นายบัณฑิต สะเพียรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บีซีพีจี (BCPG) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/64 มีกำไรสุทธิ 565 ล้านบาท เพิ่มขี้น 59% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 355 ล้านบาท โดยมีรายได้รวม 1,088 ล้านบาท ได้รับปัจจัยหนุนจาก โรงไฟฟ้าพลังน้ำ Nam San 3A และ Nam San 3B ใน สปป.ลาว ที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้น และรับรู้รายได้เต็มไตรมาสจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย กำลังการผลิตรวม 20 เมกะวัตต์ จำนวน 4 โครงการที่ซื้อเข้ามาในไตรมาส 3/63
ขณะที่ส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพในอินโดนีเซียและโรงไฟฟ้าพลังงานลมในฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้น 30% และ 130% จากไตรมาส 2/63 ตามลำดับ จากค่าไฟที่ถูกปรับขึ้น อีกทั้งยังได้รับปัจจัยบวกจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า โดยในไตรมาส 2/64 มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ 80 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในไตรมาส 2/64 กลุ่มบริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อยู่ที่ 992 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.4% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 860 ล้านบาท จากแรงหนุนจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำและโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมทั้งส่วนแบ่งกำไรที่เติบโต
ส่วนผลการดำเนินงานในงวด 6 เดือนแรกของปี 64 มีกำไรสุทธิ 1,088 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.2% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 928 ล้านบาท ขณะที่ EBITDA อยู่ที่ 1,940 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 1,684 ล้านบาท และมีรายได้รวมจำนวน 2,135 ล้านบาท
ด้านแนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่อง โดยได้รับปัจจัยหนุนจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่คาดว่ามีอัตราการผลิตที่สูงขึ้น และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่น ที่ทยอยเริ่มจ่ายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ในครึ่งปีหลังเป็นต้นไป
นอกจากนี้ บริษัทเตรียมนำเงินที่ได้จากการเพิ่มทุน รวมส่วนที่มีผู้ใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญ (วอร์แรนต์) จำนวนรวม 7.9 พันล้านบาท ไปขยายการลงทุนโครงการใหม่ตามแผน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโครงการที่สามารถรับรู้รายได้ทันที ผลักดัน EBITDA ในปี 64 เติบโตไม่น้อยกว่า 20% ตามเป้าหมายที่วางไว้
นายบัณฑิต กล่าวว่า ในช่วงไตรมาส 3/64 บริษัทมีแผนออกหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (กรีนบอนด์) เพื่อนำเงินที่ได้มาใช้ชำระคืนเงินกู้ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียน ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ สามารถจัดระยะเวลาการชำระหนี้ให้มีความเหมาะสมมากขึ้นด้วยอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ ซึ่งจะส่งผลให้โครงสร้างทางการเงินมีความยืดหยุ่นและแข็งแกร่งมากขึ้น พร้อมรองรับโอกาสการเติบโตในอนาคต