รายงานข่าวจากบริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลและได้รับอนุญาตให้เป็นผู้นำเข้าชุดทดสอบโควิด-19 แบบแอนติเจนสำหรับตรวจคัดกรองด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen self-test Test Kit : ATK) ผลิตโดย Beijing Lepu Medical Technology Co., Ltd. ของจีน ภายใต้ผลิตภัณฑ์ชื่อ "SARS-CoV-2 Antigen Rapid Test" เตรียมเปิดแถลงข่าวในช่วงบ่ายวันนี้ชี้แจงกรณีการตั้งข้อสังเกตของชมรมแพทย์ชนบทที่มีต่อการจัดหาชุดทดสอบดังกล่าวในช่วงบ่ายวันนี้ ในประเด็นคุณภาพที่ไม่ได้มาตรฐาน และด้านราคาที่แท้จริงจากโรงงานผู้ผลิต
ออสท์แลนด์ ระบุงว่าจะร่วมกับบริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ชี้แจงในทุกประเด็นที่มีการตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับต้นทุนการนำเข้า คุณภาพ และผลการทดสอบของผลิตภัณฑ์ชุดทดสอบ ATK โดยนางรังสินี หวังมั่น ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย Executive specialist and Director of R&D ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด และนางศิริญา เทพเจริญ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บมจ.ณุศาศิริ (NUSA) และกรรมการบริหารบริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย ) จำกัด เป็นผู้ให้ข้อมูล
ขณะที่นางศิริญา เทพเจริญ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด NUSA ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการโทรทัศน์เช้านี้ถึงกรณีที่ได้รับการแต่งตั้งจาก ออสท์แลนด์ แคปปิตอล ให้เข้าประมูลชุดตรวจโควิด-19 แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (ATK) ในโครงการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่า บริษัทตัดสินใจเข้าร่วมประมูลชุดตรวจ ATK ยี่ห้อ Lepu เนื่องจากได้รับคำแนะนำจากแพทย์เยอรมัน หลังจากที่บริษัทได้ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับสถาบันการแพทย์ด้านชะลอวัยด้วยเสต็มเซลล์จากเยอรมันเข้ามาดำเนินงานในประเทศไทย
ทั้งนี้ ชุดตรวจ ATK ยี่ห้อ Lepu มีการใช้และรองรับในยุโรป ซึ่งทางบริษัทได้มีการสั่งซื้อเข้ามาทดลองใช้แล้วจำนวนหนึ่งก่อนหน้านี้ โดยได้มีการติดต่อสั่งซื้อจากบริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด ที่เป็นผู้นำเข้าเพื่อมาทดลองใช้ก่อนเพื่อทดสอบประสิทธิภาพ หลังจากบริษัทมองหาชุดตรวจที่มีราคาถูกลงกว่าชุดตรวจ ATK แบบใช้น้ำลายจากสวีเดนที่บริษัทมีการนำเข้ามาจำหน่าย ซึ่งมีราคาสูง ทำให้มีตัวเลือกชุดตรวจ ATK ที่หลากหลายมากขึ้น และนำมาใช้ต่อยอดธุรกิจของบริษัทที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยว และต่อยอดแพลตฟอร์มสุขภาพของบริษัท คือ Hello Health ที่จะเปิดตัวในไตรมาส 4/64
"เราคิดว่าเราอยากหา ATK เข้ามาในกลุ่มท่องเที่ยวเราก่อนเพื่อมารองรับในเรื่องการเปิดประเทศ เพราะธุรกิจท่องเที่ยวเราถูกกระทบมาก และอยากได้ชุดตรวจที่มีราคาถูกกว่าชุดตรวจ ATK จากน้ำลายซึ่งราคาสูงมาก เราเห็นตัว Lepu มาก่อนจากเยอรมัน ของเขาใช้ตัวนี้ในการตรวจให้กับครูและนักเรียนก่อนเปิดโรงเรียน และตัวนี้ก็เหมาะกับเด็กด้วย เราเลยสนใจก็จึงเข้าไปคุยกับทางออสท์แลนด์ เพื่อเป็นตัวแทนขายในประเทศไทยให้กับหน่วยงานรัฐ กลุ่มงานราชการ และกลุ่มท่องเที่ยว เราเตรียมข้อมูลพวกนี้อยู่ ทั้งคุณภาพ มาตรฐาน และอื่นๆมาชี้แจงในเย็นวันนี้"นางศิริญา กล่าว
บริษัทยืนยันว่าไม่ได้มีความเกี่ยวข้องและเป็นนอมินีให้กับ ออสท์แลนด์ แคปปิตอล แม้ยอมรับว่ารู้จักกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับ ออสท์แลนด์ แคปปิตอล คือ นางสาวรังสินี หวังมั่น และ นายยอร์ค ปีเตอร์ คัลท์ ที่เป็นผู้เดินเรื่องขอนำเข้าชุดตรวจ ATK ยี่ห้อ Lepu จากองค์การอาหารและยา (อย.) แต่บริษัทไม่ทราบรายละเอียดภายในของออสท์แลนด์ แคปปิตอล
นางศิริญา กล่าวว่า บริษัทมีจุดประสงค์เพียงต้องการเป็นผู้จัดจำหน่ายชุดตวจ ATK ยี่ห้อ Lepu เท่านั้น จากความเชื่อมั่นในเรื่องของคุณภาพของ Lepu ซึ่งเป็นบริษัทในจีนที่ทำเกี่ยวกับการแพทย์มานานกว่า 20 ปี และเป็นบริษัทที่ผลิต ATK ออกมาจำหน่ายและมีการใช้อย่างแพร่หลายมากที่สุดรายหนึ่ง
"เราไม่ได้สนใจว่าบริษัทไหนจะเป็นผู้นำเข้ามา และเราก็ไม่รู้ว่าออสท์แลนด์ภายในเขาจะมีกรรมการมีการดำเนินงานอย่างไร และไม่ทราบว่าเขาไม่ได้ดำเนินงานมา 3 ปีแล้ว เรามองเพียงแค่ในเรื่องของชุดตรวจที่เขานำเข้ามาเป็นยี่ห้อที่เรามั่นใจและเชื่อมั่นในตัวของบริษัท เราไปดูที่โรงงานของ Lepu ซึ่งมีมาตรฐาน ทำการแพทย์มา 20 ปี มีนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับลิ้นหัวใจ และเรามั่นใจว่าเขาเป็นเข้าที่ผลิตแอนติเจนออกมาจำหน่ายในตลาดใหญ่ที่สุดรายหนึ่ง ทำให้เราตัดสินใจเข้าไปประมูลเป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย"นางศิริญา กล่าว