(เพิ่มเติม) BLS คาดรายได้-กำไรปีนี้สูงกว่าปีก่อน, ตั้งเป้ามาร์เก็ตแชร์ปีหน้า 5%

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday October 26, 2007 16:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          บล.บัวหลวง (BLS) คาดปีนี้จะมีรายได้รวมประมาณ 1 พันล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 973 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทฯ คาดว่ารายได้จะต่ำกว่าปีก่อน แต่จากภาวะหุ้นได้กระเตื้องขึ้นส่งผลให้มูลค่าการซื้อขายปรับตัวเพิ่มขึ้น 
โดยไตรมาส 3 มูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 2.2 หมื่นล้านบาท/วัน และคาดว่าไตรมาส 4 จะอยู่ที่ประมาณ 2.2-2.3 หมื่นล้านบาท/วัน สูงกว่าช่วงครึ่งปีแรกที่มีมูลค่าการซื้อขาย 1.6 หมื่นล้านบาท/วัน
บริษัทฯ มั่นใจว่าทั้งรายได้และกำไรสุทธิจะสูงกว่าปีก่อนที่มี 232.66 ล้านบาท หลังจากในงวด 9 เดือนที่ผ่านมาบริษัททำรายได้รวมแล้ว 680 ล้านบาท และคาดว่าครึ่งปีหลังนี้ส่วนแบ่งตลาดจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4% และเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ 3.7% โดยตั้งเป้าว่าสิ้นปี 51 ส่วนแบ่งตลาดของบริษัทฯ จะปรับขึ้นเป็น 5% ซึ่งติด 1 ใน 5 ของโบรกเกอร์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด
"ปีหน้ามาร์เก็ตแชร์เราจะเพิ่มขึ้นไปเฉลี่ยแล้ว 4% กว่า หวังว่าปลายปีก็จะแตะ 5% และเราก็หวังว่ารายได้(นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์) จะเพิ่มขึ้นประมาณ 10% ตามมาร์เก็ตแชร์" นายญาณศักดิ์ มโนมัยพิบูลย์ กรรมการผู้อำนวยการ บล.บัวหลวง กล่าว
ขณะเดียวกัน บริษัทมีลูกค้าที่เตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และตลาด MAI จำนวน 7 ราย รวม บมจ.น้ำประปาไทย ซึ่งได้เป็นผู้จัดจำหน่าย(อันเดอร์ไรท์)ด้วย โดยจะมีการระดมทุนประมาณ 4-5 พันล้านบาท โดย 4 แห่งบริษัทได้เป็นทั้งที่ปรึกษาและอันเดอร์ไรท์
นอกจากนี้ยังมีดีลควบรวมกิจการ(M&A) 2 ดีลๆละ ซึ่งเป็นระหว่างบริษัทจดทะเบียนกับบริษัทนอกตลาด มูลค่าดีลละประมาณ 1 พันกว่าล้านบาท โดยดีลแรกคาดว่าจะจบภายในเดือนพ.ย.นี้ได้และดีลที่สองคาดว่าจะจบในเดือนธ.ค.
"รายได้จาก IB ปีนี้พลาดเป้าไปเหลือประมาณ 100 ล้านบาทจากที่คิดว่าจะได้ 100 กว่าล้านบาท เพราะดีลขาย IPO เลื่อนออกไป แต่ก็ไม่ได้หายไปไหน จะไปเห็นในปีหน้า ซึ่งดีลที่มีอยู่ในมือ 7 รายเราทำไปถึงกลาวปีหน้า" นายญาณศักดิ์กล่าว
ดังนั้น โครงสร้างรายได้ปีนี้ จะมาจากธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ 75% , จากการซื้อขายตลาดอนุพันธ์ 5% ธุรกิจวาณิชธนกิจ(IB) 10% ที่เหลืออื่น ได้แก่ การบริหารกองทุน
แต่หากดีลที่ธนาคาร ICBC จากจีนจะเข้าซื้อหุ้นธนาคารสินเอเซีย(ACL) จากธนาคารกรงเทพ(BBL) จบได้ในปีนี้ BLS ในฐานะที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ก็จะมีรายได้จาก IB เพิ่มเป็น 15% โดยขณะนี้รอกระทรวงการคลังอนุมัติการเข้าถือหุ้นของ ธนาคาร ICBCอยู่ และเชื่อว่าจะขอถือหุ้นมากกว่า 25%
*ปีหน้าตั้งเป้าโตทุกธุรกิจ
นายญาณศักดิ์ กล่าวว่า ในปีหน้าบริษัทตั้งเป้าจะเติบโตทุกด้าน ทั้งธุรกิจกรรมซื้อขายนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ โดยตั้งเป้าจะเพิ่มสัดส่วนนักลงทุนต่างประเทศเพิ่มเป็น 40% จากปีนี้อยู่ที่ 35% และลดสัดส่วนจากนักลงทุนรายย่อยเป็น 60% จาก 65% แต่ฐานลูกค้าของบริษัทจะใหญ่ขึ้นตามส่วนแบ่งตลาดที่เพิ่มขึ้น
รวมถึงการซื้อขายผ่านอินเตอร์เน็ต บริษัทคาดว่าปีหน้าจะเริ่มมีทีมตลาดการซื้อขายผ่านอินเตอร์เน็ตด้วย แม้ว่าค่าธรรมเนียมที่ได้จากการซื้อขายผ่านอินเตอร์เน็ตจะน้อยกว่าซื้อขายผ่านมาร์เก็ตติ้ง แต่บริษัทก็ต้องมีระบบซึ่งได้ปรับปรุงใหม่ ไว้รองรับการซื้อขายดังกล่าวที่เติบโตตามตลาดรวม ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตทุกปี คาดว่าในอีก 4-5 ปีข้างหน้าจะมีสัดส่วน 25% ของปริมาณการซื้อขาย จากปัจจุบันมีประมาณ 10% ขณะที่ BLS มีวอลุ่มการซื้อขายผ่านอินเตอร์เน็ต 15% ของวอลุ่มซื้อขายของบริษัท โดยมีบัญชีลูกค้าซื้อขายผ่านอินเตอร์เน็ตอยู่ 5,000 บัญชี และที่ซื้อขายสม่ำเสมออยู่ 1,500 บัญชี
ขณะที่ธุรกรรมซื้อขายในตลาดอนุพันธ์ คาดว่าปีหน้าจะมีส่วนแบ่งตลาด 8% เท่ากับปีนี้ เพราะบริษัทไม่ได้เป็น Market Maker รวมทั้งยังไม่มีพอร์ตเอง ส่วนธุรกิจยืมและให้ยืมหลักทรัพย์(SBL) ขณะนี้ได้บื่นใบอนุญาต และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปลายไตรมาส 1/51 หรือต้นไตรมาส 2/51 ซึ่งคาดว่าจะมีลูกค้าในปีแรกและจะมีรายได้ราว 100 ล้านบาท
ส่วนธุรกิจการบริหารกองทุนที่มีทั้งกองทุนส่วนบุคคล และ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คาดว่าปีหน้าพอร์ตจะขยายเป็น 1.5 หมื่นล้านบาท จากปีนี้ที่มี 1.2 หมื่นล้านบาท และอาจจะมากขึ้นกว่านี้หากทางการอนุมัติให้นักลงทุนสามารถลงทุนในต่างประเทศได้
"เราให้ความสำคัญทุกด้าน เพื่อเตรียมการแข่งขันและเปิดเสรีค่าคอมฯ หลายบริษัทพยายามเดินตามเรา โดยเราพยายาม diversify เฉลี่ยไปหลายธุรกิจ ทั้ง อนุพันธ์, โบรกเกอร์ , IB ซึ่งเราเติบโตได้มากกว่าอุตสาหกรรม" นายญาณศักดิ์กล่าว
นอกจากนี้ ในปี 51 บริษัทคาดจะใช้งบลงทุนประมาณ 40-45 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีนี้ในการลงทุนและปรับปรุงระบบไอที, ปรับปรุงพื้นที่ตามสาขา ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มจอออนไลน์ตามสาขาธนาคารกรุงเทพ เพื่อให้ความสะดวกลูกค้าในการเข้าไปซื่อขายหุ้น หรืออาจจะมีพนักงานของบริษัทเข้าไปนั่งประจำที่สาขาแบงก์ อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่มีนโยบายเพิ่มสาขา
ดังนั้นในปีหน้าโครงสร้างรายได้จะมาจากนายหน้าค้าหลักทรัพย์อยู่ที่ 70% ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อน ขณะที่รายได้จากซื้อขายอนุพันธ์เพิ่มเป็น 5% ,วาณิชธนกิจ 15% บริหารกองทุนฯ 4% ที่เหลืออื่นๆ
*เล็ง SBL ไปได้สวย
นายมนู ตังคสวัสดิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการสายงานผลิตภัณฑ์พิเศษ BLS กล่าวว่า ขณะนี้ มอร์แกน สแตนเล่ย์ ซึ่งเป็นคู่ค้าต่างประเทศ(Exclusive Partner) และบริษัทประกันที่อยู่ในเครือธนาคารกรุงเทพ(BBL) มีความสนใจที่จะร่วมธุรกิจยืมและให้ยืมหลักทรัพย์(SBL) และบริษัท ยังอยู่ระหว่างเจรจาลูกค้ารายบุคคล ซึ่งมีพอร์ตลงทุนประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ในการให้ยืมหุ้นด้วย ซึ่งจะทำให้ธุรกิจ SBLนั้นจะไปได้ดี เพราะ SBL จะเป็นเครื่องมือให้กับนักลงทุนในการลงทุนนอกเหนือจากการลทุนในตลาดหลักทรัพย์ เพราะสามารถลงทุนในช่วงภาวะหุ้นขาลง
"ตอนนี้มีลูกค้าสนใจที่จะมายืมหุ้นหลายราย ซึ่งเราก็มีความพร้อมในแง่ของผู้ที่จะให้ยืมหุ้น เช่น มอร์แกนฯ หรือบริษัทประกัน ก็มีหุ้นในพอร์ตอยู่เยอะ" นายมนูกล่าว
ขณะที่การซื้อขายตลาดอนุพันธ์ คาดภายในสิ้นปีนี้บริษัทจะมีลูกค้าซื้อขายในตลาดอนุพันธ์ ประมาณ 800 บัญชี จากปัจจุบันที่มีอยู่ 700 บัญชี โดยมาจากฐานลูกค้าเดิมและใหม่ ขณะนี้บริษัทมีส่วนแบ่งตลาดอนุพันธ์ที่ 7.5% โดยอยู่อันดับ 5 และแนวโน้มตลาดอนุพันธ์จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ