นางสาวเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.เสนาดีเวลลอปเม้นท์ (SENA) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ในปัจจุบันที่กระทบต่อภาพรวมของประเทศอย่างต่อเนื่องและยังมีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้การดำเนินธุรกิจเผชิญกับความท้าทายค่อนข้างมาก จากความไม่แน่นอนดังกล่าว บริษัทจึงต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยเฉพาะการเปิดโครงการใหม่ในช่วงไตรมาส 3/64 ที่คงต้องเลื่อนออกไปเป็นไตรมาส 4/64 เบื้องต้นมีจำนวน 4 โครงการ จากกำหนดเดิมที่จะต้องเปิดตัวในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.64 เพราะสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้การเปิดตัวโครงการใหม่ทำได้ยากขึ้น
SENA จะยังคงเน้นการเปิดโครงการใหม่ในประเภทคอนโดมิเนียมในระดับราคาที่จับต้องได้ภายใต้แบรนด์ "SENA KITH" ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้า โดยในช่วงเดือน ก.ค.64 บริษัทได้เปิดโครงการ SENA KITH ฉลองกรุง-ลาดกระบัง ทำยอดขายไปได้แล้ว 500 ยูนิต ซึ่งบริษัทจะยังคงเปิดโครงการแบรนด์ SENA KITH เพิ่มเติมอีกในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ขณะเดียวกันยังจะมีการเปิดโครงการแนวราบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งยังเป็นกลุ่มที่อยู่อาศัยที่ลูกค้าส่วนใหญ่ยังมีความต้องการซื้อและสามารถสร้างยอดขายได้ดี
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงเป้าหมายยอดขายในปีนี้ที่ 1.1 หมื่นล้านบาท แม้ว่าในช่วงครึ่งปีแรกจะทำยอดขายได้เพียงกว่า 3 พันล้านบาท แต่บริษัทยังเชื่อมั่นว่าหากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มเห็นแนวโน้มคลี่คลายมากขึ้นก่อนเข้าสู่ไตรมาส 4/64 ก็คาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวของยอดขายกลับมาอย่างก้าวกระโดด เพราะจะมีการเร่งการเปิดตัวโครงการใหม่ออกมามากก่อนสิ้นปี และในปกติช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีจะมีลูกค้าซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้น ส่งผลยอดขายฟื้นตัวกลับมากหากโควิด-19 คลี่คลายลงชัดเจนในช่วงปลายเดือน ส.ค.-ก.ย. 64
ด้านยอดโอน บริษัทก็ยังคงมั่นใจทำได้ตามเป้าหมายที่ 1 หมื่นล้านบาท แม้ว่าในช่วงไตรมาส 3/64 จะมีผลกระทบในการชะลอการโอนไปบ้างในช่วงเดือนก.ค. 64 ที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันเริ่มสามารถกลับมาทยอยโอนได้บ้างแล้ว เพราะมาตรการของภาครัฐอนุญาตการก่อสร้างประเภทปรับแก้งานขนาดเล็กที่ใช้จำนวนคนงานไม่มากให้สามารถดำเนินารได้ ทำให้มีลูกค้าเริ่มกลับมาทยอยโอนในช่วงเดือนส.ค.นี้เข้ามา และมองว่าจะเห็นการโอนกลับมาดีขึ้นในช่วงไตรมาส 4/64
นางสาวเกษรา กล่าวว่า ลูกค้าบางส่วนกังวลสถานการณ์โควิด-19 อยู่บ้าง และบริษัทเข้าใจสถานการณ์จึงยังไม่เร่งในการโอนโครงการเร็วนัก เพราะสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบันที่มีความรุนแรง จึงต้องเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก โดยที่บริษัทมีมูลค่ายอดขายรอโอน (Backlog) อยู่ที่ 8 พันล้านบาท และคาดว่าจะรับรู้รายได้เข้ามาในครึ่งปีปีหลังราว 5 พันล้านบาท
"ตอนนี้สถานการณ์โควิดในประเทศก็ยังไม่แน่ไม่นอน เราก็มีโอกาสที่ปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินงานในปีนี้ได้ตลอด เพราะสถานการณ์ในปีนี้แตกต่างจากปีก่อนมาก ปีนี้เราเริ่มรู้สึกว่าโควิดน่ากลัวมากขึ้นและเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น และยังมองว่าใช้ระยะเวลาควบคุมค่อนข้างนานกว่าปีก่อน ที่เรายังเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่มาก ตอนนี้แทบปรับแผนทุกสัปดาห์ เพราะสถานการณ์ไม่นิ่ง ถ้าโควิดลากยาวไปถึงไตรมาส 4 ก็คงกระทบกับเป้าหมายยอดขาย-ยอดโอนของบริษัทในปีนี้ได้ ซึ่งเราก็ติดตามสถานการณ์อยู่ตลอด"นางสาวเกษรา กล่าว
ด้านภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 64 มองว่าจะหดตัวลงจากปีก่อน 10% จากการขายที่ชะลอตัวลง รับผลกระทบโควิด-19 ที่มองว่ารุนแรงมากกว่าปีก่อน ประกอบกับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดในแคมป์คนงานทำให้การก่อสร้างหยุดชะงัก และภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัว กระทบต่อรายได้ของประชาชนที่ลดลงไป และภาระหนี้สินครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงกระทบต่อการพิจารณาสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ยังมีอัตราการปฏิเสธสินเชื่ออยู่ในระดับสูง อีกทั้งภาพรวมของอารมณ์ของคนในช่วงนี้ยังชะลอการซื้ออยู่ รวมถึงผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ยังไม่เร่งการกลับมาเปิดโครงการใหม่จากความไม่แน่นอนของโควิดที่เกิดขึ้น
แต่สำหรับผู้ซื้อนั้นบริษัทมองว่าเป็นจังหวะที่ดีในการซื้อที่อยู่อาศัย เพราะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ราคาขายที่อยู่อาศัยปรับลดลงมาค่อนข้างมากจนมาอยู่ในะระดับที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าในกลุ่มคอนโดมิเนียมที่ราคาปรับลดลงมาค่อนข้างมาก เพราะผู้ประกอบการต่างๆยังคงเดินหน้าระบายสต๊อกสินค้าออกมา เพื่อนำรายได้กลับเข้าบริษัท ทำให้เป็นจังหวะที่ดีในการมองหาซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง
ขณะที่ตลาดสินค้าในกลุ่มทาวน์เฮาส์ที่มีผู้ประกอบการพัฒนามาเพิ่มขึ้นอย่างมาก หลังจากมีดีมานด์ในตลาดที่สูง บริษัทมองว่ายังต้องมีความระมัดระวังหลังจากที่จำนวนซัพพลายของทาวน์เฮาส์เข้ามาในตลาดเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีแนวโน้มที่อาจจะเกินความต้องการซื้อของคนในตลาด และเป็นกลุ่มสินค้าที่ยังเห็นอัตราการปฏิเสธสินเชื่อในระดับสูง ทำให้เป็นข้อสังเกตุที่จะมีแนวโน้มซัพพลายล้นตลาดได้ในระยะต่อไป และระดับราคาทาวน์เฮาส์ในปัจจุบันถือว่าปรับเพิ่มขึ้นมามาก ทำให้ความคุ้มค่าในการซื้อลดลงไป
ส่วนตลาดในต่างจังหวัดมองว่าราคาได้ปรับตัวสูงขึ้นไปมากเกินกว่าความเป็นจริงในบางจังหวัด เช่น ชลบุรี และระยอง ที่สะท้อนราคาล่วงหน้าไปถึงการพัฒนาโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) แล้วเสร็จไปล่วงหน้านานเกินไป ทำให้การซื้อในช่วงนี้อาจจะยังไม่คุ้มค่าในตลาดต่างจังหวัด
นอกจากนี้การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เชิงสุขภาพในปัจจุบันมองว่าอาจจะต้องมีการเปลี่ยนความคิดไปชั่วคราว จากเดิมที่มองว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีระบบสาธารณสุขที่ดี แต่ในทางกลับกันที่เกิดึ้นในปัจจุบันสะท้อนว่าประเทศไทยยังไมาสามารถบ่งบอกได้ว่าระบบสานธารณะสุขดีไม่อย่างเต็มที่ เพราะการบริหารจัดการด้านระบสาธารณะสุขของประเทศไทยยังทำได้ไม่มีประสิทธิภาพ จากการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าในปัจจุบัน ทำให้ลูกค้าและนักลงทุนต่างชาจิมีการเปลี่ยนมุมมองความคิดเกี่ยวกับระบบสานธารณะสุขของไทย และทำให้ผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์หลายรายเริ่มกลับมาทบทวนการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เชิงสุขภาพใหม่อีกครั้ง
นางสาวเกษรา กล่าวอีกว่า บริษัทมองว่าการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยคาดว่าจะเห็นการทยอยกลับมาฟื้นตัวในช่วงปี 65 เป็นต้นไป หากสถานการ์โควิด-19 สามารถคลี่คลายลงได้ชัดเจนภายในสิ้นปี 64 และการที่มีวัคซีนโควิด-19 เข้ามาในประเทศมากขึ้น จะทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจกลับมาฟื้นได้ มีการกลับมาเปิดเมืองทำให้ภาคเศรษฐกิจภายในประเทศเดินหน้า และคนเริ่มกลับมาทำงานมีรายได้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลบวกต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยที่ยังอิงการเติบโตไปกับเศรษฐกิจ