบด้วย เงินลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ ประเภท Collateralized Debt Obligation (CDO) ประเภท HTM ณ วันที่ 30 กันยายน 2550 จำนวน 330 ล้านเหรียญสหรัฐ ในจำนวนนี้ เงินลงทุนจำนวน 70 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นเงินลงทุนใน CDO ที่มีสินทรัพย์อ้างอิงเป็นตราสารที่หนุนโดยสินเชื่อที่อยู่อาศัยประเภท Sub-Prime (Sub-Prime Residential Mortgage Backed Securities) ซึ่งประกอบด้วย Coriolanus Series 39 จำนวน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ และ Rutland Rated Investment จำนวน 20 ล้านเหรียญสหรัฐ
เนื่องจากปัญหาของตลาด Sub-Prime ที่ยังไม่หยุดนิ่ง และมีแนวโน้มอาจจะเกิดความเสียหายมากไปกว่าเดิม เช่น การ Downgrade ของบริษัทจัดอันดับเครดิต Moody's และ S&P's ในเดือนตุลาคม ดังนั้น เพื่อความระมัดระวังในไตรมาสนี้ ธนาคารจึงตั้งสำรองเผื่อการด้อยค่าของเงินลงทุน CDO ที่เกี่ยวข้องกับ Sub-Prime จำนวน 51.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1,778.4 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมกับสำรองเผื่อการด้อยค่าที่ได้ตั้งไว้เมื่อไตรมาส 2 จะมียอดทั้งสิ้น 59.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นจำนวนมากพอสำหรับรองรับความเสียหายได้
สำหรับเงินลงทุนอีกส่วนหนึ่งจำนวน 260 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นเงินลงทุนใน CDO ที่มีสินทรัพย์อ้างอิงเป็นตราสารที่หนุนโดยลูกหนี้นิติบุคคล (Corporate) ซึ่งปัจจุบันยังมีสภาพที่ดีอยู่กล่าวคือมีการชำระดอกเบี้ยตรงตามกำหนดเวลาและยังไม่เกิดความสูญเสียกับส่วนป้องกันทางเครดิต แต่เพื่อ ความระมัดระวังธนาคารได้ตั้งสำรองเผื่อการด้อยค่าไว้จำนวน 4.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 154.2 ล้านบาท
ขณะที่ตราสาร CDO ประเภทเผื่อขาย (AFS) ณ 30 กันยายน 2550 มียอดคงเหลือ 75 ล้านเหรียญสหรัฐ ในระหว่างเดือนกันยายน Westways Funding X เกิด Trigger Point เรื่องสภาพคล่อง (แต่มิใช่ Default จากเครดิต) และธนาคารได้รับเงินคืนจำนวน 2.87 ล้านเหรียญสหรัฐ มีผลทำให้เกิดผลขาดทุนจากรายการนี้จำนวน 11.39 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 390 ล้านบาท
ปัจจุบันมี CDO เหลืออยู่เพียง 2 รายการจำนวน 75 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยหนึ่งรายการจำนวน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ ธนาคารได้ตีราคาตามที่ผู้จัดหา (Arranger) เสนอมา ผลต่างบันทึกในส่วนของผู้ถือหุ้นแล้ว และอีกหนึ่งรายการจำนวน 25 ล้านเหรียญสหรัฐ ธนาคารได้ซื้อประกันความเสี่ยงไว้แล้ว และธนาคารไม่มีความเสี่ยงใด ๆ อย่างไรก็ตาม ในเดือนตุลาคม 2550 สำหรับรายการดังกล่าวนี้ ธนาคารได้รับเงินต้นตามตราสารครบถ้วนจากผู้รับประกันโดยไม่มีความเสียหายใด ๆ
และ ในไตรมาสนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธ.ป.ท.) ได้แจ้งให้ธนาคารตั้งสำรองเพิ่มจำนวน 826 ล้านบาทตามเกณฑ์คุณภาพ เช่น ลูกหนี้ที่ไม่สามารถชำระหนี้แต่ผู้ค้ำประกันชำระหนี้แทนและยังผ่อนชำระได้ตามปกติได้ถูกนับเป็นหนี้ NPL หรือ ลูกหนี้ที่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ตามปกติแต่งบการเงินของลูกหนี้มีผลขาดทุนติด ต่อ 3 ปี ได้ถูกนับเป็นหนี้ NPL เป็นต้น จากรายชื่อลูกหนี้ และจำนวนเงินที่ ธ.ป.ท. ได้แจ้งมาให้ตั้งสำรองนั้น เพื่อความรอบคอบ ธนาคารได้ พิจารณาจัดชั้นและสำรองเพิ่มเติมอีก 280 ล้านบาท
การตั้งสำรอง สำหรับลูกหนี้กลุ่มเพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง กรุ๊ป ซึ่งธนาคารได้สำรองเต็มจำนวน สำหรับหนี้สินเชื่อ Cash Loan เมื่องวด 30 มิถุนายน 2550 แล้วนั้น ในส่วนของสินเชื่อ Non-Cash (LG) ที่ องค์การคลังสินค้า (อ.ค.ส.) เรียกร้องให้ชำระเงินจากภาระค้ำประกัน ตามสัญญาซื้อขายข้าวสาร ทั้งหมดจำนวน 111.5 ล้านบาทนั้น ธนาคารได้รับคำยืนยันจากลูกหนี้ให้ระงับการชำระเงิน จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด เนื่องจากลูกหนี้มิได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขในสัญญาแต่ประการใด แต่เป็นเพราะคุณภาพข้าวในคลังสินค้าไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดในสัญญา อย่างไรก็ตามเพื่อหลักความระมัดระวัง ธนาคารได้สำรองร้อยละ 50 ของภาระ ค้ำประกันสัญญาซื้อขายข้าวสารดังกล่าว เป็นจำนวนเงิน 55 ล้านบาท
ยอดขาดทุนสุทธิของงบการเงินธนาคารรวมบริษัทย่อยต่ำกว่างบการเงินเฉพาะธนาคาร สาเหตุจากเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชีเกี่ยวกับการบันทึกเงินลงทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วม โดยตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม2550 ธนาคารได้เปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชีเกี่ยวกับการบันทึกเงินลงทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วม ในงบการเงินเฉพาะกิจการ จากวิธีส่วนได้เสียเป็นวิธีราคาทุน ตามประกาศสภาวิชาชีพบัญชี ฉบับที่ 26/2549 เรื่อง มาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 44 เรื่อง งบการเงินรวมและการบัญชีสำหรับ เงินลงทุนในบริษัทย่อย (แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1) ซึ่งกำหนดให้แก้ไขการบันทึกบัญชี เงินลงทุนในบริษัทย่อย กิจการที่มีอำนาจควบคุมร่วม และบริษัทร่วมในงบการเงินเฉพาะกิจการจากวิธีส่วนได้เสียมาเป็นวิธีราคาทุน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ