นายสมบุญ เศรษฐ์สันติพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานการเงินและบัญชี บมจ. เอแอลที เทเลคอม (ALT) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานไตรมาส 2/64 บริษัทมีรายได้รวม 306.83 ล้านบาท ลดลง 24.1% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 404.11 ล้านบาท แต่หากพิจารณารายได้จากการให้บริการโครงข่ายจะเห็นว่ามีอัตราการเติบโตสูง 53.2% จากไตรมาส 2/63 ที่ 52.88 ล้านบาท เป็น 81.01 ล้านบาทในไตรมาส 2/64
"แม้รายได้รวมจะลดลง แต่กำไรขั้นต้นของบริษัทเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นมีอัตราการเติบโตถึง 569.8% คือจากขาดทุน 16.18 ล้านบาทใน ไตรมาส 2/63 เป็นกำไร 76.01 ล้านบาทในไตรมาส 2/64 โดยผลกำไร ส่วนใหญ่เป็นรายการที่เกี่ยวเนื่องกับโครงข่ายสื่อสารระหว่างประเทศ" นายสมบุญกล่าว
สำหรับผลการดำเนินการในไตรมาส 2/64 แม้ว่าจะมีกำไรสุทธิ 0.57 ล้านบาท เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิ 42.87 ล้านบาทในไตรมาส 2/63 แต่หากไม่นับรวมรายการพิเศษในรายได้อื่นที่เกิดขึ้นในไตรมาส 2/63 จะพบว่าผลการดำเนินงานปกติก่อนภาษีดีขึ้น 39.75 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 110.6% จากขาดทุนก่อนภาษี 35.92 ล้านบาทในไตรมาส 2/63 เป็นกำไรก่อนภาษี 3.83 ล้านบาทในไตรมาส 2/64 ขณะที่สิ้นไตรมาส 2/64 บริษัทมีงานในมือ (Backlog) จำนวน 1,466 ล้านบาท
"ฐานะการเงินของบริษัทมีทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับ เห็นได้จากการลดลงของหนี้เงินกู้ยืมสถาบันการเงิน และเจ้าหนี้การค้าจำนวน 293.76 ล้านบาท และ 45.50 ล้านบาทตามลำดับ ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนลดลงจาก 0.75 ณ สิ้นปี 2563 เหลือ 0.55 ณ สิ้นไตรมาส 2/64 โดยมีเงินสดในมือ 169.51 ล้านบาท"
นายสมบุญกล่าวอีกว่า ทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทในปี 64 จะเน้นการขับเคลื่อนธุรกิจให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและพลังงานทดแทน แก่ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเพิ่มคุณภาพบริการ โดยมุ่งเน้นการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ร่วมทั้งเป็นพันธมิตรกับผู้เชี่ยวชาญที่มีความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยี
สำหรับธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม โครงข่ายไฟเบอร์ใยแก้วนำแสง บริษัทได้วางโครงข่ายหลัก ลงทุนครอบคลุมพื้นที่ทั่วทั้งประเทศแล้ว รวมถึงมีการสร้างสถานีฐานเพื่อเชื่อมต่อกับโครงข่ายของผู้ประกอบการในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้ง เมียนมา ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ผู้คนได้ใช้อินเทอร์เน็ตมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเมียนมา สะท้อนได้จากผลประกอบการของบริษัทย่อย คือ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เกทเวย์ จำกัด มียอดรายได้สูงขึ้น โดยได้ตั้งเป้าที่จะช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็น Asian Digital Hub มีโครงการลงทุนก่อสร้างสถานีฐานชายฝั่งเพื่อให้บริการเชื่อมต่อโครงข่ายเคเบิ้ลใต้ทะเลจากต่างประเทศ เข้ากับโครงข่ายเคเบิ้ลภาคพื้นดินภายในประเทศของบริษัท ซึ่งสามารถพัฒนาการเชื่อมต่อโครงข่ายภาคพื้นน้ำจากทะเลด้านตะวันตกและตะวันออกเข้าด้วยกัน
ในส่วนธุรกิจพลังงานอัจฉริยะ สืบเนื่องจากงานให้บริการวางระบบและติดตั้งโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรีให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็นโครงการนำร่องด้านโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะของไทยและมีความเป็นไปได้สูงที่รัฐจะขยายขนาดของโครงการให้ครอบคลุมหัวเมืองสำคัญทั่วทั้งประเทศ จึงเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตสูง
ส่วนธุรกิจเมืองอัจฉริยะ บริษัทได้มีการนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดินเพื่อให้เมืองมีความสวยงามและปลอดภัยโดยบริษัทจะมีการติดตั้งเสาไฟอัจฉริยะ (Smart Pole) ที่สามารถรองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ เพื่อสังเกตการณ์เกี่ยวกับความเป็นอยู่และสุขอนามัยของประชาชน ทั้งในเรื่องมลพิษ และฝุ่นละออง การจราจร รวมถึงเป็นจุดชาร์จไฟสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า
นอกจากนี้ ในส่วนของการพัฒนาธุรกิจด้านแพลตฟอร์ม บริษัทยังได้พัฒนาซอฟท์แวร์เพื่ออ่านป้ายทะเบียนรถยนต์ ใช้สำหรับการเก็บค่าบริการ ในปัจจุบัน ได้มีการนำไปปรับใช้กับการเก็บค่าบริการที่จอดรถ เป็นต้น