นายวรวิทย์ เลิศบุษศราคาม รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บมจ.ทีพีไอโพลีน เพาเวอร์ (TPIPP) เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์" ว่า บริษัทฯ คาดผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/64 จะทำสถิติสูงสุดใหม่ (นิวไฮ) โดยคาดรายได้จากการขายไฟฟ้าจะอยู่ที่ระดับ 2,800 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่มีรายได้อยู่ที่ 2,650 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนด้วย เป็นผลมาจากบริษัทฯ สามารถกลับมาเดินเครื่องได้เต็มที่ ภายหลังหยุดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้า TG8 ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิต (Utilization Rate) ในไตรมาส 2/64 เพิ่มขึ้นมาอยู่ราว 67% จากไตรมาสแรกอยู่ราว 50% ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
ขณะที่แนวโน้มการดำเนินงานในครึ่งปีหลังนี้ บริษัทฯ ก็คาดว่าจะสามารถเพิ่มอัตราการใช้กำลังการผลิตสู่ระดับ 75% จากการขายไฟฟ้าให้กับโรงงานปูนซีเมนต์ของบริษัทแม่ หรือ บมจ.ทีพีไอ โพลีน (TPIPL) เพิ่มเติมอีก 10% ซึ่งจะคิดเป็นหน่วยการผลิตไฟฟ้าเพิ่มอีกกว่า 20 ล้านหน่วยต่อไตรมาส ทำให้มั่นใจว่ารายได้ปีนี้ จะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ที่ 11,000 ล้านบาท ในส่วนของการผลิตไฟฟ้า
นอกจากนี้ในครึ่งปีหลังนี้ยังมีการขาย RDF ให้กับโรงงานปูนซีเมนต์ ซึ่งปัจจุบันได้เดินเครื่องและผลิต เพื่อขายให้กับโรงงานปูนซีเมนต์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเริ่มเดินเครื่องไปในช่วงกลางไตรมาส 2/64 และคาดว่าในครึ่งปีหลังนี้กำลังการผลิต RDF ดังกล่าวจะทยอยเพิ่มขึ้น
"เราคาดว่าครึ่งปีหลังนี้จะเติบโตต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก จากการขายไฟฟ้าให้กับโรงงานปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้น และการขาย RDF ให้กับโรงงานปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้น ทำให้มั่นใจว่ารายได้รวมในปีนี้ที่คาดว่าจะมีรายได้จากการขายไฟฟ้า 11,000 ล้านบาท บวกกับรายได้จากปั๊มน้ำมัน 700-800 ล้านบาท ก็น่าจะใกล้เคียงเป้าหมายที่วางไว้ที่ 11,000-12,000 ล้านบาทได้" นายวรวิทย์ กล่าว
สำหรับความคืบหน้าการลงนามโรงไฟฟ้าขยะ กับเทศบาลนครนครราชสีมา กำลังการผลิตติดตั้ง 12 เมกะวัตต์ และองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา กำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการส่งสัญญาให้อัยการสูงสุดพิจารณา คาดว่าจะมีการลงนามภายในไตรมาส 3/64 ขณะเดียวกันก็อยู่ระหว่างรอทราบผลประมูลโรงไฟฟ้าขยะ อีก 1 โครงการ ที่จ.สระบุรี กำลังการผลิต 40 เมกะวัตต์ คาดจะประกาศผลได้ในไตรมาส 3/64 เช่นกัน โดยหากเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ คาดจะใช้เงินลงทุนราว 4,500 ล้านบาท และจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในช่วงไตรมาส 3/64 ซึ่งแหล่งเงินลงทุนดังกล่าวจะมาจากเงินกู้ยืมจากสถาบันทางการเงิน และการออกหุ้นกู้เพิ่มเติม
อย่างไรก็ตามบริษัทฯ คาดว่า 2 สัญญาข้างต้นที่จะได้รับมา จะส่งผลให้ในส่วนของการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 62 เมกะวัตต์ และคาดว่าจะสามารถชดเชยรายได้จาก Adder ที่หายไป จำนวน 2 โครงการ กำลังการผลิตรวม 75 เมกะวัตต์ ในปี 65 ได้
นายวรวิทย์ กล่าวว่า ส่วนการเข้าประมูลโรงไฟฟ้าขยะชุมชน กำลังการผลิต 400 เมกะวัตต์ ของภาครัฐ บริษัทฯ ไม่มีความสนใจที่จะเข้าประมูลโรงไฟฟ้าดังกล่าว เนื่องจากไม่มีความชำนาญในเรื่องของไบโอแมส และผลตอบแทนไม่ค่อยจูงใจเมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าขยะ