นายกิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์รายย่อย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้มีโอกาสที่จะรีบาวด์ขึ้นได้ หลังแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติเข้ามา 2 วัน แม้จะยังไม่มากก็ตาม และผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 2/64 ของบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ก็ออกมาในเชิงบวก รวมถึงจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศได้ลดลง 4 วันติดต่อกันแล้ว แม้จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม แต่ก็ทำให้เป็น Sentiment บวกให้กับตลาดฯ ส่งผลให้หุ้นจำพวก Domestic play น่าจะกลับมาปรับตัวขึ้นได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นหุ้นในกลุ่มโรงแรม, ค้าปลีก, ร้านอาหาร, ศูนย์การค้า, ท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งรับแรงหนุนจากรัฐฯผ่อนปรนให้เปิดกิจการในห้างฯได้
ส่วนตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียเช้านี้เคลื่อนไหวทั้งในแดนบวก-ลบ โดยปัจจจัยต่างประเทศได้ให้ความกังวลตัวเลขเศรษฐกิจของจีนที่ออกมาชะลอตัว จึงวิตก Demand ทั่วโลกจะชะลอตัวตาม นอกจากนี้ ตลาดฯก็ต่างรอดูการประชุมประจำปีของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่แจ็คสันโฮล ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 26-28 ส.ค.นี้ แต่ก่อนจะถึงก็ให้ติดตามคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) จะเปิดเผยรายงานการประชุมวันที่ 27-28 ก.ค. ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 18 ส.ค.ก่อน ซึ่งต่างรอดูการส่งสัญญาณจากเฟดว่าจะมีการปรับลดการทำ QE เมื่อไร
นอกจากนี้ เงินดออลาร์สหรัฐฯได้แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond yield) สหรัฐฯปรับตัวลง ส่งผลให้เกิดแรงขายหุ้นในกลุ่มแบงก์ และกลุ่มพลังงานในสหรัฐฯ ซึ่งกลุ่มพลังงานก็ได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงด้วย
พร้อมให้แนวรับ 1,520 จุด ส่วนแนวต้าน 1,545 จุด
ประเด็นพิจารณาการลงทุน
- ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (16 ส.ค.) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 35,625.40 จุด เพิ่มขึ้น 110.02 จุด (+ 0.31%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,479.71 จุด เพิ่มขึ้น 11.71 จุด (+0.26%), ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,793.76 จุด ลดลง 29.14 จุด (-0.20%)
- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน ลดลง 5.23 จุด, ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 143.75 จุด และดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง ลดลง 43.56 จุด
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (16 ส.ค.) 1,531.24 จุด เพิ่มขึ้น 2.92 จุด (+0.19%)
- นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 1,676.04 ล้านบาท เมื่อวันที่ 16 ส.ค.64.
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ก.ย.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (16 ส.ค.) ปิด 67.29 ดอลลาร์/บาร์เรล ลดลง 1.15 ดอลลาร์ หรือ 1.7%
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (16 ส.ค.) อยู่ที่ 2.68 ดอลลาร์/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 33.43 แข็งค่าจากท้ายตลาดวานนี้ ตลาดจับตารายงานประชุมเฟดสัปดาห์นี้
- ผู้ว่าแบงก์ชาติ ประเมินโควิดรุนแรงยืดเยื้อเกินคาด ฉุดจีดีพีไทยทรุดยาว 3 ปี แนะทางออกกู้เพิ่ม 1 ล้านล้านบาท อัดเงินหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจ สกัดธุรกิจตายทั้งเป็น ดึงจีดีพีกลับมาโตใกล้เคียงศักยภาพ สศช.หั่นจีดีพีโตแค่ 0.7% ห่วงโควิดระบาดหนัก กสิกรไทยหั่นจีดีพีติดลบ 0.5%
- เจ้าสัวธนินท์ ส่งสัญญาณเตือน เศรษฐกิจไทยเสี่ยง "ถดถอย" หากรัฐไร้มาตรการรองรับการฟื้นตัว มองยาวหลังวิกฤติ "ธุรกิจทุกขนาด" เสี่ยงล้ม แนะกระตุ้น 4 ด้าน "ปากท้อง-ป้องกัน-รักษา-อนาคต" ปัด "ซีพี" ไม่เกี่ยวสั่งซื้อซิโนแวค หนุนรัฐบาล นำเข้าวัคซีนหลายยี่ห้อ ระบุ "ฉีดเร็วมีโอกาสฟื้นเร็ว"
- แบงก์เผย ลูกค้าโยกเงินฝากเข้ากองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น 1 ปี รับผลตอบแทนดี-ลดความเสี่ยงคุ้มครองเงินฝากเหลือ 1 ล้าน "กรุงศรี เอ็กซ์คลูซีฟ" ขาย "กรุงศรีโกลบอลฟิกซ์อินคัม 1Y2" มูลค่า 1 พันล้าน หมดภายใน 2 วัน เตรียมขาย เพิ่ม "กรุงไทย" แนะจัดพอร์ตหากรับความเสี่ยงได้ต่ำเน้นตราสารหนี้ 60%
- สนพ.ประเมินการใช้พลังงานขั้นต้นของไทยปี 2564 ทั้งปีโตแค่ 0.1% ผลกระทบโควิด-19 ยังแรง ชี้การใช้พลังงานอื่นเพิ่มขึ้นยกเว้นน้ำมันลดลง 5.5% ขณะที่ครึ่งปีแรกการใช้พลังงานขั้นต้นเพิ่มขึ้น 2.8%
- นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2 ปี 64 และแนวโน้มทั้งปี 64 ว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย เพราะยังมีการขยายตัวต่อเนื่องเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส แต่เริ่มมีทิศทางการขยายตัวลดลงจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 รุนแรงเป็นวงกว้างมาตั้งแต่เดือน เม.ย.64 และแม้ว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 จะขยายตัวถึง 7.5% แต่ในช่วงครึ่งปีหลังยังมีความเสี่ยงเรื่องการระบาดของโควิด สศช. จึงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจลงจากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 1.5-2.5% เหลือ 0.7-1.2% หรือขยายตัวเพียง 1% โดยคนไทยมีรายได้ต่อหัวลดลงจากคนละ 233,190 บาทต่อปี เหลือ 232,024 บาทต่อปี
*หุ้นเด่นวันนี้
- PJW-W1 (ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญบมจ.ปัญจวัฒนาพลาสติก(PJW)) เทรดวันนี้วันแรก มีจำนวน 191,357,566 หน่วย อัตราการใช้สิทธิ 1 ใบสำคัญแสดงสิทธิ : 1 หุ้นสามัญใหม่ ราคาการใช้สิทธิ 3.00 บาทต่อหุ้น อายุใบสำคัญแสดงสิทธิ 3 ปี นับจากวันที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิ (19 กรกฎาคม 2564) ราคาใบสำคัญแสดงสิทธิ 0.00 บาทต่อหน่วย กำหนดวันใช้สิทธิครั้งแรก 18 ก.ค. 2565 วันใช้สิทธิครั้งสุดท้าย 18 ก.ค. 2567
- IVL (กรุงศรี) "ซื้อ"เป้า 60 บาท คลายกังวลเรื่องเพิ่มทุน หลังจากบริษัทปิดดีลซื้อกิจการในบราซิลมูลค่า 1.3 พันล้านเหรียญโดยจะใช้เงินจากกระแสเงินสดภายในและจากการกู้ยืม โดยดีลนี้คาดว่าจะเพิ่มกำไรให้กับ IVL ประมาณ 10%ตั้งแต่ปีหน้า
- AH (คิงส์ฟอร์ด) "ซื้อ"เป้า 28.70 บาท งวด Q2/64 มีกำไรสุทธิ 250 ล้านบาท พลิกจาก Q2/63 ที่ขาดทุนสุทธิ 631 ล้านบาท แต่ลดลง -39%QoQ โดยรายได้จากการขายและบริการ +140%YoY, -14%QoQ อยู่ที่ 4.83 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น YoY จากฐานที่ต่ำในปีก่อนที่มีการ Lockdown ประเทศ แต่ลดลง QoQ ในทิศทางเดียวกับอุตสาหกรรมของไทย รวมถึงธุรกิจในโปรตุเกสประสบปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนชิป อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 11.6% จากงวด Q1/64 ที่ 12.1% ตามอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ลดลง แต่ถือว่ายังอยู่ในระดับสูงจากการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ แนวโน้ม H2/64 คาดผลประกอบการยังสามารถเติบโตต่อเนื่อง YoY จากอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ทยอยฟื้นตัวและยอดการส่งออกที่แข็งแกร่ง โดยในปี 64 คาดว่ายอดขายเติบโตได้ดีกว่าอุตสาหกรรมที่ +26%YoY อยู่ที่ 2.17 หมื่นล้านบาท และคาดกำไรปกติปี 64-65 ที่ 1 พันล้านบาท +597%YoY และ 1.2 พันล้านบาท +21%YoY