นายสาธิต สุดบรรทัด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ผลิตภัณฑ์ตราเพชร (DRT) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่าทิศทางธุรกิจในช่วงครึ่งหลังปี 64 จะมีสถานการณ์ดีกว่าปีก่อน แม้มีการปิดแคมป์ก่อสร้างและมีมาตรการล็อกดาวน์ในเขตกรุงเทพ ปริมณฑลและ 4 จังหวัดชายแดนใต้ก็ตาม แต่ก็คาดว่าจะเป็นเพียงผลกระทบในระยะสั้นเท่านั้น หลังจากนั้นจะกลับสู่สภาวะปกติ ประกอบกับไตรมาส 3/64 ซึ่งเป็นช่วง Low season ของช่องทางจำหน่ายผ่านตัวแทน (Agent) แต่คาดว่าจะมีดีมานด์จากลูกค้างานโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่มีเข้ามาต่อเนื่องจากช่วงครึ่งปีแรก และช่องทาง Modern Trade หรือห้างค้าปลีกวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่ยังเปิดให้บริการได้ตามปกติ รวมไปถึงการขยายไปช่องทางออนไลน์มากขึ้น สร้างความสะดวกและสามารถกระตุ้นยอดขายในกลุ่มผู้บริโภคได้อีกช่องทางหนึ่ง
"แม้จะเผชิญสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกสาม แต่ทางเรายังเชื่อว่ามีทั้งผลบวกและลบ แม้ต้องปิดแคมป์ก่อสร้างในเดือนก.ค. แต่ก็คาดว่าจะเป็นเพียงผลกระทบในระยะสั้น เราก็ไปหารายได้จากช่องทางอื่น เช่นปีนี้ช่องทาง Modern trade ก็ยังคงขายได้อยู่ หรือตลาดออนไลน์ก็ยังคงพัฒนาเพื่อเข้าถึงลูกค้าอย่างต่อเนื่อง และเรายังคงได้รับผลเชิงบวกเรื่องการ Work from Home ที่ทำให้คนหันกลับมาซ่อมแซมดูแลบ้าน ทำให้เรามั่นใจว่ารายได้ปีนี้จะเติบโต 5% ตามที่ตั้งไว้" นายสาธิตกล่าว
โดยทางบริษัทยังวางแผนออกผลิตภัณฑ์ใหม่ในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งในสินค้ากลุ่มหลังคา ผนัง หรือผลิตภัณฑ์ไม้ฝา ก็มีการเจาะลึกลงในเรื่องของเทรนด์สีมากขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์ไม้ฝาคอฟฟี่ซีรีย์ เนื่องจากผู้ประกอบการบางส่วนต้องการปรับปรุงและปรับเปลี่ยนวัสดุต่างๆให้พร้อมรับกับธุรกิจที่กำลังจะฟื้นกลับเข้ามา
สำหรับผลประกอบการไตรมาส 2/64 นายสาธิตคาดว่ายังเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาสแรก และเติบโตกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปีนี้ช่องทางจำหน่ายมีอัตราการเติบโตทุกช่องทาง โดยเฉพาะโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ฟื้นกลับเข้ามา ด้านช่องทางจำหน่าย Modern trade และร้านค้าปลีกขนาดใหญ่สามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ หลังจากในปีก่อนต้องหยุดให้บริการในช่วงมาตรการล็อกดาวน์ และห้างค้าปลีกวัสดุก่อสร้างไม่ว่าจะเป็น Global House, Dohome หรือ ไทวัสดุ มีการขยายสาขาใหม่เพิ่มเติม ทำให้มีคำสั่งซื้อเข้ามามากขึ้น โดยปัจจุบันมี OUTLET ทั้งหมดรวมเกือบ 200 สาขาทั่วประเทศ
อีกทั้งช่องทางตลาดต่างประเทศในปีนี้ที่เริ่มฟื้นตัวและมีอัตราการเติบโตดีกว่าปีก่อน แต่ยังคงเติบโตอยู่ในเลขหลักเดียว จากข้อจำกัดที่ยังไม่สามารถเดินทางข้ามประเทศได้ อย่างไรก็ตามด้านการจัดส่งสินค้ายังคงทำได้ตามปกติ โดยตลาดหลักยังคงเป็นประเทศกัมพูชาและลาว ซึ่งทั้งสองประเทศรวมกันคิดเป็นสัดส่วน 60-70% ของตลาดต่างประเทศ ส่วนที่เหลือยังคงเป็นตลาด CLMV และในกลุ่มอาเซียนก็ยังมีประเทศอื่นอยู่บ้าง
"สินค้าวัสดุก่อสร้างเป็นสินค้าหนักหรือเป็นสินค้าที่ใช้ในภูมิภาคที่มีอากาศคล้ายคลึงกัน ตลาดหลักจึงเป็นตลาดประเทศเพื่อนบ้าน ในกรณีที่ไปไกลกว่านั้นเช่น จีน อินเดีย ก็มีสินค้าผนัง แต่ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดหนัก ก็ต้องหยุดเหมือนกัน เพราะประเทศเขาทำธุรกรรมด้านโลจิสติกส์ไม่ได้เลย ถ้าโควิด-19จบ จะมีแต่บวกกับบวก การทำธุรกรรมจะคล่องตัวมากขึ้น และอัตราการเติบโตจะกลับมาเป็นเลขสองหลัก เพราะดีมานด์จะกลับเข้ามาหลังชะลอตัวมานาน อีกทั้งลูกค้าบางส่วนมองภาพว่าจะต้องสั่งสินค้าเข้าไปมากกว่าปกติ เพื่อสต็อคเอาไว้ ในกรณีที่อาจจะเกิดข้อจำกัดด้านโลจิสติกส์อีกในอนาคต" นายสาธิตกล่าว
นายสาธิตกล่าวถึง โปรเจคท์ Diamond Cafe ว่า เป็นร้านกาแฟสำเร็จรูปภายใต้คอนเซ็ปท์ "สวยครบเซต ตราเพชรทั้งหลัง" ซึ่งออกมาเพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้า SME และลูกค้าที่มีความต้องการออกมาทำธุรกิจส่วนตัวมากขึ้น โดยเจาะตลาดทั้งหมด 5 ไซส์คือ Eco size, S, M, L และ XL โดย Eco size เป็นไซส์ที่ลูกค้าสนใจมากที่สุด ซึ่งใช้งบลงทุนเพียงแค่ 2 แสนบาทเท่านั้น ก็จะได้รับร้านกาแฟสำเร็จรูปขนาด 12 ตารางเมตร และจากการประชาสัมพันธ์ผ่าน Facebook ในเดือนมิ.ย-ก.ค. ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้สนใจมากกว่า 60 ราย ซึ่งคาดว่าปีนี้จะเห็นรายได้จากโครงการดังกล่าวประมาณ 3-4 ล้านบาท
ส่วนการเดินเครื่องจักรเชิงพาณิชย์ NT-11 ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาว่า เครื่องจักร NT-11 เป็นเครื่องจักรผลิตไฟเบอร์ซีเมนต์หรือไม้สังเคราะห์ มีความโดดเด่นคือสามารถผลิตความยาวได้มากกว่าปกติ ส่งผลให้แผ่นผนังไม่มีรอยต่อ ทำให้การก่อสร้างทำได้สะดวกมากขึ้น โดยใช้งบลงทุนด้านเครื่องจักรประมาณ 400 ล้านบาท ปัจจุบันเดินเครื่องอยู่ที่ 80% และมีกำลังผลิต 55,000 ตัน/ปี ส่งผลให้ปัจจุบันบริษัทมีกำลังผลิตทั้งหมดอยู่ที่ 1.15 ล้านตัน/ปี และคาดว่าในปีนี้รายได้จากผลิตภัณฑ์กลุ่มไม้สังเคราะห์จะเพิ่มขึ้นมา 200-300 ล้านบาท จากปีก่อนที่ 830 ล้านบาท
จากการเพิ่มเครื่องจักรเชิงพาณิชย์ NT-11 เข้ามานั้น ทำให้บริษัทมั่นใจว่าในระยะ 1-2 ปีนี้จะมีกำลังผลิตที่เพียงพอ แต่ถ้าหากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย และมีทิศทางเป็นบวก กลับไปเหมือนในปี 62 อาจจะมีการพิจารณาเพิ่มเครื่องจักรที่เป็น Secondary Process นอกจากนี้ยังวางแผนนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เพื่อมาตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคอีกช่องทางหนึ่งด้วย
นายสาธิต ยังกล่าวว่า บริษัทยังมั่นใจว่าในปีนี้จะสามารถรักษาอัตราการกำไรขั้นต้นเฉลี่ยอยู่ที่ 27-29% จากการรักษาระดับการเดินเครื่องจักรไว้ที่ 80-90% ซึ่งทำให้เกิด Economy of Scale รวมไปถึงการบริหารจัดการเรื่อง Product mix ที่มีประสิทธิภาพ และแม้บริษัทจะได้รับผลกระทบจากต้นทุนด้านโลจิสติกส์และวัตถุดิบบางรายการที่ปรับตัวขึ้น เช่นวัตถุดิบเยื่อกระดาษ หรือ เหล็ก แต่ได้มีการเจรจากับทางลูกค้าเพื่อขอปรับราคาสินค้าเรียบร้อยแล้ว
รวมไปถึงแผนควบคุมค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพ ทั้งแผนการลงทุน ซึ่งจะเลือกลงทุนเฉพาะเรื่องที่จำเป็นเท่านั้น เช่นการใช้โรบอท หรือ ระบบ Smart Factory เพื่อลดการใช้แรงงาน โดยตั้งเป้าจะมีโรบอท 50 ตัวภายใน 5 ปี ซึ่งปัจจุบันมีแล้วประมาณ 10 ตัว มูลค่าตัวละ 2 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีการใช้ระบบ IOT (Internet of Things) เพื่อให้ทางส่วนกลางสามารถให้คำปรึกษาผ่านระบบออนไลน์ไปยังโรงงานที่อยู่ในภูมิภาคได้ ซึ่งสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางได้อีกด้วย