บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. อีสต์โคสท์ เฟอร์นิเทค (ECF) ที่ระดับ "BB+" ในขณะเดียวกันยังได้เปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น "Stable" หรือ "คงที่" จาก "Negative" หรือ "ลบ" ด้วย
โดยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงยอดขายเฟอร์นิเจอร์ของบริษัทที่เพิ่มขึ้นซึ่งได้ประโยชน์จากกระแสการอยู่บ้านเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) และแรงกดดันต่อโครงสร้างหนี้ที่ผ่อนคลายลงจากการขายการลงทุนในโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทออกไป
อันดับเครดิตที่ระดับ "BB+" ยังคงสะท้อนถึงขีดความสามารถในการแข่งขันที่เพียงพอของบริษัทในตลาดเฟอร์นิเจอร์รวมถึงช่องทางการจัดจำหน่ายที่มั่นคงผ่านร้านค้าปลีกสมัยใหม่ในประเทศไทยและตลาดส่งออก อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีปัจจัยลดทอนจากงบการเงินของบริษัทที่มีภาระหนี้สูง รวมไปถึงความเสี่ยงในการพัฒนาโครงการ "มินบู" ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์กำลังการผลิตขนาด 220 เมกะวัตต์ในประเทศเมียนมา
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
- มีความสามารถในการแข่งขันที่เพียงพอในตลาดเฟอร์นิเจอร์
สถานะทางธุรกิจของบริษัทมีปัจจัยสนับสนุนจากการมีตำแหน่งทางการตลาดที่มั่นคงในฐานะผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ขนาดกลางในประเทศไทย บริษัทถือเป็นผู้รับจ้างผลิตสินค้าให้แก่ผู้ว่าจ้างที่มีแบรนด์ของตัวเอง (Original Equipment Manufacturer ? OEM) เนื่องจากยอดขายเฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นสินค้าที่ผลิตตามคำสั่งของลูกค้า ในการนี้ ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทมีความสามารถในการแข่งขันเพียงพอที่จะรักษาตำแหน่งทางการตลาดของตนเอาไว้ได้โดยมีปัจจัยหนุนจากการที่บริษัทมีโรงงานเป็นของตนเองและมีการประหยัดจากขนาดเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่
อย่างไรก็ตาม สถานะทางธุรกิจของบริษัทก็มีข้อจำกัดจากการแข่งขันด้านราคาในตลาดเฟอร์นิเจอร์เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่เป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ถอดประกอบได้ (Knockdown) และเน้นกลุ่มเป้าหมายในตลาดระดับล่างจนถึงระดับกลาง
- ช่องทางการจัดจำหน่ายที่มั่นคง
บริษัทมีช่องทางการจัดจำหน่ายหลักใน 2 ช่องทาง ได้แก่ การส่งออกและการจัดจำหน่ายผ่านร้านค้าปลีกสมัยใหม่ภายในประเทศ โดยลูกค้าส่งออกของบริษัทนั้นส่วนใหญ่เป็นผู้ค้าปลีกสินค้าเฟอร์นิเจอร์และร้านค้าปลีกสมัยใหม่ในประเทศญี่ปุ่น บริษัทจัดจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางดังกล่าวเป็นระยะเวลายาวนานและช่องทางเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตของยอดขายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในปี 2563 รายได้จากตลาดส่งออกคิดเป็นสัดส่วน 65% ของยอดขายเฟอร์นิเจอร์ทั้งหมดของบริษัท ในขณะที่รายได้จากร้านค้าปลีกสมัยใหม่ภายในประเทศมีสัดส่วนอยู่ที่ 29% ของยอดขายทั้งหมด
- กระแสการอยู่บ้านช่วยเสริมการเติบโตของรายได้
ธุรกิจของบริษัทได้รับประโยชน์จากอุปสงค์เฟอร์นิเจอร์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากซึ่งส่งผลให้ผลการดำเนินงานของบริษัทฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ทั้งนี้ ในปี 2563 ทั้งปี รายได้รวมของบริษัทเพิ่มขึ้น 10% เป็น 1.4 พันล้านบาท โดยช่องทางการส่งออกมีอัตราการเติบโตถึง 23% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน ในขณะที่ยอดขายเฟอร์นิเจอร์ผ่านช่องทางค้าปลีกสมัยใหม่ภายในประเทศเพิ่มขึ้นประมาณ 3.7%
สาเหตุหลักที่ทำให้รายได้ฟื้นตัวมาจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากลูกค้าในประเทศสหรัฐอเมริกาและอินเดีย โดยลูกค้าใหม่เหล่านี้เป็นผู้ค้าเฟอร์นิเจอร์ผ่านทางช่องออนไลน์ซึ่งได้รับประโยชน์ทั้งจากกระแสการอยู่บ้านและความนิยมในการซื้อของออนไลน์ รายได้จากลูกค้าในประเทศสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาอยู่ที่ระดับ 103 ล้านบาทในปี 2563 และ 40 ล้านบาทในช่วง 3 เดือนแรกในปี 2564 จาก 14 ล้านบาทในปี 2562 ในขณะที่ตลาดในประเทศอินเดียก็มีผลการดำเนินงานที่ดีเช่นกัน โดยบริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 79 ล้านบาทในปี 2563 อย่างไรก็ตาม รายได้ในตลาดอินเดียกลับลดลงอย่างมากในไตรมาสแรกของปี 2564 เนื่องจากผลกระทบของการระบาดของโรคโควิด 19 ภายในประเทศที่มีความรุนแรง
ภายใต้สมมติฐานกรณีฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะไต่ขึ้นสู่ระดับสูงสุดครั้งใหม่ที่ 1.6 พันล้านบาทในปี 2564 และหลังจากนั้นจะเติบโตในอัตราที่ช้าลงในช่วงปี 2565-2566 ทั้งนี้ บริษัทสามารถดำเนินการจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าในประเทศอินเดียได้อีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 หลังจากสถานการณ์โรคโควิด 19 ภายในประเทศลดความรุนแรงลง
- ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นทำให้ความสามารถในการทำกำไรลดลง
ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทอยู่ภายใต้แรงกดดันจากการมีต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก โดยอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายลดลงมาอยู่ที่ระดับ 13.7% ในปี 2563 และ 12.6% ในไตรมาสแรกของปี 2564 เมื่อเทียบกับระดับ 17%-18% ในช่วงปี 2560-2562 โดยอัตรากำไรที่ลดลงเป็นผลมาจากราคาไม้พาร์ติเคิลบอร์ดที่พุ่งสูงขึ้นและค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นโดยมีปัจจัยหนุนจากอัตราการใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นของโรงงานและความพยายามของบริษัทในการลดต้นทุนวัตถุดิบ
- โครงสร้างหนี้ต่ำกว่าคาด
ผลการดำเนินงานทางการเงินของบริษัทในปี 2563 ดีกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ โดยปัจจุบันโครงสร้างหนี้ของบริษัทยังคงอยู่ในระดับที่สูง ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานนที่ดีขึ้นเป็นผลมาจากอุปสงค์เฟอร์นิเจอร์ที่แข็งแกร่งในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 และความสำเร็จของบริษัทในการขายเงินลงทุนใน บริษัท เซฟเอนเนอจี โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ดำเนินงานโรงไฟฟ้าชีวมวล ในการนี้ บริษัทได้นำเงินที่ได้จากการขายเงินลงทุนดังกล่าวจำนวน 233 ล้านบาทไปใช้สำหรับการเพิ่มทุนในโครงการมินบู ในระยะที่ 2-4
- สถานะทางการเงินคาดว่าจะดีขึ้น
ทริสเรทติ้งคาดว่าสถานะทางการเงินของบริษัทจะฟื้นตัวขึ้นหลังจากโครงการมินบูในระยะที่เหลือเริ่มเปิดดำเนินการ ทั้งนี้ โครงการในระยะที่ 2-4 ต้องล่าช้าออกไปอันเนื่องมาจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 และความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศพม่า
ภายใต้ประมาณการกรณีพื้นฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่าโครงการมินบูระยะที่ 2 น่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในปี 2565 และระยะที่เหลือจะเริ่มผลิตไฟฟ้าได้ภายในปี 2566 โดยล่าช้าจากแผนก่อนหน้าประมาณ 1 ปี ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าการดำเนินงานโดยรวมของโรงไฟฟ้ามินบู เมื่อผลิตไฟฟ้าได้ครบ 220 เมกะวัตต์ จะทำให้บริษัทมีกระแสเงินสดที่มั่นคงที่ประมาณ 100-120 ล้านบาทต่อปี
โดยทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 300 ล้านบาทในปี 2566 จาก 200 ล้านบาทในปี 2564 ในขณะที่สัดส่วนหนี้ทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายมีแนวโน้มจะลดลงเหลือ 5-7 เท่าและเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้ทางการเงินสุทธิจะเพิ่มขึ้นเป็น 5%-10% ในช่วงประมาณการดังกล่าว
- สภาพคล่องยังคงตึงตัว
ทริสเรทติ้งประเมินว่าสภาพคล่องของบริษัทยังคงตึงตัวอยู่ โดยแหล่งเงินทุนของบริษัทอยู่ในระดับที่สูงกว่าความต้องการใช้เงินในช่วง 12 เดือนข้างหน้าอยู่เล็กน้อย ทั้งนี้ แหล่งเงินทุนของบริษัทประกอบด้วยเงินสดในมือ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 จำนวน 81 ล้านบาทและประมาณการเงินทุนจากการดำเนินงานที่จำนวน 57 ล้านบาท ในขณะที่ความต้องการใช้เงินทุนจะประกอบด้วยเงินลงทุนจำนวน 61 ล้านบาท เงินกู้ที่ต้องชำระภายใน 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 52 ล้านบาท และเงินปันผลอีกประมาณ 12 ล้านบาท
-โครงสร้างเงินทุน
ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 บริษัทมีภาระหนี้จำนวน 1.85 พันล้านบาทซึ่งประกอบด้วยหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนประมาณ 1.47 พันล้านบาท โดยหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนทั้งหมดเป็นหนี้ที่มีหลักประกัน ดังนั้น อัตราส่วนของหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อภาระหนี้รวมจึงอยู่ที่ประมาณ 79.5% เนื่องจากอัตราส่วนของหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อภาระหนี้ทั้งหมดนั้นมีมากกว่า 50% ทริสเรทติ้งจึงมองว่าเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทจะเสียเปรียบอย่างมีนัยสำคัญในเรื่องของสิทธิในการเรียกร้องสินทรัพย์ของบริษัท ดังนั้น อันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ์ไม่มีหลักประกันของบริษัทจะถูกปรับลดลง 1 ขั้นจากอันดับเครดิตองค์กร
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
รายได้จะอยู่ที่ประมาณ 1.6 พันล้านบาทในปี 2564 และจะเติบโตปีละ 1%-2% ในระหว่างปี 2565-2566
ส่วนแบ่งกำไรจากโครงการมินบูจะเพิ่มขึ้นเป็น 100 ล้านบาทในปี 2566 จากประมาณ 30 ล้านบาทในปี 2564
อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายซึ่งรวมกระแสเงินสดจากโครงการมินบูจะเพิ่มขึ้นเป็น 19% ในปี 2566 จากระดับ 13% ในปี 2564
เงินลงทุนประมาณ 60 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2564-2566
อัตราการจ่ายเงินปันผล จะอยู่ที่ระดับ 30% ในระหว่างปี 2564-2566
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ของบริษัทจะยังคงดำเนินไปอย่างราบรื่นและโครงสร้างหนี้จะปรับตัวดีขึ้นเมื่อโครงการมินบูดำเนินการได้อย่างเต็มที่
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
แนวโน้มในการปรับอันดับเครดิตเพิ่มขึ้นนั้นมีจำกัดในระยะเวลาอันใกล้นี้เนื่องจากโครงสร้างหนี้ของบริษัทที่ยังอยู่ในระดับสูง การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากสถานะทางการเงินของบริษัทถดถอยลงไปมากกว่าเดิม ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจเกิดจากผลการดำเนินงานที่อ่อนแอในธุรกิจเฟอร์นิเจอร์และ/หรือการลงทุนที่ใช้การก่อหนี้เพิ่ม การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในโครงการมินบูที่จะก่อให้เกิดผลกระทบในด้านลบต่อกระแสเงินสดของโครงการก็อาจนำมาสู่การปรับลดอันดับเครดิตได้ด้วยเช่นกัน