นายแจ็คกี้ ชาง ประธานกรรมการบริษัท บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) (DELTA) เปิดเผยว่า บริษัทมั่นใจว่ารายได้ในปี 64 จะเติบโตเกิน 10% จากเป้าหมายรายได้เดิมที่บริษัทตั้งเป้าไว้ว่าจะเติบโต 5-10% จากปีก่อน หลังจากแนวโน้มคำสั่งผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากลูกค้าต่างๆ มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จากความต้องการในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงที่มีความต้องการใช้ในการทำงานและการเรียน รวมถึงกลุ่มลูกค้าค่ายรถยนต์ที่มีการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าออกมามากขึ้น แม้ว่าจะยังมีสัดส่วนไม่มากในปัจจุบันก็ตาม
ขณะเดียวกัน กลุ่มลูกค้าที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับดาต้าเซ็นเตอร์เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่มีการเติบโตขึ้นมามาก จากความต้องการขององค์กรต่างๆ เพื่อเก็บรวมรวบข้อมูล ทำให้มีการสั่งซื้อชิ้นส่วนอิเล็กทรอนอกส์ที่ใช่ในกลุ่มดาต้าเซ็นเตอร์เข้ามามากเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ แนวโน้มของคำสั่งซื้อในช่วงไตรมาส 3/64 ยังคงมีเข้ามามากขึ้นกว่าช่วงไตรมาส 2/64 พอสมควร โดยปัจจุบันบริษัทยังมีความสามารถในการรองรับการผลิตให้กับลูกค้าได้ แต่เริ่มมีข้อจำกัดมากขึ้น เพราะคำสั่งผลิตเข้ามาค่อนข้างรวดเร็วกว่าที่คาดไว้ ดังนั้น บริษัทจึงอยู่ระหว่างการเตรียมขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับคำสั่งซื้อที่จะเข้ามาเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยเน้นไปที่ประเทศไทยและอินเดียเป็นหลัก ซึ่งเป็นประเทศที่มองว่ายังมีศักยภาพในการขยายกำลังการผลิต คาดว่าจะต้องใช้งบลงทุนในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 40-50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากปกติที่บริษัทใช้งบลงทุนราว 20-30 ดอลลาร์สหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคำสั่งซื้อจะเข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาในหลายประเทศ ทั้งในเอเชีย และเริ่มเข้าไปในสหรัฐฯและยุโรป ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อกลับมาเพิ่มขึ้น บริษัทจึงมีความเป็นห่วงผลกระทบต่อการส่งมอบสินค้าอาจจะล่าช้า หากหลาปยระเทศกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์ โดยเฉพาะในสหรัฐและยุโรปที่มีกลุ่มลูกค้าบริษัทเทคโนโลยีค่อนข้างมาก ซึ่งบริษัทยังอยู่ระหว่างการติดตามสถานการณ์ดังกล่าว และเตรียมความพร้อมในการรับมือ เพื่อทำให้บริษัทยังสามารถส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าได้ตามกำหนด และไม่กระทบรายได้ในช่วงครึ่งปีหลังมากนัก
"คามไม่แน่นอนจากการแพร่ระบาดโควิดที่เกิดขึ้นในตอนนี้เป็นสิ่งที่เราก็ยังมีความกังวลอยู่บ้าง และก็ติดตามสถานการณ์ตลอด เพราะหากมีการประกาศล็อกดาวน์มาแบบปีก่อน จะกระทบกับการส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้า และกระทบต่อการผลิตเราด้วย เพราะการจัดส่งวัตถุดิบก็จะช้ตามไปด้วย ทำให้เราเตรียมแผนการรองรับ เพื่อไม่ให้กระทบรายได้ในครึ่งปีหลังมาก และทำให้เรามองว่ารายได้ในครึ่งปีหลังอาจจะเติบโตชะลอลงจากครึ่งปีแรกที่เติบโตไป 25-28% เพราะโควิดมากดดัน ทำให้เดิมที่เราอาจจะมองรายได้ทั้งปีอาจจะเกิน 20% น่าจะโตได้เกิน 10% แต่ไม่ถึง 20%"นายแจ็คกี้ กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับราคาต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งทำให้บริษัทต้องเปลี่ยนการขนส่งทางเรือมาเป็นขนส่งทางเครื่องบินแทน ทำให้ต้นทุนการขนส่งเพิ่มขึ้นตามไปด้วย จึงจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญในการกดดันกำไรของบริษัทในปี 64 ขณะที่กลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ที่เข้ามาส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้าที่มีมาร์จิ้นต่ำ ทำให้ยังไม่คุ้มค่ากับกำลังการผลิตใหม่ที่เพิ่มมาในปีก่อน จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กดดันด้วยเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทมองว่าในปี 65 กำไรจะเริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นหลังจากปัจจัยกดดันต่าง ๆ เริ่มคลี่คลายลงไป
"ปีนี้เป็นปีที่เราสร้างรากฐานลูกค้า ทำให้มีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น จะเห็นว่ามีลูกค้าใหม่เข้ามามาก แต่ก็เป็นกลุ่มลูกค้าที่ยังให้มาร์จิ้นต่ำอยู่ ยังไม่คุ้มค่ากับกำลังการผลิตใหม่ที่เราเพิ่มมาในปีก่อน แต่ปีหน้าปัจจัยกดดันหลายๆอย่างเริ่มคลี่คลายลง และเราสามารถนำฐานลูกค้าที่มีอยู่หาโซลูชั่น เสนอผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม ทำให้กำไรในปีหน้าจะกลับมาเพิ่มขึ้นได้"นายแจ็คกี้ กล่าว