บมจ.โกลว์ พลังงาน(GLOW)วางเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจผลิตไฟฟ้ารายใหญ่(IPP)เป็น 2 ใน 3 จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนเพียง 1 ใน 3 ขณะเดียวกับการเดินหน้าธุรกิจโคเจนเนอเรชั่น(Cogeneration Facilities)ที่ผลิตไฟฟ้าและไอน้ำซึ่งให้มาร์จิ้นที่ดีและสร้างกำไรให้เติบโต
GLOW คาดว่ารายได้และกำไรสุทธิในช่วงปี 50-52 จะไม่แตกต่างจากปี 49 เพราะไม่มีกำลังการผลิตเพิ่ม แต่ในปี 53 จะเริ่มมีรายได้จากโรงไฟฟ้า SPP เข้ามาน่าจะทำให้รายได้เติบโต 20-30% และหากได้งานประมูลโรงไฟฟ้า IPP อาจโตเป็น 50%
"หลังจากปี 2055 โครงสร้างรายได้หลักจะเป็น IPP จากทุกวันนี้มีรายได้เพียง 1 ส่วน 3 ของรายได้ทั้งหมด ในอนาคตถ้าเราได้ IPP ถ่านหินเข้ามา และ IPP ที่เป็นก๊าซ สัดส่วนรายได้ก็จะเปลี่ยนแปลงไป โดยจะเพิ่มขึ้นมาเป็น 2 ใน 3 และโคเจนก็กลับมาเหลือ 1 ใน 3 อาจจะในที่สุดสัดส่วนจะเป็นครึ่งๆ"นายสุทธิวงศ์ คงสิริ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายการเงิน GLOW กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
นายสุทธิวงศ์ กล่าวว่า ธุรกิจโคเจนฯ ยังเป็นธุรกิจสำคัญ เพราะทำให้บริษัทมีกำไรค่อนข้างดีจากรายได้การขายกระแสไฟฟ้าและไอน้ำ ขณะที่ตัว IPP ที่เข้าประมูล ต้องยื่นเสนอราคาให้ต่ำที่สุด ดังนั้นผลตอบแทนคงไม่ได้มากเท่ากับธุรกิจโคเจนฯ
ธุรกิจโคเจนฯ เติบโตตามภาวะของลูกค้าของบริษัทคือ กลุ่มปิโตรเคมี ซึ่งช่วงนี้มีการขยายกำลังการผลิตมาก โดยเฉพาะการขยายโครงการในเฟส 3 ช่วงอีก 3-4 ปีข้างหน้าในพื้นที่มาบตาพุด ซึ่งโรงงานโคเจนฯ ของ GLOW น่าจะได้รับประโยชน์ เนื่องจากอยู่ในมาบตาพุดเช่นเดียวกัน และลูกค้าส่วนใหญ่ก็อยู่ที่มาบตาพุด
นอกจากนั้น ยังมีโอกาสกลุ่มปิโตรเคมีจะขยายกำลังการผลิตเฟส 4 ไปพื้นที่อื่น เช่น เซาท์เทิร์นซีบอร์ด หรือในเวียดนาม บริษัทก็จะพิจารณาทำเลที่ตั้งตามลูกค้าไปเหมือนกัน
นายสุทธิวงศ์ กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทมีงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าโคเจนฯขนาด 115 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงที่มาบตาพุด โดยกลุ่มลูกค้าหลักเป็นกลุ่มปิโตรเคมีของเครือปูนซิเมนต์ไทย ซึ่งจะสร้างแล้วเสร็จปลายปี 52 และเริ่มทำรายได้ในปี 53
บริษัทยังอยู่ระหว่างรอผลยื่นประมูล SPP ของ กฟผ.1 โรง ขนาด 174 เมกะวัตต์ในพื้นที่มาบตาพุด คาดว่าจะทราบผลในเดือนพ.ย.นี้ และยังมีลูกค้ากลุ่มปิโตรเคมีรายใหญ่ ซึ่งกำลังเจรจาอยู่ ขนาดมากกว่า 100 เมกะวัตต์
นายสุทธิวงศ์ กล่าวว่า หากรวมกับโรงๆไฟฟ้า SPP ที่ประมูลของ กฟผ.จะสร้างโรงไฟฟ้า SPP ขนาด 200-300 เมกะวัตต์ โดยใช้เงินลงทุน 1.2 หมื่นล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปีหรือแล้วเสร็จในปี 53 และปี 54 เริ่มมีรายได้จากการขายไฟฟ้า
ดังนั้น ผลประกอบการในช่วงปี 50 จนถึงปี 53 จะใกล้เคียงกับปีก่อนทั้งรายได้ 3.4 หมื่นล้านบาท และกำไรสุทธิ 5.6 พันล้านบาท เพราะยังไม่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่เกิดขึ้น และคาดว่ารายได้และกำไรในไตรมาส 3/50 จะไม่แตกต่างจากไตรมาส 2/50 ที่มีรายได้รวม 8.1 พันล้านบาท และกำไรสุทธิ 1.25 พันล้านบาท แม้ว่าในไตรมาสมีการปิดซ่อมโรงไฟฟ้า IPP ประมาณ 20 วัน แต่ในไตรมาส 3 ขายโคเจนฯได้น้อยกว่าไตรมาส 2
"เราจะนิ่งไปจนถึงปี 2010 (ปี 53) เพราะช่วงนี้เป็นช่วงเริ่มก่อสร้างใหม่ ในปีนี้ ปีหน้า และปี 2009(ปี 52) ทั้งรายได้ และกำไร น่าจะทรงๆตัว เพราะว่าไม่มีกำลังการผลิตเข้ามาเพิ่มเติม คิดว่าคงไม่แตกต่างจากปีที่แล้วเท่าไร ยกเว้นปีไหนจะมีการหยุดซ่อมบำรุงหรือไม่ โดยปีนี้มีการปิดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้า IPP ประมาณ 20 วันในไตรมาส 2 ขณะที่ปีที่แล้วไม่มีการหยุดซ่อมบำรุง ฉะนั้น ก็เป็นไปได้ว่าปีนี้ก็อาจจะลดลงเล็กน้อย"นายสุทธิวงศ์กล่าว
*มั่นใจได้งานประมูลโรงไฟฟ้า 1 แห่ง
นายสุทธิวงศ์ กล่าวว่า การจัดตั้งบริษัท โกลว์ ไอพีพี 2 โฮลดิ้ง จำกัด(โกลว์ไอพีพี 2) เพื่อรองรับการประมุลโรงไฟฟ้า IPP รอบนี้ ซึ่งบริษัทได้ยื่นประมูลไป 2 โรง เชื่อว่าจะได้งาน IPP 1 แห่ง โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าทีใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ขณะเดียวกัน ในปีหน้าจะเริ่มพิจารณาแผนการลงทุนในต่างประเทศ
"เราเชื่อว่าตัวโรงไฟฟ้าถ่านหินน่าจะมีโอกาสสูง ตั้งอยู่ในมาบตาพุด เพราะโรงไฟฟ้าถ่านหินมีคู่แข่งเข้าประมูลน้อย ที่มีอิตาเลียนไทยฯ(ITD) ล็อกซเลย์ (LOXLEY)ร่วมประมูลด้วย โรงไฟฟ้าถ่านหินของบริษัทเป็นโรงไฟฟ้าสะอาดที่สุด ซึ่งในมาบตาพุดควบคุมมลพิษสูงมาก" นายสุทธิวงศ์ กล่าว
ทั้งนี้ บริษัทได้ยื่นประมูล IPP ในนามบริษัท เก็คโค่-วัน จำกัด ซึ่ง GLOW ถือ 65% ร่วมกับ บมจ.เหมราชพัฒนาที่ดิน (HEMRAJ) 35% โดยเสนอสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเฃื้อเพลิง ขนาด 700 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุน 3.5 หมื่นล้านบาท
ส่วนอีกแห่งยื่นในนามบริษัท บริษัท โกลว์ เหมราช พลังงาน จำกัด ซึ่ง GLOW ได้ถือหุ้น 100% จากก่อนหน้าถือ 60% หลังจาก HEMRAJ ต้องการขายหุ้นออกไปเพราะเห็นว่าใช้เงินลงทุนมาก โดยเสนอสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง ขนาด 700 เมกะวัตต์ เช่นกัน ใช้เงินลงทุน 1.5 หมื่นล้านบาท ทั้ง 2 โรงมีระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี
โกลว์ไอพีพี 2 จะเข้าไปถือหุ้นในบริททั้งสองบริษัทที่เข้ายื่นประมูล IPP เป็นโฮลดิ้งคัมปะนี ทั้งนี้ ณ วันนี้ยังไม่มีแผนลงทุนในต่างประเทศ แต่คาดว่าปีหน้าจะเริ่มจริงจังที่จะพิจารณาลงทุนในต่างประเทศ
นายสุทธิวงศ์ กล่าวว่า ในวันที่ 19 พ.ย.นี้ จะเปิดซองราคาประมูลโรงไฟฟ้า IPP ว่าใครเสนอราคาต่ำสุด หลังจากดำเนินการเซ็นสัญญาซื้อขายไฟจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ระยะเวลา 25 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 55 จนถึงปี 57 โดยในส่วน GLOW ได้เสนอขายไฟสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินในปี 55 และ ปี 56 สำหรับโรงไฟฟ้าจากก๊าซ
--อินโฟเควสท์ โดย เสาวลักษณ์ อวยพร/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--