ADVANC จับมือ OMRON นำเทคโนโลยี 5G ยกระดับภาคการผลิตเป็น Smart Manufacturing

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 29, 2021 16:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ADVANC จับมือ OMRON นำเทคโนโลยี 5G ยกระดับภาคการผลิตเป็น Smart Manufacturing

บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) เปิดเผยว่า AIS Business 5G ได้ลงนาม (MOU) ร่วมกับ บริษัท ออมรอน อีเลคทรอนิคส์ จำกัด หรือ ออมรอน (OMRON) ผู้นำด้าน Smart Manufacturing - Autonomous Mobile Robot เพื่อร่วมเป็นพันธมิตรในการนำ 5G และเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ายกระดับภาคการผลิตในอุตสาหกรรม ส่งโซลูชั่นที่พร้อมตอบโจทย์ภาคการผลิตอัจฉริยะ หรือ Smart Manufacturing ได้อย่างสมบูรณ์

นายธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย หัวหน้าคณะผู้บริหาร กลุ่มลูกค้าองค์กร AIS Business กล่าวว่า จากแผนงานของ AIS ที่มุ่งขยายศักยภาพ 5G เพื่อร่วมยกระดับภาคอุตสาหกรรมและภาคการผลิตนั้น เรายังคงเดินหน้าเชื่อมต่อการทำงานจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้ดิจิทัลเทคโนโลยีเข้าไปมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการทำงานของภาคอุตสาหกรรมในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานร่วมกับพันธมิตรที่จะนำมาซึ่งความแข็งแกร่งของทั้งสองฝ่าย สู่เป้าหมายที่จะร่วมทำให้ภาคอุตสาหกรรมและภาคการผลิตมีเทคโนโลยีเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อน โดยเฉพาะในช่วงระหว่างการแพร่ระบาดที่ต่างต้องปรับตัวให้มีความพร้อม

ครั้งนี้จึงนับว่าเป็นอีกความร่วมมือครั้งสำคัญของ AIS กับพันธมิตรที่มีความแข็งแกร่งด้านวิศวกรรมบนระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์อุตสาหกรรมเพื่อการผลิตอย่าง OMRON นำเทคโนโลยีการสื่อสาร ประยุกต์การเชื่อมต่อเทคโนโลยีการผลิต ผนวก Information Technology (IT) กับ Operation Technology (OT) อย่างไร้ขีดจำกัด

และจะได้ร่วมกันสร้างโซลูชั่นใหม่ ยกระดับภาคการผลิตสู่การเป็น Smart Manufacturing อย่างสมบูรณ์ เพิ่มคุณภาพ ลดต้นทุนการผลิต บนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล AIS 5G ที่มีออกแบบได้ตามความต้องการใช้งานในรูปแบบเครือข่ายเฉพาะ (Private Network) เพิ่มคุณสมบัติด้านความปลอดภัยของข้อมูล เพิ่มความเร็ว ลดความหน่วง (Latency) เพื่อการรองรับการทำงาน IoT ได้อย่างเต็มรูปแบบ

การลงนามความร่วมมือ (MOU) ครั้งนี้ระหว่าง AIS และ OMRON จะเปิดขีดความสามารถใหม่ที่ยั่งยืนให้กับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม บนโครงสร้างพื้นฐาน 5G และดิจิทัลเทคโนโลยีที่ช่วยปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต อาทิ ความสามารถในการผลิตสินค้าที่มีความหลากหลายและยืดหยุ่นต่อข้อกำหนด (Flexible Manufacturing) การลดต้นทุนการผลิตสินค้าจำนวนน้อย (Small Lot Size Production) การสอบย้อนกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรม (Traceability) และระบบซ่อมบำรุงเชิงรุก (Predictive Maintenance) ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วยโซลูชันบนโครงสร้างพื้นฐาน 5G Private Network ที่เพิ่มความปลอดภัย ภายใต้การลงทุนที่เหมาะสม สามารถควบคุมต้นทุนได้ใน ขณะที่ยังคงความสามารถในการผลิต และการแข่งขัน หรือแม้แต่ในเรื่องของการจัดการวัตถุดิบให้ถูกต้อง

รวมถึงการนำเทคโนโลยีควบคุมระยะไกลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ เพิ่มความแม่นยำ ลดเวลาสิ้นเปลืองการใช้แรงงานทำให้บุคลากรสามารถใช้เวลากับการทำงานด้านอื่นได้มากขึ้น ซึ่งทั้งหมดคือภาพของภาคการผลิตแบบอัจฉริยะ หรือ Smart Manufacturing ทั้งนี้จึงเกิดเป็นโซลูชั่นต้นแบบที่จะสร้างประโยชน์จากการนำศักยภาพของทั้งสองมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ

  • หุ่นยนต์รถลำเลียงอัจฉริยะ Autonomous Mobile Robot (AMR) อาศัยแผนที่ในการกำหนดเส้นทาง โดยไม่ต้องตีเส้น ซึ่งการสร้างแผนที่จะให้การทำงานรวดเร็ว ง่ายดาย ที่ตัวอุปกรณ์จะมีเซนเซอร์สแกนพื้นที่โดยรอบบริเวณแล้วนำข้อมูลที่ได้มาสร้างเป็นแผนที่ในการลำเลียงสิ่งของ บนเครือข่าย 5G Private Network

-สายการผลิตแบบยืดหยุ่น Layout-free Production Line การนำเสนอโซลูชั่นที่สามารถสร้างสายการผลิตแบบยืดหยุ่น โดยสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามความต้องการการผลิตและสภาพแวดล้อมของพื้นที่รวมถึงข้อจำกัดอื่นๆ รองรับความต้องการของการจัดสายงานการผลิตที่หลากหลาย สามารถออกแบบให้เหมาะสม ปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็วตามรูปแบบ การใช้งาน

  • การตรวจจับด้วย Sensors ด้วยอุปกรณ์หรือกล้องความละเอียดสูง เก็บข้อมูลที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต เครื่องจักรในพื้นที่โรงงาน และนำไปประมวลผลด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อใช้คาดการณ์ความผิดปกติ เป็นข้อมูลในการตรวจสอบและแก้ไขก่อนเกิดปัญหาต่างๆ ได้ทันที

ความร่วมมือกับ OMRON จะทำให้เอไอเอส มั่นใจว่ามีการขยายฐานด้านBusiness solutuion มีลูกค้าอย่างน้อย 1.2 แสนราย และ มั่นใจว่าความร่วมมือเราจะขยายฐานลูกค้าให้ซึ่งกันละกัน ทั้งนี้ เอไอเอสได้ขยายเครือข่าย 5G ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด โดยในกรุงเทพครอบคลุมมากกว่า 90% ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ครอบคลุมมากกว่า 95% รวมทั้งโรงงาน 3,800-4,00 แห่ง ที่ใช้ 5G ได้ รวมมีผู้ใช้อยู่ 7.19 แสนราย

นางสาวศิริวรรณ คูอัมพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ออมรอน อีเลคทรอนิคส์ จำกัด กล่าวเสริมว่า ความร่วมมือกับ AIS ในครั้งนี้จึงเป็นอีกครั้งสำคัญของ ออมรอน ที่จะเดินหน้ายกระดับเทคโนโลยีโซลูชั่น ด้วยการเชื่อมต่อข้อมูลที่เร็วและเสถียรภายใต้การทำงานของ 5G ซึ่งข้อมูลจะถูกเชื่อมโยงอย่างกว้างขวางไม่ว่าจะเป็นแง่พื้นที่หรือความครอบคลุมของสัญญาน ความหลากหลายของอุปกรณ์ตั้งแต่เซนเซอร์จนถึงหุ่นยนต์ ทุกหน่วยการผลิตจะสามารถเชื่อมโยงกับระบบการจัดการได้ด้วยความปลอดภัยภายใต้ 5G Private Network เพื่อให้ตอบโจทย์การทำงานแบบ Industry 4.0 ซึ่งถือว่าเป็นแนวทางหลักของการขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งเรามีความคาดหวังที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเทคโนโลยีในภาคส่วนของอุตสาหกรรมมีความแข็งแกร่งผ่านการใช้ศักยภาพของทั้ง 2 ฝ่าย โดยเฉพาะในส่วนของการผลิตที่เราจะเข้าไปเพิ่มขีดความสามารถยกระดับการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นนำพาลูกค้าก้าวไปสู่อนาคตด้วยเทคโนโลยี 5G


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ