ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) ที่ระดับ "AA" พร้อมคง "เครดิตพินิจ" แนวโน้ม "Negative" หรือ "ลบ"
ขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาทของบริษัทที่ระดับ "AA" ด้วยเช่นกัน โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปชำระคืนหุ้นกู้และเงินกู้รวมทั้งใช้เป็นเงินทุนในการขยายธุรกิจ
อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะผู้นำของบริษัทในธุรกิจศูนย์การค้าในประเทศไทย ตลอดจนผลงานในการบริหารศูนย์การค้าคุณภาพสูง และกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากรายได้ค่าเช่าและค่าบริการตามสัญญา ทั้งนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความต้องการเงินลงทุนจำนวนมากเพื่อรองรับแผนการขยายธุรกิจของบริษัทในช่วงปี 2564-2566 และความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ที่ยาวนานซึ่งอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและอุปสงค์ของพื้นที่ค้าปลีกอีกด้วย
จากการประเมินของทริสเรทติ้งเห็นว่าบริษัทมีความสามารถในการแข่งขันที่แข็งแกร่งที่สุดในกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจศูนย์การค้าในประเทศไทย ทั้งนี้ ณ เดือนมิถุนายน 2564 บริษัทบริหารศูนย์การค้าจำนวนทั้งสิ้น 34 แห่งโดย 15 แห่งอยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ 18 แห่งอยู่ในเขตต่างจังหวัด และอีก 1 แห่งอยู่ในประเทศมาเลเซีย
นอกจากนี้ บริษัทยังมีพื้นที่ค้าปลีกที่อยู่ภายใต้การบริหารงานของ บมจ. แกรนด์ คาแนล แลนด์ (GLAND) อีกด้วย บริษัทมีพื้นที่ค้าปลีกรวมทั้งสิ้น 1.8 ล้านตารางเมตร (ตร.ม.) ทั้งนี้ สถานะผู้นำของบริษัทสะท้อนจากการมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่มากที่สุดถึง 20% ของพื้นที่ค้าปลีกทั่วประเทศและอัตราการเช่าที่สูงเกินกว่า 90% ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานรวมเท่ากับ 1.31 หมื่นล้านบาทซึ่งใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วและมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้น 4% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเป็น 7.8 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่ามาตรการปิดศูนย์การค้าในพื้นที่ควบคุมสูงสุดในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ยังคงดำเนินอยู่จะยังสร้างแรงกดดันต่อผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงที่เหลือของปีนี้ต่อไป
ทริสเรทติ้งได้ออกประกาศ "เครดิตพินิจ" แนวโน้ม "Negative" หรือ "ลบ" สำหรับอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทมาตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 โดยเป็นผลสืบเนื่องมาจากประกาศของบริษัทเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ที่ระบุว่าบริษัทจะเข้าซื้อหุ้นในสัดส่วน 30.36% ใน บมจ.สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ (SF) จาก บมจ.เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป (MAJOR)
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 บริษัทได้ทำบันทึกข้อตกลงเข้าซื้อหุ้นเพิ่มเติมจากกลุ่มผู้ถือหุ้นของ SF อีก 4 กลุ่มในสัดส่วน 21.79% ภายหลังจากธุรกรรมดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้วบริษัทมีหน้าที่จะต้องทำคำเสนอซื้อหุ้นที่เหลือทั้งหมดของ SF ต่อไป และหากบริษัทสามารถซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัทสยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ได้ก็จะทำให้การทำธุรกรรมทั้งหมดมีมูลค่าสูงถึง 2.56 หมื่นล้านบาท โดยแหล่งเงินทุนในการทำธุรกรรมดังกล่าวของบริษัทจะมาจากการกู้ยืม
ทริสเรทติ้งจะทบทวนเครดิตพินิจของบริษัทอีกครั้งเมื่อการทำคำเสนอซื้อหุ้นของ SF แล้วเสร็จและเมื่อทริสเรทติ้งได้ทำการวิเคราะห์แผนการปรับโครงสร้างทุนของบริษัทรวมทั้งผลกระทบจากการซื้อหุ้น SF ต่อสถานะเครดิตของบริษัทอย่างถี่ถ้วนแล้ว