นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.)หรือ EEC เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ กพอ. ครั้งที่ 2/2564 ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้รับทราบโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F ที่คณะทำงานเจรจาร่างสัญญาฯได้ดำเนินการเสร็จแล้วและได้ส่งให้อัยการสูงสุด ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดกำลังพิจารณา คาดว่าน่าจะเซ็นสัญญาได้ในสิ้นเดือนส.ค.นี้
โดยเอกชนคู่สัญญาคือ กลุ่ม GPC ประกอบด้วย บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (PTT TANK) บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ทั้งนี้ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F วงเงิน 84,361 ล้านบาท ระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี โดยเอกชนเสนอผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินขั้นต่ำที่ภาครัฐจะได้รับ ระยะที่ 1 ค่าสัมปทานคงที่เท่ากับมูลค่าปัจจุบันสุทธิ(NPV) ที่ 29,050 ล้านบาท และค่าสัมปทานผันแปร ที่ 100 บาทต่อทีอียูต่ำกว่าที่รัฐคาดไว้ที่ มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ประมาณ 32,225 ล้านบาท
ส่วนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ อีอีซี อาทิ
- รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน การส่งมอบพื้นที่ให้กับเอกชนคู่สัญญามีความคืบหน้า 86% แล้ว และพร้อมส่งมอบทั้งหมดภายในเดือนกันยายน 2564 คู่ขนานไปกับการยกระดับแอร์พอร์ต เรลลิงก์ โฉมใหม่ ที่ผู้โดยสารจะได้รับบริการ ที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยยิ่งขึ้น
- สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก UTA จัดทำแผนแม่บทสนามบินอู่ตะเภาฉบับสมบูรณ์ พร้อมเริ่มว่าจ้างผู้ออกแบบระดับโลก (SOM) กองทัพเรือได้ออกแบบทางวิ่ง 2 และงานที่เกี่ยวข้องเรียบร้อย งานปรับถมดินทางขับระยะที่ 1 มีความคืบหน้า 80.53%
- งานสาธารณูปโภค สกพอ. ได้ส่งมอบพื้นที่ให้ บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) ผู้ดูแลงานระบบไฟฟ้าและน้ำเย็น บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (EASTW) ผู้ดูแลงานระบบประปาและบำบัดน้ำเสีย เพื่อเตรียมงานก่อสร้างแล้ว
ที่ประชุม กพอ.รับทราบ การจัดหาแหล่งน้ำในพื้นที่ อีอีซี ที่มีระบบบริหารน้ำในภาพรวมครบถ้วน จากข้อสั่งการรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) อาทิ กรมชลประทาน เร่งเสนอโครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำกลับคลองสะพาน-ประแสร์ เส้นที่ 2 และเครือข่ายคลองวังโตนด-อ่างเก็บน้ำประแสร์ เส้นที่ 2 สร้างความมั่นคงการจัดการน้ำในระยะยาว นิคมอุต ฯ จัดหาแหล่งน้ำสำรองของตนเอง รวมถึงเร่งเพิ่มน้ำต้นทุน เปลี่ยนน้ำทะเลเป็นน้ำจืด ดำเนินการให้คุ้มค่าสูงสุด เป็นต้น แนวทางจัดหาแหล่งน้ำรองรับในพื้นที่ 30 กิโลเมตร รอบสนามบินอู่ตะเภา ที่เป็นจุดการพัฒนาที่สำคัญ และกระทรวงทรัพย์ฯ ได้ช่วยทำแผนที่น้ำใต้ดินซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้กว่า 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ถือเป็นครั้งแรกที่มีการบริหารน้ำผิวดิน ร่วมกับน้ำใต้ดิน
- งานบริการน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน เจรจาสัญญาแล้วเสร็จได้ผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือก คือ บริษัทร่วมค้า BAFS-OR
- กิจกรรมพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมการบิน (ATZ) สกพอ. อยู่ระหว่างจัดทำแผนแม่บท ซึ่งมีกิจกรรมสำคัญๆ เช่น ศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ศูนย์บริการอุปกรณ์ภาคพื้น และศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรทักษะชั้นสูงด้านอุตสาหกรรมการบิน เป็นต้น
สำหรับการแก้ไขเรื่องการทับซ้อน รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และรถไฟไทย-จีน เดินหน้าได้เร็วขึ้นไม่เพิ่มงบประมาณรัฐ ที่ประชุม กพอ. พิจารณา แก้ปัญหาซ้อนทับ โครงการรถไฟความเร็วเชื่อมสามสนามบิน และโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย- จีน ในช่วงบางซื่อ ถึง ดอนเมือง ซึ่งเป็นช่วงที่ต้องใช้แนวเส้นทาง และจำเป็นต้องมีโครงสร้างโยธาเสาและฐานรากร่วมกัน (โครงสร้างโยธาร่วม) แต่ระยะเวลาการก่อสร้าง และมาตรฐานเทคนิคทั้งสองโครงการไม่สอดคล้องกัน
ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาการซ้อนทับทั้งสองโครงการ ฯ ดังกล่าว สกพอ. กระทรวงคมนาคม และ รฟท. จะเจรจากับเอกชนคู่สัญญา จัดทำข้อเสนอการแก้ไขสัญญาร่วมทุน เพื่อให้เอกชนเร่งรัดดำเนินการก่อสร้างช่วงบางซื่อ ถึง ดอนเมือง โดยจะเจรจาให้เอกชนรับพื้นที่และเริ่มงานก่อสร้างโยธาให้ได้มาตรฐานเร็วกว่ากำหนด เพื่อให้โครงการรถไฟฯ ไทย-จีน สามารถใช้เส้นทางดอนเมืองบางซื่อได้ภายในเดือน ก.ค. 2569 รวมทั้งเอกชนคู่สัญญา จะรับผิดชอบออกแบบและก่อสร้างงานโยธาทั้งหมด
รวมงานทางวิ่งของโครงการรถไฟฯ ไทย-จีน ช่วงบางซื่อ ถึง ดอนเมือง โดยยึดข้อตกลงทั้งมาตรฐานและระยะเวลาของ รถไฟไทย-จีนเป็นหลัก เพื่อแก้ปัญหาความไม่สอดคล้องระยะเวลา และด้านเทคนิคให้สามารถรองรับทั้งสองโครงการได้
ทั้งนี้ จะได้หาแนวทางร่วมกันกับเอกชนคู่สัญญา ในส่วนการปรับหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนของรัฐ เพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นกับเอกชนคู่สัญญาอย่างเหมาะสม โดยยึดหลักไม่ให้เป็นภาระทางการเงินกับภาครัฐ และแผนก่อสร้างทั้งสองโครงการมีประสิทธิภาพสูงสุด