นายบรรยง วิเศษมงคลชัย ประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า บริษัทมองว่าแนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังจะทำได้ดีกว่าครึ่งปีแรก โดยคาดว่าไตรมาส 4/64 จะสามารถทำผลงานได้สูงสุดของปี เนื่องจากคาดว่าการขายทรัพย์ NPA จะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นไปตามฤดูกาลปกติของธุรกิจที่จะมีการขายทรัพย์ออกไปได้มากในช่วงปลายปี
ประกอบกับยังมีโอกาสเข้าซื้อหนี้จากสถาบันการเงินและหน่วยงานต่างๆจะมีการขายมากขึ้นในช่วงปลายปีแม้ว่าในช่วงนี้จะชะลอไปบ้าง แต่จากสถานการณ์โควิดทำให้บริษัทมองว่าในช่วงครึ่งปีหลังกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะนำทรัพย์ NPA และหนี้เสียออกมาขายมากขึ้น เพราะจะมีลูกค้าที่ได้รับผลกระทบและกลายเป็นหนี้เสียมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ต้องขายทรัพย์ NPA และ NPL ออกมาเพื่อลดหนี้เสียลง
BAM จึงมองว่าจะเป็นโอกาสของบริษัทที่จะเข้าประมูลหนี้ที่ได้ราคาดี โดยยังคงวางงบลงทุนซื้อหนี้เข้ามาในปีนี้ที่ 9 พันล้านบาท ขณะที่ปัจจุบันบริษัทมีพอร์ตหนี้ที่อยู่ภายใต้การบริหารรวมราว 2 แสนล้านบาท
นายบรรยง กล่าวว่า แนวโน้มของธุรกิจอาจจะยังมีแรงกดดันอยู่บ้างจากการแพร่ะบาดโควิด-19 ที่ยังรุนแรงต่อเนื่อง ทำให้การจัดเก็บหนี้และการขายทรัพย์อาจจะมีผลกระทบ โดยเฉพาะจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่กระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจและรายได้ของลูกค้า ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลงไปบ้าง และส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้าทำให้การขายทรัพย์อาจจะชะลอไปบ้าง
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังสามารถขายทรัพย์ NPA ในพอร์ตได้อย่างต่อเนื่อง และหันมาเน้นขายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น รวมทั้งยังอยู่ระหว่างศึกษาดีลขายทรัพย์ขนาดใหญ่เพิ่มเติมอีก ซึ่งอาจจะมีการทยอยขายมากขึ้นในช่วงไตรมาส 4/64 หากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 เริ่มคลี่คลายมากขึ้น เพราะปัจจุบันการแพร่ระบาดที่รุนแรงเป็นแรงกดดันต่อดีลการซื้อขายทรัพย์ขนาดใหญ่ ในเรื่องการตัดสินใจซื้อและการต่อรองราคาขาย
นอกจากนั้น บริษัทยังคงเป้าหมายการเรียกเก็บหนี้ 64 ไว้ที่ 1.7 หมื่นล้านบาท โดยในช่วงครึ่งปีแรกทำได้แล้วเกือบ 50% ของเป้าที่ตั้งไว้ หลังจากเรียกเก็บหนี้ได้มากขึ้นเกือบเท่าตัวในช่วงไตรมาส 2/64 หลังจากไตรมาส 1/64 ทำได้ไม่สูงมากนัก หรือเกือบ 3 พันล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากหนี้ที่เลื่อนเก็บมาจากไตรมาสแรก ทำให้บริษัทยังมั่นใจว่าในช่วงครึ่งปีหลังยังสามารถเรียกเก็บหนี้ได้ตามกำหนด
นอกจากนี้ บริษัทมีแผนขยายช่องทางการขายทรัพย์แก่กลุ่มลูกค้ารายย่อย เพราะมองว่าเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพสูง ซึ่งบริษัทได้ให้สิทธิพิเศษในการซื้อทรัพย์สำหรับนักลงทุนที่สนใจ เช่น การยกเว้นค่าธรรมเนียมโอน หรือการให้สิทธิในการวางเงินมัดจำทรัพย์สินส่วนหนึ่งเพื่อนำไปพัฒนาและจำหน่ายได้ทันที เพื่อเป็นการขยายฐานกลุ่มลุกค้าใหม่ๆของบริษัท ทำให้บริษัทมีฐานลูกค้าในการขายทรัพย์มากขึ้น