นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) เปิดเผยว่า สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ในปัจจุบันที่ลากยาวมาต่อเนื่อง ซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และทางภาครัฐมีมาตรการควบคุมที่เข้มงวดออกมา ส่งผลกระทบต่อกลุ่มธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างของบริษัทในช่วงครึ่งปีหลังค่อนข้างมาก โดยเฉพาะมาตรการปิดแคมป์คนงานที่ปิดมาแล้วเป็นระยะเวลา 1 เดือน และคาดว่าหากบางไซต์ก่อสร้างจะกลับมาเปิดได้อีกครั้งอาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการที่ทำเรื่องผ่านการรับรองมาตรการด้านสุขอนามัยในไซต์ก่อสร้าง ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบที่ค่อนข้างนาน ส่งผลให้งานก่อสร้างต่างๆในกรุงเทพฯและปริมณฑลต้องหยุดชะงัก
โดยที่สัดส่วนของงานก่อสร้างในกรุงเทพฯและปริมณฑลที่ถูกมาตรการควบคุมที่ปิดไปชั่วคราวนั้นมีสัดส่วนมากถึง 20% ทำให้ส่งผลต่อยอดขายของกลุ่มธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างที่มีแนวโน้มการชะลอตัวลงในช่วงครึ่งปีหลังของปี 64 อีกทั้งการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลายลง ส่งผลให้คนชะลอการตัดสินใจซื้อและชะลอการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งส่งผลกระทบมาถึงการซื้อของตกแต่งและปรับปรุงบ้านที่ชะลอตัวลงด้วยเช่นกัน ทำให้กลุ่มธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างเป็นธุรกิจที่รับผลกระทบค่อนข้างมากกว่าธุรกิจอื่นๆในเครือของบริษัทในช่วงครึ่งปีหลังนี้
อย่างไรก็ตามบริษัทยังคงได้รับปัจจัยหนุนจากกลุ่มธุรกิจที่อิงกับเศรษฐกิจในต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมี ที่ยังคงได้รับอานิสงส์บวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศขนาดใหญ่อย่างสหรัฐฯและยุโรป ที่สามารถกลับมาเปิดเมืองได้มากขึ้น ทำให้มีความต้องการใช้สินค้าในกลุ่มปิโตรเคมีกลับมาเพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันราคาสินค้าในกลุ่มปิโตรเคมียังมีการปรับตัวสูงขึ้น จากการฟื้นตัวของราคาน้ำมันที่ฟื้นกลับมาได้อย่างรวดเร็ว โดยที่บริษัทยังมองว่ากลุ่มธุรกิจปิโตรเคมียังสามารถสร้างผลงานได้ดีในช่วงครึ่งปีหลัง แม้ว่าอาจจะมีผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ในภูมิภาคอาเซียนที่อาจจะเข้ามาเป็นปัจจัยกดดันต่อยอดขายของกลุ่มปิโตรในภูมิภาคอาเซียนได้บ้างในระยะสั้น
ส่วนธุรกิจแพ็คเกจจิ้งยังเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่สร้างผลงานโดดเด่นมาอย่างต่อเนื่องจากการที่มีความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์สูงขึ้นในการส่งสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าอีคอมเมิร์ชที่เติบโตขึ้นมาก หลังจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้มีการใช้บรรจุภัณฑ์สูงขึ้นตามปริมาณการสั่งซื้อที่เพิ่มสูงขึ้น และบมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) ยังเป็นผู้นำตลาดในประเทศที่มีส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ในกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์มากที่สุด ประกอบกับได้มีการลงทุนขยายธุรกิจออกไปในภูมิภาคอาเซียน เพื่อต่อยอดการเติบโตของรายได้ โดยเฉพาะการลงทุนในเวียดนามที่จะมีการรับรู้รายได้เข้ามาในช่วงครึ่งปีหลังนี้มากขึ้น ทำให้ธุรกิจแพคเกจจิ้งยังเป็นกลุ่มธุรกิจที่หนุนผลการดำเนินงานของบริษัทได้ต่อเนื่องเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตามปัจจัยที่บริษัทมีความกังวลที่อาจจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจได้นั้นเป็นเรื่องการแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ซึ่งหลายๆประเทศในอาเซียนยังคงเผชิญกับการแพร่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน และค่อนข้างควบคุมการติดเชื้อได้ยาก หากปัจจัยดังกล่าวมีแนวโน้มลากยาวต่อเนื่องถึงไตรมาส 4/64 คาดว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมธุรกิจของบริษัทได้ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ซึ่งเป็นปัจจัยที่บริษัทยังเฝ้าติดตาม เพื่อเตรียมแผนรองรับไว้ล่วงหน้า
เนื่องจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ในปัจจุบันเกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อในภาคอุตสาหกรรมหรือในโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น ทำให้บริษัทต้องมีการป้องกันที่เข้มงวดภายในโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อไม่ให้กระทบการผลิตในโรงงานที่ต้องหยุดชะงัก หากมีการติดเชื้อในโรงงานเกิดขึ้น อีกทั้งในส่วนความเสี่ยงของซัพพลายเออร์วัตถุดิบหากโรงงานของซัพพลายเออร์มีการติดเชื้อขึ้นก็จะส่งผลในการส่งมอบวัตถุดิบในการใช้ผลิตเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่บริษัทต้องมีการเตรียมความพร้อมต่อเนื่อง
นอกจากนี้ในส่วนของความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคที่อาจจะมีการชะลอตัวลง หากการแพร่ระบาดโควิด-19 มีแนวโน้มต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาส 4/64 จะกระทบต่อความต้องการซื้อและการจับจ่ายใช้สอยที่ชะลอตัวลงอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งถือเป็นตลาดหลักในภูมิภาคของบริษัท ทำให้บริษัทยังมีความกังวลในเรื่องการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอยู่ในระดับหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามบริษัทยังคงเป้าหมายยอดขายในปีนี้ไว้ที่เติบโต 5-10% หลังครึ่งปีแรกที่ผ่านมาทำยอดขายได้เติบโตสูงถึง 27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ด้านการลงทุนของบริษัทยังคงมองหาโอกาสในการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่ม (HVA) และกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ ESG ซึ่งบริษัทมุ่งเน้นในการต่อยอดธุรกิจไปอีกใน 3-5 ปีข้างหน้า รวมไปถึงการลงทุนต่อเนื่องของธุรกิจอื่นๆในเครือของบริษัททั้งธุรกิจปิโตรเคมีและธุรกิจแพคเกจจิ้ง โดยที่บริษัทยังคงงบลงทุนในปี 64 ไว้ที่ 9 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับการลงทุนที่บริษัทมองเห็นโอกาสในการเข้ามาลงทุนต่อยอดธุรกิจและสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน
โดยล่าสุดบริษัทได้มีมติอนุมัติให้บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนใน PT. Chandra Asri PetrochemicalTbk (CAP) ประเทศอินโดนีเซีย เป็นจำนวนเงิน 434 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.42 หมื่นล้านบาท เพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นใน CAP ที่ 30.57% โดยจะเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนเป็นจำนวนเงิน 327 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะนำไปลงทุนในโครงการ PetrochemicalComplex แห่งที่ 2 (CAP2) และจะลงทุนเพิ่มอีก 107 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากที่ CAP อนุมัติการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้ายในโครงการ CAP2 ซึ่งคาดว่าจะอนุมัติภายในปี 65 ซึ่งการใส่เงินเพิ่มทุนเข้าไปบริษัทยังมองเห็นโอกาสของธุรกิจปิโตรเคมีในอินโดนีเซียที่มีขนาดใหญ่ สามารถเป็นส่วนในการช่วยต่อยอดธุรกิจและขยายตลาดให้กับบริษัทได้
ขณะที่ความคืบหน้าโครงการปิโตรคอมเพล็กซ์ในเวียดนาม ปัจจุบันงานก่อสร้างคืบหน้าไปแล้ว 85% คาดว่าจะสามารถเริ่มเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 66 ซึ่งการเริ่มเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ของโครงการปิโตรคอมเพล็กซ์ในเวียดนาจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อสัดส่วนรายได้ที่มาจากต่างประเทศของบริษัทปรับเพิ่มขึ้นไปมากกว่า 50% ภายในปี 66 เป็นต้นไป จากปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศอยู่ที่ 44% ซึ่งจะทำให้บริษัทมีโอกาสในการสร้างรายได้ที่มาจากต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น ผลักดันการเติบโตที่สูงขึ้นของบริษัทในระยะ 3-4 ปีข้างหน้า
ส่วนการเตรียมความพร้อมของการนำบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ปัจจุบันบริษัทและทีมงานที่ปรึกษาทางการเงินยังอยู่ระหว่างการร่วมกันทำงาน เพื่อดูแนวทางธุรกิจของบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด จะไปในทิศทางใดให้มีความชัดเจนมากขึ้น เพื่อสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจที่มีความแตกต่างและเป็นของตัวเอง ทำให้มีความโดดเด่นกว่าธุรกิจเดียวกันในอุตสาหกรรม และเตรียมการปรับโครงสร้างต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด ได้มีการลงทุนในโครงการต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการร่วมทุน ทำให้มีพันธมิตรที่เกี่ยวข้องจากต่างประเทศทั้งสหรั,ฯและญี่ปุ่น ทำให้บริษัทต้องมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องโครงสร้างธุรกิจให้ชัดเจนก่อนเข้าตลาด โดยที่ในช่วงปลายปี 64 คาดว่าจะเห็นความชัดเจนมากขึ้นในการเตรียมตัวเข้าตลาดของบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด ซึ่งทางบริษัทจะมีการเปิดเผยรายละเอียดต่างๆอีกครั้งในช่วงปลายปีนี้