บล.กสิกรไทย(KS)เตรียมขอใบอนุญาตซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า(อนุพันธ์) หากตลาดเปิดรับสมาชิกใหม่ในปลายปีนี้ ส่วนใบอนุญาตหลักที่มีไม่ครบ 4 ใบก็ยังไม่คิดจะขอให้ครบ โดยมองว่าไม่จำเป็นและไม่คุ้มจ่ายเงินก้อนใหญ่ ขณะที่มีโบรกเกอร์อีก 2 รายที่ไลเซนส์ไม่ครบเช่นกัน
"ในช่วงที่เปิดรับสมาชิก(อนุพันธ์)ก่อนหน้านี้ พอดีมันเป็นช่วงที่เราได้เข้ามาซื้อบริษัทหลักทรัพย์แห่งนี้ ก็เลยทำให้ขอไลเซ่นต์ได้ไม่ทัน ตอนแรกนึกว่าจะเปิดรับสมาชิกในเดือนตุลาคมนี้ แต่ก็เขยิบไปเป็นสิ้นปีนี้ ซึ่งตอนนี้เราก็พร้อมอยู่แล้วมีทีมแล้ว อีกอย่างใบอนุญาตใบนี้จะเสียตังค์ไม่เท่าไร ถือว่าถูกมาก"นายรพี สุจริตกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.กสิกรไทย(KS)กล่าว
นายรพี กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทฯมีใบอนุญาตในการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ก็จะสามารถที่ให้คำปรึกษา, คำแนะนำแก่ลูกค้าในอันที่มีความเกี่ยวเนื่องกันได้อยู่แล้ว แต่หากเป็นธนาคารพาณิชย์ถึงจำเป็นจะต้องมีใบอนุญาตการเป็นที่ปรึกษาการลงทุน ส่วนใบอนุญาตค้าหลักทรัพย์ โดยหลัก ๆ จะเกี่ยวกับการเป็น Dealer ในตลาด OTC ซึ่งยังไม่จำเป็นจะต้องใช้
"ตอนนี้แม้เราจะฟันหลออยู่ แต่ก็ยังไม่จำเป็นจะต้องขอไลเซ่นต์ส่วนที่ขาดมาเสริม เพราะยังไม่เห็นจำเป็น อีกอย่างเรามีไลเซนส์การจัดการกองทุนส่วนบุคคลแล้ว แต่เราก็ยังไม่ได้มีโอกาสได้ใช้ประโยชน์เลย เพราะเรามี บลจ.กสิกรไทยทำหน้าที่ตรงนี้อยู่แล้ว อีกอย่างการขอไลเซนส์ใบใหญ่ก็มีราคาแพง"นายรพี กล่าว
นายรพี กล่าวอีกว่า สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทฯในงวดไตรมาส 3/50 คาดว่าจะสามารถทำได้ตามเป้า และคาดว่ามาร์เก็ตแชร์ทั้งปี 2550 ได้ตามเป้า 1% ซึ่งจะทำให้บริษัทฯถึงจุดคุ้มทุนได้ในปีนี้ โดยเดือนก.ย.มีมาร์เก็ตแชร์กว่า 1% แล้วและขณะนี้อยู่ระหว่างการทำแผนของปีหน้า 2551 และแผนสำหรับ 3 ปี
จากการสำรวจของ"อินโฟเควสท์"พบว่าบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์)ส่วนใหญ่ที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบันมีใบอนุญาตหลักครบทั้ง 4 ใบคือ ใบอนุญาตการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์, ใบอนุญาตการค้าหลักทรัพย์, ใบอนุญาตการเป็นที่ปรึกษาการลงทุน และใบอนุญาตการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์(IB)
ขณะที่มี 3 โบรกเกอร์เท่านั้นที่ยังมีใบอนุญาตไม่ครบ นอกเหนือจาก KS ที่ขาดใบอนุญาตการค้าหลักทรัพย์ และใบอนุญาตที่ปรึกษาการลงทุน, บล.เคทีบี (KTBS)ขาดใบอนุญาตที่ปรึกษาการลงทุน และบล.แอ๊ดคินซัน(ASL) ขาดใบอนุญาตจัดจำหน่ายหลักทรัพย์(IB) แต่ ASL ได้รับอนุญาตให้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ได้แต่เฉพาะประเภทหน่วยลงทุนเท่านั้น
ส่วนโบรกเกอร์ที่ได้รับอนุญาตให้เป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า(อนุพันธ์) มีจำนวน 25 แห่ง ขณะที่โบรกเกอร์ที่ไม่มีใบอนุญาตประเภทนี้ได้แก่ บล.กรุงศรีอยุธยา, บล.กสิกรไทย, บล.โกลเบล็ก, บล.เคทีบี, บล.ซิตี้คอร์ป (ประเทศไทย), บล.ซีไอเอ็มบี-จีเค (ประเทศไทย), บล.ทีเอ็มบี แมคควอรี(ประเทศไทย), บล.บาร์เคลย์ แคปปิตอล(ประเทศไทย), บล.บีฟิท, บล.ฟาร์อีสท์, บล.ฟินันซ่า, บล.ยูไนเต็ด, บล.แอ๊ดคินซัน, บล.ไอ วี โกลบอล และบล.ไอร่า
อนึ่ง คณะกรรมการ ก.ล.ต.ชอบในหลักการให้เปิดเสรีใบอนุญาตธุรกิจหลักทรัพย์ โดยจะให้ใบอนุญาตกับรายใหม่แบบไม่จำกัดจำนวน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 เป็นต้นไป ขึ้นอยู่กับความพร้อมในการประกอบธุรกิจ และเพื่อรองรับอนาคตที่น่าจะมีบริษัทหลักทรัพย์ไทยบางรายสามารถขยายธุรกิจไปยังประเทศในภูมิภาค ก็จะปรับปรุงลักษณะของใบอนุญาตเพื่อให้สะดวกแก่การไปประกอบการในต่างประเทศด้วย
ต่อไปจะปรับใบอนุญาตทุกใบให้ทำธุรกิจได้ทุกประเภท(Full services) เว้นแต่รายที่ไม่ประสงค์จะประกอบธุรกิจทุกประเภทจะดำเนินธุรกิจแบบเฉพาะด้าน(Boutique services)ก็ได้ โดย Full services จะทำธุรกิจหลักทรัพย์ได้ทุกประเภท ได้แก่ นายหน้า ค้า และจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ นายหน้าและค้าอนุพันธ์ การจัดการกองทุนรวมและกองทุนส่วนบุคคล การจัดการเงินทุนอนุพันธ์ และการจัดการเงินร่วมลงทุน ที่ปรึกษาการลงทุนหลักทรัพย์และอนุพันธ์ การยืมและให้ยืมหลักทรัพย์
ขณะที่ Boutique service ทำธุรกิจเฉพาะด้าน ประกอบด้วย Boutique debt services ทำธุรกิจตราสารหนี้, Boutique derivatives services ทำธุรกิจอนุพันธ์ และ Boutique asset management services ทำธุรกิจจัดการลงทุน
--อินโฟเควสท์ โดย พรเพ็ญ ดวงเฉลิมวงศ์/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--