นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในไตรมาส 2/64 มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,442.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยบริษัทมีการบริหารจัดการเส้นทางบินภายในประเทศและความถี่ให้สอดคล้องกับข้อจำกัดในการเดินทางและปริมาณความต้องการเดินทางของผู้โดยสาร ได้แก่ เส้นทางกรุงเทพฯ - สมุย, กรุงเทพฯ - ภูเก็ต, กรุงเทพฯ ? เชียงใหม่, กรุงเทพฯ - ลำปาง, กรุงเทพฯ ? สุโขทัย, กรุงเทพฯ - ตราด และหาดใหญ่ - ภูเก็ต ซึ่งมีจำนวนเที่ยวบินเพิ่มขึ้น 102.4% และมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 229.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
เนื่องจากในไตรมาส 2/63 เป็นช่วงที่แต่ละประเทศทั่วโลก ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ประกอบกับในไตรมาส 2/64 ค่าใช้จ่ายรวมของบริษัทฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 47.7% อยู่ที่ 1,936.6 ล้านบาท ทำให้มีผลขาดทุน ส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัท เท่ากับ 686 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุน 2,974.8 ล้านบาท
สำหรับผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกของปี 64 บริษัทมีรายได้รวม 2,800.2 ล้านบาท ลดลง 61.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากรายได้ของธุรกิจสายการบินลดลง 88.8%, ธุรกิจสนามบินลดลง 85.3% และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสนามบินและกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ลดลง 39.5% ทำให้บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 1,454.4 ล้านบาท เป็นผลขาดทุนส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ เท่ากับ 1,431.6 ล้านบาท และเป็นผลขาดทุนต่อหุ้นเท่ากับ 0.69 บาท
สำหรับมาตรการเฝ้าระวังและเตรียมการป้องกันการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ในส่วนของสายการบิน และสนามบินของบริษัทฯ ทั้ง 3 แห่ง (สมุย สุโขทัย ตราด) ได้ยกระดับมาตรการโดยงดการให้บริการอาหารและเครื่องดื่มบนเที่ยวบิน และปิดให้บริการห้องรับรองผู้โดยสารเป็นการชั่วคราว รวมทั้งปฏิบัติตามข้อกำหนดของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยอย่างเคร่งครัด โดยคำนึงถึงความปลอดภัยในสุขอนามัยสูงสุด เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้โดยสาร
ส่วนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสนามบิน และกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติให้เสนอขอยกเลิกสัญญาเช่าระยะยาวและสัญญาที่เกี่ยวข้องระหว่างบริษัทฯ กับกองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์สนามบินสมุย ซึ่งคงเหลือระยะเวลาเช่าตามสัญญาประมาณ 15.5 ปี เพื่อให้บริษัทสามารถดำเนินกิจการสนามบินสมุยต่อไป โดยปราศจากภาระหน้าที่ต่อกองทุนรวมตามเงื่อนไขที่กำหนด ทำให้เกิดความคล่องตัวในการประกอบธุรกิจของบริษัทฯ
นอกจากนี้ บริษัท ครัวการบินกรุงเทพ จำกัด (BAC), บริษัท บริการภาคพื้นการบินกรุงเทพเวิลด์ไวด์ไฟล์ทเซอร์วิส จำกัด (BFS Ground) และบริษัท ดับบลิวเอฟเอสพีจี คาร์โก้ จำกัด (WFS-PG Cargo) ได้รับการปรับลดค่าเช่าพื้นที่ ในอัตรา 50% และได้รับการยกเว้นการชำระผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ จากมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในสนามบิน
สำหรับธุรกิจการลงทุน ในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) ได้นำส่งแผนแม่บทสนามบินฉบับสมบูรณ์ให้แก่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยเพื่อพิจารณา และได้ว่าจ้างที่ปรึกษาซึ่งเป็นบริษัทออกแบบที่มีชื่อเสียงระดับโลก และมีประสบการณ์ด้านการออกแบบสนามบินขนาดใหญ่ เพื่อออกแบบร่างขั้นตอนของอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่